สธ.เผย พบ "โอมิครอน" ใน 33 จังหวัด รวม 740 ราย
สธ. เผย พบผู้ป่วย "โอมิครอน" ในไทย 740 ราย เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 489 ราย ติดเชื้อในประเทศ 251 ราย พบอย่างน้อย 1 ราย ใน 33 จังหวัด
วันนี้ (29 ธ.ค. 64) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวในการแถลงข่าว อัพเดทสายพันธุ์โอมิครอน โดยระบุว่า ขณะนี้ค่อนข้างชัดเจนว่าโอมิครอนน่าจะแพร่เร็ว แต่ความรุนแรงอาจจะไม่มากนัก ต้องเป็นเรื่องที่ติดตามสถานการณ์ ขณะนี้ มีข้อมูลรายงานอย่างน้อย 108 ประเทศ และในสหรัฐอเมริกา พบว่าตรวจพบโอมิครอนทุกรัฐ และการติดเชื้อทะยานไป 2 แสนราย ขณะที่สายพันธุ์ระบาดหลักทั่วโลกยังเป็น BA.1 ราว 4 หมื่นกว่าราย ยังเป็น BA.1 ส่วนที่กลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อยมีเล็กน้อย BA.2 ราว 45 ราย และ BA.3 มี 14 ราย
- กทม. พบโอมิครอนมากที่สุด
สถานการณ์ในประเทศไทยตั้งแต่ 1 พ.ย.64 ตั้งแต่เปิดให้มีคนเดินทางเข้าประเทศ มีการตรวจสายพันธุ์มาตลอด ตรวจไปราว 8,000 ตัวอย่าง วันนี้พบโอมิครอนสะสมตั้งแต่รายแรกที่พบในประเทศไทย 740 ราย เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 489 ราย และ ติดเชื้อในประเทศ 251 ราย เทียบกับภาพรวมราว 8-9% โดยพบในเกือบทุกเขต ยกเว้นเขตสุขภาพที่ 2 ประกอบด้วย 5 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ สุโขทัย ตาก
เขตที่พบมากที่สุด คือ กทม. เขต 13 เพราะตรวจในคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และคนเหล่านี้มักจะลงเครื่องที่สุวรรณภูมิ ถูกกักตัว หรือรอผล Test & Go รองลงมา คือ เขตสุขภาพที่ 7 แถวขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ที่ทราบว่ามีคลัสเตอร์ใหญ่เกิดขึ้น อีกเขตที่เริ่มพบคือ เขต 11 ภาคใต้ ฝั่งอันดามัน ภูเก็ต สมุย
- ไทยส่วนใหญ่ยังเป็น เดลตา
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนโอมิครอนเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็ว จากการตรวจรวมทุกกลุ่มทั้งเดินทางเข้าประเทศและในประเทศพบโอมิครอน 66.5% แต่ไม่ได้แปลว่าในไทยวันนี้มีโอมิครอน 66.5% เพราะตัวอย่างสุ่มตรวจ ในทางสถิติ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่หมายตา เช่น กลุ่มที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ทั่วโลกมีโอมิครอนเยอะ ก็ต้องตรวจพบสัดส่วนการติดเชื้อโอมิครอนเยอะมากตามไปด้วย หรือกลุ่มที่มีประวัติสัมผัสผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ เช่น คลัสเตอร์กาฬสินธุ์ ตัวอย่างเป็นร้อยซึ่งมีประวัติสัมผัส เพราะฉะนั้น โอกาสที่จะเป็นโอมิครอนค่อนข้างสูง
