“โอมิครอน” ระบาด อยู่ร่วมให้ได้

“โอมิครอน” ระบาด อยู่ร่วมให้ได้

แม้ตอนนี้ไทยต้องเผชิญหน้ากับการระบาดของโควิด "โอมิครอน" แต่ถ้าหากเรามั่นใจว่าระบบสาธารณสุข เตียง ยา มีมากพอ และเรียนรู้บทเรียนที่ผ่านมาแล้ว จงกล้าที่จะเดินหน้าในแนวทาง “อยู่ร่วมกับโควิดอย่างไรให้มีความสุข” 

กระทรวงสาธารณสุข ประเมินแล้วว่าหลังปีใหม่ โควิดสายพันธุ์ "โอมิครอน" จะระบาดหนัก โดยคาดการณ์กรณีรุนแรงที่สุดว่าผู้ติดเชื้อวันละ 30,000 ราย เสียชีวิต 170-180 คนต่อวัน ใช้เวลาราว 3-4 เดือนจะควบคุมโรคได้ ส่วนดีที่สุด มีผู้ติดเชื้อราว 10,000 รายต่อวันเสียชีวิต 60-70 คนต่อวัน โดยจะใช้เวลาในการควบคุมโรคราว 1-2 เดือน

โดยเฉพาะยิ่งในกรณีที่ประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ ไม่สวมหน้ากาก ไม่มีระยะห่าง อัตราระบาดก็จะกว้างเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นเช่นเดียวกับสถานการณ์โควิดทั่วโลก ตอนนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐ และประเทศแถบยุโรป

 

 

ทั้งนี้ อาการของคนไข้สายพันธุ์โอมิครอน 41 รายที่ดูแลในโรงพยาบาลพบว่า มีอาการไอมากที่สุด 54% รองมาได้แก่ เจ็บคอ และไข้ อาการได้กลิ่นลดลงพบเพียง 1 ราย หรือ 2% 

นี่คือสถานการณ์ที่เราจะต้องเผชิญหลังจากนี้ ซึ่งประชาชนควรรับรู้ข้อมูล แต่อย่าตระหนกจนกระทบกิจกรรมเศรษฐกิจ เพราะการแพร่ระบาดระดับ 3 หมื่นคนต่อวันเราก็ผ่านมาแล้ว มีบทเรียนมากพอที่จะรับมือ

ไม่ใช่การเอาชนะโควิด เพราะอย่างที่เราทราบ ไวรัส เป็นธรรมชาติ “มนุษย์ไม่สามารถเอาชนะธรรมชาติได้ หัวใจสำคัญคือเราจะอยู่กับธรรมชาติอย่างไรให้มีความสุข”

กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ควรดำเนินการต่อ โดยมีมาตรการป้องกันและรักษาที่มีประสิทธิภาพ ถอดบทเรียนช่วง 2 ปีที่เผชิญความยากลำบากหาทางรับมือ ทั้งวัคซีนรุ่นใหม่ๆ ยาใหม่ๆ ที่รับมือไวรัสกลายพันธุ์ หรือระบบสาธารณสุข เตียง การส่งต่อและฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ 

 

น่ายินดีระดับหนึ่งที่สาธารณสุขขณะนี้ มีเตียงทุกระดับรวมราว 1.7 แสนเตียง อัตราการครองเตียงปัจจุบันอยู่ที่ 13.7% ว่างอีก 153,767 เตียง แยกเป็น

  • เตียงระดับ 3 สีแดง ทั้งหมดราว 5,000 เตียง อัตราครองเตียงปัจจุบัน 31.6%
  • เตียงระดับ 2 สีเหลือง ทั้งหมดราว 60,000 เตียง อัตราครองเตียงปัจจุบัน 25.6%
  • เตียงระดับ 1 สีเขียว ทั้งหมดราว 1.12 แสนเตียง อัตราครองเตียงปัจจุบัน 6.4% ซึ่งเตียงสีเขียวสามารถเพิ่มได้ในระยะอันสั้น

ส่วนการสำรองยา ณ วันที่ 25 ธ.ค. 2564 มียาฟาวิพิราเวียร์สำรองประมาณกว่า 15 ล้านเม็ด อัตราใช้ปัจจุบันอยู่ที่ราว 1.8 แสนเม็ดต่อสัปดาห์ ซึ่งประมาณการใช้ได้อย่างน้อย 2 เดือน แต่หากมีสถานการณ์ที่ต้องการยา องค์การเภสัชกรรมหรือ อภ. มีการสำรองวัตถุดิบและสามารถผลิตยาได้อีก 60 ล้านเม็ด นอกจากนี้ มียาเรมเดซิเวียร์สำรองไว้อีกกว่า 44,000 ไวอัล

ในเชิงนโยบายเศรษฐกิจ รัฐบาลต้องใช้ความกล้าพอสมควร เพราะมาถึงตอนนี้ อาจจะต้องให้น้ำหนักด้านเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราการฉีดวัคซีนทะลุ 100 ล้านโดสไปแล้ว และควรเดินหน้าฉีดเข็ม 3 อย่างต่อเนื่อง เพื่อเกราะป้องกันในกิจกรรมที่เปิดกว้างขึ้น พร้อมๆ กับความเสี่ยงการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากเรามั่นใจว่า ระบบสาธารณสุข เตียง ยา มีมากพอ และเรียนรู้บทเรียนที่ผ่านมาแล้ว จงกล้าที่จะเดินหน้าในแนวทาง “อยู่ร่วมกับโควิดอย่างไรให้มีความสุข”