"ซูเปอร์สเปรดเดอร์" กาฬสินธุ์ ลาม 11 จ. คลัสเตอร์ นศ.กทม. ติดเชื้อ 52 ราย
กรมควบคุมโรค เผย คลัสเตอร์ "โอมิครอน" กาฬสินธุ์ ถือเป็น "ซูเปอร์สเปรดเดอร์" กระจายเชื้อลาม 11 อำเภอ 248 ราย กระจายอีก 11 จังหวัด ขณะที่ คลัสเตอร์นักศึกษา กทม. พบผู้ติดเชื้อ 52 ราย เตือนเลี่ยงสถานที่เสี่ยง แออัด หลังตรวจพบเชื้อในเครื่องปรับอากาศ
วันนี้ (29 ธ.ค. 64) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดี กรมควบคุมโรค กล่าวถึง การสอบสวนคลัสเตอร์สายพันธุ์ "โอมิครอน" จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งมีการแพร่กระจายไปยัง 11 อำเภอ ติดเชื้อรวมกว่า 248 ราย นอกจากนี้ ยังลามไปยัง 11 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี มหาสารคาม ขอนแก่น ร้อยเอ็ด หนองบัวลำภู สกลนคร รวมทั้งลำพูน อุบลราชธานี พิษณุโลก ลำปาง เพชรบูรณ์ ถือว่าเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่เรียกว่า ซูเปอร์สเปรดเดอร์ เพราะ 1-2 สามารถกระจายได้หลายร้อยเป็นสายพันธุ์โอมิครอน
"ตอนนี้สายพันธุ์โอมิครอนที่พบในบ้านเรา 2 ใน 3 เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ อีกประมาณ 1 ใน 3 เป็นผู้สัมผัสผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ในสถานการณ์ที่ระบบสาธารณสุขลงไปสอบสวนควบคุมโรคร่วมกับหลายหน่วยงาน ยังทำให้เราสามารถตรวจจับการระบาด และควบคุมการระบาดได้"
โดยเคสนี้ผู้ป่วยโอมิครอน 2 ราย ไปที่ จ.กาฬสินธุ์ และไปที่สถานบันเทิง โดยจุดที่เป็นปัญหาคือร้านอาหาร ขณะนี้ ทางรัฐบาลโดย ศบค. ยังไม่อนุญาตให้เปิดผับบาร์ คาราโอเกะ เนื่องจากเป็นจุดเสี่ยงสูงในการแพร่กระจายเชื้อ เป็นสถานที่แออัด คนอยู่รวมกันหนาแน่น ถอดหน้ากากรับประทานอาหาร ร้องเพลงในเวลานาน เป็นจุดเสี่ยงในการแพร่เชื้อ
แต่หลายร้านเปลี่ยนจากบาร์เป็นร้านอาหาร โดยเราอนุญาตให้ร้านอาหาร สามารถขายอาหาร ขายแอลกอฮอล์ได้ จึงมีผับบาร์หลายร้านแปลงสถานะจากผับบาร์เป็นร้านอาหาร แต่ระบบระบายอากาศยังเหมือนเดิม เพราะฉะนั้น ความเสี่ยงลดลงไม่มาก ยังสูงเหมือนเดิม
ยกตัวอย่างรายที่ติดเชื้อ กาฬสินธุ์ ไปร้านอาหารหรือบาร์ 2 ที่ ได้แก่ BAR S และ BAR K โดย BAR S ไม่เกิดการแพร่กระจายเชื้อ แต่ “BAR K” ทำให้เกิดซูเปอร์สเปรดเดอร์กระจายภาคอีสานและภาคเหนือ
จุดแตกต่างสองร้านนี้ คือ "BAR S" ที่ไม่พบผู้ติดเชื้อ เนื่องจากในร้านมีโต๊ะบริการอยู่ 10 โต๊ะ ลูกค้าสูงสุด 40 คนไม่มีเก้าอี้เสริม พนักงาน 9 คน ความจุลูกค้าราว 10% คนใช้บริการไม่เยอะ เปิด 3 ชั่วโมง จัดอุปกรณ์เครื่องดื่มเฉพาะบุคคล ไม่มีกิจกรรมเสริมการขาย ไม่มีดนตรี ดื่มแอลกอฮอล์ถึง 23.00 น. พนักงานฉีดวัคซีนทุกคน ตรวจ ATK ทุกคน ทุกสัปดาห์ มีความเข้มงวด ขณะที่ ลูกค้ามีคัดกรองอุณหภูมิ ช่วงที่ไม่ได้รับประทานอาหารให้สวมหน้ากากอนามัย และเจ้าของกำกับเอง เพราะหากมีการติดเชื้อก็จะเดือดร้อนทั้งเขาและชุมชน