"หากมองจริงๆ ใน 2 วันที่ผ่านมา มีการตรวจพบการติดเชื้อโอมิครอน 27-28 ธ.ค.64 ราว 200 กว่าราย ในขณะที่เรามีผู้ป่วยภาพรวมของประเทศ ภาพรวมสองวันราว 5,000 ราย ดังนั้น คิดเป็นโอมิครอน 5-6% ยังย้ำว่าในพื้นที่ไทยส่วนใหญ่ยังเป็นเดลตา ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกัน ”
ขณะที่ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ พบโอมิครอน 74.7% ชัดเจนว่ากลุ่มนี้ที่อนุญาตให้เข้ามา ทั้ง Test & Go แซนด์บ็อกซ์ หรือกักตัว หมายความว่าเยอะขึ้น ซึ่งต้องจับตากลุ่มนี้เป็นพิเศษ ติดตามตัว แม้ว่าจะผลเป็นลบในวันที่เข้ามาถึงประเทศไทย มีกำหนดว่าต้องตรวจซ้ำวันที่ 5-6 เพื่อให้ได้ข้อมูลมากขึ้น
- พบโอมิครอนใน 33 จังหวัด
ขณะนี้ มี 33 จังหวัด ตรวจพบโอมิครอนอย่างน้อย 1 ราย มีในทุกเขตสุขภาพยกเว้นเขต 2 เขตเดียว ส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และมีผู้สัมผัสที่เกิดขึ้นในประเทศอยู่บ้าน
“โดยส่วนใหญ่ผู้ที่ติดเชื้อในประเทศ จะเกี่ยวโยงกับผู้ที่ตรวจพบเชื้อก่อนหน้า โดยเฉพาะคลัสเตอร์ใหญ่กาฬสินธุ์ มีจำนวนมากกว่า 200 ราย และข้ามจังหวัด เช่น กรณี 4 รายที่ลำพูน ก็มาจากคลัสเตอร์กาฬสินธุ์ รวมถึงจังหวัดใกล้เคียงกาฬสินธุ์ ต้องควบคุมให้ได้”
ในพื้นที่อื่นๆ จะเห็นว่ามีผู้ติดเชื้อจากผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศประปราย ที่ภูเก็ต กระบี่ เป็นพวกที่มีโอกาสสัมผัสกับคนติดเชื้อโอมิครอน ไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศ โดยมีจำนวน 19 จังหวัด เป็นการติดเชื้อในประเทศไทย แต่ก็ยังผูกโยงกับคนที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ
สำหรับรายชื่อ 33 จังหวัด พบ "โอมิครอน" ระบาดล่าสุดในรอบ 11 วัน มีดังนี้
เชียงราย 1 คน
เชียงใหม่ 5 คน
ลำปาง 1 คน
ลำพูน 4 คน
พิจิตร 1 คน
นนทบุรี 22 คน
พระนครศรีอยุธยา 2 คน
นครปฐม 1 คน
ประจวบคีรีขันธ์ 3 คน
ชลบุรี 18 คน
สมุทรปราการ 37 คน
สระแก้ว 1 คน
กาฬสินธุ์ 121 คน
ขอนแก่น 12 คน
มหาสารคาม 42 คน
ร้อยเอ็ด 50 คน
เลย 2 คน
หนองคาย 4 คน
หนองบัวลำภู 1 คน
อุดรธานี 3 คน
ชัยภูมิ 1 คน
นครราชสีมา 2 คน
บุรีรัมย์ 1 คน
สุรินทร์ 3 คน
มุกดาหาร 1 คน
ยโสธร 1 คน
อุบลราชธานี 4 คน
กระบี่ 3 คน
ภูเก็ต 92 คน
สุราษฎร์ธานี 19 คน
ปัตตานี 4 คน
สงขลา 1 คน
กรุงเทพมหานคร 277 คน
- หน้ากากผ้ายังช่วยป้องกันได้