ต่างจาก "BAR K" มี 15 โต๊ะ ลูกค้าสูงสุด 80 คน มีการเสริมโต๊ะ พนักงาน 9 คน นักดนตรี 6 คน ลูกค้าราว 90% และอยู่กันนาน เพราะมีดนตรี สิ่งที่ตามมาคือการดื่มแอลกอฮอล์ มีการส่งเสริมการขาย เชียร์ลูกค้า ดื่มได้ถึงเที่ยงคืน ทำให้คนอยู่ในร้านนานขึ้น เป็นความเสี่ยง ระบบระบายอากาศไม่ดี อีกประการหนึ่ง คือ ลูกค้าและพนักงาน พนักงานทุกคนฉีดวัคซีน แต่ไม่ได้ตรวจ ATK และไม่มีการคัดกรอง Thai Save Thai พนักงานรับประทานอาหารร่วมกัน ที่พักอยู่ในมุมอับ ระบายอากาศไม่ดี เวลาป่วยไม่ได้หยุดงาน ข้อมูลจากการสอบสวนเบื้องต้น มีความเสี่ยงทั้งสิ่งแวดล้อมและพนักงาน ขณะที่ ลูกค้ามีการคัดกรองอุณหภูมิ แต่ไม่ได้คัดกรองความเสี่ยง เว้นระยะห่างไม่ดี
“เป็นข้อมูลเพื่อเป็นอุทาหรณ์ หากในปีใหม่เชื่อว่าหลายท่านมีกิจกรรมพบปะสังสรรค์กัน หากทราบว่าตรงไหนเป็นจุดเสี่ยงก็ไม่ควรจะเข้าไป ซึ่งสังเกตได้ง่ายๆ ที่ๆ คนอยู่กันแออัด ระบายอากาศไม่ดี คนส่วนใหญ่ไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย จะทำให้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น”
- คลัสเตอร์นักศึกษาติดเชื้อ 52 ราย
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อไปว่า อีกหนึ่งตัวอย่าง คลัสเตอร์ นักศึกษามหาวิทยาลัยในกทม. เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. พบผู้ติดเชื้อ 52 ราย มีประวัติรับประทานอาหาร ดื่มสุราร่วมกันในร้านอาหารคล้ายผับช่วง 8-14 ธ.ค. ความเสี่ยงคือ เป็นห้องปรับอากาศ อากาศถ่ายเทไม่ดี ที่ยกตัวอย่างเพราะหลังจากที่เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ ตรวจหาเชื้อในสิ่งแวดล้อม พบเชื้อในเครื่องปรับอากาศ แสดงให้เห็นว่าเครื่องปรับอากาศเป็นจุดสำคัญ
เพราะระบบระบายอากาศไม่ดี ช่วงทานอาหาร ดื่ม ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย อย่างที่เรียนว่าควรใช้เวลาในการดื่มและรับประทานอาหารไม่นานเกินไป ช่วงที่ไม่ได้รับประทานก็ใส่หน้ากากอนามัยให้นานที่สุด หลายร้านไม่ได้ดำเนินการตามมาตรการ COVID Free Setting อยู่แออัด
- ขอให้กลุ่มเสี่ยงเร่งฉีดวัคซีน
สำหรับภาพรวมการฉีดวัคซีน นพ.โอภาส กล่าวว่า ขณะนี้ ฉีดไปแล้วกว่า 103 ล้านโดส โดยผู้ที่ฉีดเข็ม 1 ราว 51 ล้านคน ขณะที่คนฉีดเข็ม 3 ราว 9% การฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดสเป็นมาตรการสำคัญ ในการรับมือกับโรคระบาด ใครที่มีนัดหมายให้ไปฉีดได้ ขณะเดียวกัน กลุ่มเสี่ยงต่างๆ ได้รับการฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตาม คนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน และอยู่ในกลุ่มเป้าหมายขอให้ไปฉีด ไม่ต้องกังวล เพราะตอนนี้ฉีดไปแล้วกว่าร้อยล้านโดส ผลข้างเคียงมีได้ แต่ไม่มาก ผู้เสียชีวิตจากวัคซีนน่าจะมีอยู่ 3-4 รายเท่านั้น ส่วนที่เหลือหลังจากมีการพิสูจน์ ชันสูตรพบว่าสาเหตุส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน
- ทั่วโลกติดเชื้อรายใหม่ทะลุล้าน
สำหรับ สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก การระบาดใหญ่อยู่ที่สหรัฐอเมริกา มีผู้ติดเชื้อวันเดียวขึ้นไป 2 แสนกว่าราย สหราชอาณาจักร 1.29 แสนราย ภาพรวมขณะนี้วันเดียวทั่วโลกติดเชื้อเกิน 1 ล้านราย เสียชีวิต 6,044 ราย หากใครที่ติดตามข้อมูล 2 ปีที่ผ่านมา ค่าเฉลี่ยการเสียชีวิตทั่วโลกอยู่ที่ 2% กว่าๆ ขณะนี้ลดลงมาอยู่ที่ 1.92% แนวโน้มลดลงเรื่อยๆ สาเหตุส่วนใหญ่ การระบาดของโอมิครอน ไม่รุนแรงมากนักและทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนค่อนข้างมาก
- ไทยภาพรวมแนวโน้มลดลง
สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อ 2,575 ราย เสียชีวิต 17 ราย หากเทียบอัตราการเสียชีวิตของไทยค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่เพื่อนบ้านต้องจับตา คือ เวียดนาม เกาหลีใต้ อินเดีย
ขณะที่ไทยสิ่งที่เอาไว้ติดตามความรุนแรงของโรค นอกจากตัวเลขผู้ติดเชื้อแล้ว ก็คือผู้ที่มีอาการหนัก ปอดอักเสบ ซึ่งมีแนวโน้มลดลง หากจำกันได้ในช่วงที่ระบาดมาก ผู้ที่มีอาการปอดอักเสบราว 3,000 กว่าราย ตอนนี้ 614 ราย ประการที่สอง คือ ผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบ ปอดบวม ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ จากเดิมกว่า 1,300 ราย ตอนนี้เหลือ 153 ราย และแนวโน้มก็สอดคล้องกับผู้เสียชีวิต ที่ภาพรวมมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ
- ชะลอประเภท Test & Go
อีกประการหนึ่ง เมื่อวันจันทร์ ที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้แถลงข่าวให้กับพี่น้องประชาชนว่า ขณะนี้ ทางสธ. ได้เตือนในเรื่องโควิดอยู่ในระดับ 3 จากทั้งหมด 5 ระดับ สำหรับปัญหาเรื่องโอมิครอน ตอนนี้ส่วนใหญ่พบการระบาดในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และบางประเทศ เมื่อมีผู้ที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยมีมากขึ้น ทำให้การตรวจพบผู้ติดเชื้อโอมิครอนมีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หลังจาก ศบค. ชะลอการเข้าประเทศ Test & Go ก็จะมีคนที่เข้ามาน้อยลง แต่แนวโน้มผู้เข้ามาในระบบ Test & Go ลดลง และมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการจากเดิม 1 ครั้งเพิ่มเป็น 2 ครั้ง ทำให้สามารถตรวจผู้ติดเชื้อได้มากขึ้น
นอกจากนี้ จะเห็นว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อเข้ามาและตรวจพบเชื้อมีมากขึ้น จากเดิมที่เราเริ่มระบบตอนนั้นยังไม่มีโอมิครอนระบาด มีอัตราการติดเชื้ออยู่ที 0.08% ในระบบ Test & Go หลังจากที่ เหตุการณ์ผ่านไปและมีโอมิครอนระบาดมากขึ้น พบว่า อัตราการติดเชื้อเข้ามาในระบบ Test & Go อยู่ที่ 0.29% เพิ่มขึ้น 3.6 เท่า เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ต้องชะลอการเข้าสู่ประเทศในระบบ Test & Go ต้องใช้ระบบกักกันและแซนด์บ็อกซ์ต่อไปเพื่อให้ตรวจได้ง่ายขึ้น