จากข้อคำถามที่ว่า หน้ากากผ้าสามารถป้องกันโอมิครอนได้หรือไม่ นพ.ศุภกิจ อธิบายว่า ต่อให้ใส่ N95 หากใส่ไม่ถูก ก็ไม่ได้กันได้ 100% ขึ้นกับการใส่ วิธีใส่ และการใส่ N95 ใส่ทั้งวันไม่ได้ ขณะที่รองลงมาคือ หน้ากากอนามัย หากคุณภาพดีจะป้องกันได้ระดับหนึ่ง และรองลงมาอีกคือหน้ากากผ้า ซึ่งพิสูจน์แล้วว่า โอมิครอน ไม่ได้ตัวเล็กลง และยังมาจากสารคัดหลั่งเหมือนเดิมประมาณ 5-6 ไมครอนขึ้นไป ดังนั้น มันไม่ได้ต่างจากเชื้อเดิมที่มีอยู่ การที่หน้ากากสามารถกันเชื้ออัลฟา เดลตา เบต้าได้ ก็สามารถกันโอมิครอนได้เช่นกัน ต้องตั้งสติให้ดี การที่แพร่เร็ว มันมีปัจจัยอื่นๆ มากพอสมควร ไม่ใช่เพราะว่าใส่หน้ากากผ้าแล้วกันไม่ได้ ต้องทำความเข้าใจ
และที่สำคัญคือ นอกจากคุณสมบัติของหน้ากาก การใส่ให้ถูกเป็นเรื่องสำคัญ หากใส่แล้วหายใจปลอดโปร่งโล่งสบาย แปลว่ามีรูรั่วด้านข้างมากมาย โอกาสป้องกันก็ลดลงไปอีก เพราะฉะนั้น โดยหลักการ หน้ากากผ้าที่เราแนะนำ ควรเป็นผ้าที่มีคุณสมบัติดี เช่น มัสลิน และมีจำนวนชั้นพอสมควรในการป้องกัน และใส่ให้ถูก เป็นเรื่องที่ไม่ควรตกใจและทำให้เกิดการสับสนวุ่นวาย หน้ากากผ้ายืนยันว่ายังช่วยป้องกันความเสี่ยงได้
- สุ่มตรวจสายพันธุ์อยู่เสมอ
ขณะเดียวกัน การเจอ "โอมิครอน" เพิ่มขึ้น มีข้อคำถามว่าจะมีการสุ่มตรวจสายพันธุ์อื่นๆ ด้วยหรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ต้องเรียนว่าวันนี้ เราตรวจไม่ได้ตรวจเฉพาะโอมิครอน เรามองหาทุกสายพันธุ์ที่มองหาทุกสายพันธุ์ที่เคยมีในประเทศไทย อย่างที่เรียนว่า เราสุ่มตรวจไม่ใช่เฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงคนที่อยู่ชายแดน คนไข้อาการหนัก คลัสเตอร์แปลกๆ ยังสุ่มตรวจตลอดเวลา และจำนวนหนึ่งมีการถอดรหัสพันธุกรรม และส่งข้อมูลทั้งหมดไป GISAID ประเด็นคือ การแพร่ระบาดใดๆ ก็ตาม หากมีจำนวนการแพร่เชื้อค่อนข้างมากและเร็ว โอกาสกลายพันธุ์สูงตามไปด้วย
"ตอนที่เดลตาระบาดในไทย ติดเชื้อวันละ 2-3 หมื่นราย เราก็ห่วงว่าอาจจะมีสายพันธุ์ย่อย และทั่วโลกก็พบว่า ตอนนี้มีสายพันธุ์ย่อยของเดลตาไปถึง AY.85 แล้ว เพราะฉะนั้น ทั่วโลกต้องช่วยกัน ยืนยันว่าแม้จะวันหยุด ได้สั่งการให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทุกแห่ง ไม่หยุดตรวจสายพันธุ์ จะดำเนินการอย่างเข้มข้น เพียงแต่ว่า วันนี้ ตัวเลขของโอมิครอนเยอะขึ้น เป็นธรรมชาติของการแพร่เชื้อ ทั่วโลกก็พบแบบนี้มากขึ้น เราต้องสุ่มตรวจต่อไปและถอดรหัสต่อไป หากมีข้อมูลเพิ่มเติมจะมาเรียนพี่น้องสื่อมวลชนทราบ" อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์