- คาดหลังปีใหม่มีแนวโน้มระบาด
นพ.โอภาส กล่าวต่อไปว่า การจำลองสถานการณ์คาดว่าหลังปีใหม่ มีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน รวมถึงคนไทยมีการเดินทาง มีแนวโน้มว่าการระบาดจะเพิ่ม แต่เราก็จะพยายามลดการระบาดมากที่สุดต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องชาวไทย ตอนนี้สถานการณ์ยังเป็นไปตามคาดการณ์อยู่ หลังปีใหม่คงต้องมีมาตรการต่างๆ เสริมออกมา คงต้องแจ้งให้พี่น้องประชาชนทราบเป็นระยะ
ส่วนผู้ติดเชื้อที่เสียชีวิตแนวโน้มลดลง มาจาก ปัจจัยการฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยงมากขึ้น อย่างไรก็ตามยังพบว่ามีกลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนอีก 10% เพราะฉะนั้น ในช่วงเทศกาล หากท่านใดกลับบ้าน พบผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ ยังลังเลใจ ขอให้ญาติพี่น้องไปฉีดวัคซีน จะทำให้ทุกคนปลอดภัยในช่วงปีใหม่มากขึ้น
- ระวังสถานที่เสี่ยง โดยเฉพาะกลุ่ม 608
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อไปว่า หลังจากที่ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แจ้งเตือนความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรคระดับ 3 สิ่งที่อยากจะเตือน คือ
1.การไปสถานที่เสี่ยงโดยเฉพาะสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ซึ่งทาง ศบค. ไม่อนุญาตให้เปิดอยู่แล้วเนื่องจากเป็นความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม สถานที่ที่เป็นระบบปิด แออัด ถือเป็นสถานที่เสี่ยง
2.กิจกรรมที่มีคนร่วมกันจำนวนมาก กลุ่ม 608 ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และ หญิงตั้งครรภ์ ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ ไม่ควรไปร่วมในกิจกรรมที่มีคนรวมกันเป็นหมู่มาก
3. การเดินทางข้ามจังหวัดก็เช่นกัน กลุ่ม 608 ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ก็ให้เลี่ยงการเดินทางขนส่งสาธารณะ ซึ่งขณะนี้ ทาง กระทรวงการคมนาคม ได้ให้ความร่วมมือโดยเฉพาะขนส่งสาธารณะที่ต้องอยู่ร่วมกัน 4 ชั่วโมง ขึ้นไป จะมี ATK สุ่มตรวจเป็นระยะ รวมทั้งพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง จะมีการตรวจ ATK อย่างเสมอทุกคน
4. สำหรับการเข้าออกประเทศ ตอนนี้กลุ่ม 608 ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ ขอให้งดเดินทางไปตามประเทศ สว่วนคนทั่วไปขอให้ไปเท่าที่จำเป็น ขณะที่เข้าในประเทศจะเป็นระบบกักตัว ส่วน Test & Go ก็จะลดลงหรือหมดไป เป็นคำแนะนำสำหรับพี่น้องประชาชน ในการปฏิบัติ