เปลี่ยน "บาร์" เป็น "ร้านอาหาร" ระบบปรับอากาศไม่ดี เสี่ยงโควิด
จากการระบาดของ "โควิด-19" ในผับบาร์ "ร้านอาหาร" หลายครั้ง โดยเฉพาะร้านที่มีระบบปรับอากาศ มีความแออัด ระบบระบายอากาศไม่ดี ทำให้มีการระบาดเกิดขึ้น ล่าสุด สธ.ตรวจพบเชื้อในระบบปรับอากาศ จากคลัสเตอร์นักศึกษา กทม. ที่มีการติดเชื้อกว่า 52 ราย
สถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทย ต้องพบกับ “ซูเปอร์สเปรดเดอร์” อีกครั้ง โดยในการแถลงข่าวกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 64 จาก “คลัสเตอร์” จ.กาฬสินธุ์ ที่มีการแพร่ระบาดของ “โอมิครอน” การสอบสวนโรคพบว่ามีการกินดื่มในร้านอาหารร่วมกัน ทำให้การแพร่กระจายไปกว่า 11 อำเภอ พบผู้ติดเชื้อกว่า 248 ราย
นอกจากนี้ ยังกระจายไปยัง 11 จังหวัด ภาคอีสานและภาคเหนือ ขณะเดียวกัน ในขณะที่ภาครัฐยังไม่อนุญาตให้ผับบาร์เปิดให้บริการ แต่พบว่าหลายร้านเปลี่ยนจาก บาร์ เป็น ร้านอาหาร แต่ระบบระบายอากาศยังเหมือนเดิม เพราะฉะนั้น ความเสี่ยงลดลงไม่มาก ยังสูงเหมือนเดิม
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายว่า คลัสเตอร์สายพันธุ์โอมิครอน จ.กาฬสินธุ์ มีการแพร่กระจายไปยัง 11 อำเภอ ติดเชื้อกว่า 248 ราย และกระจายไปยังอีก 11 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี มหาสารคาม ขอนแก่น ร้อยเอ็ด หนองบัวลำภู สกลนคร รวมทั้งลำพูน อุบลราชธานี พิษณุโลก ลำปาง เพชรบูรณ์ ถือว่าเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่เรียกว่า “ซูเปอร์สเปรดเดอร์” เพราะ 1-2 สามารถกระจายได้หลายร้อยเป็นสายพันธุ์โอมิครอน
“ตอนนี้สายพันธุ์โอมิครอนที่พบในบ้านเรา 2 ใน 3 เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ อีกประมาณ 1 ใน 3 เป็นผู้สัมผัสผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ในสถานการณ์ที่ระบบสาธารณสุขลงไปสอบสวนควบคุมโรคร่วมกับหลายหน่วยงาน ยังทำให้เราสามารถตรวจจับการระบาด และควบคุมการระบาดได้”
- ระวัง “จุดเปลี่ยนปรับบาร์เป็นร้านอาหาร” จุดแพร่เชื้อ
ทั้งนี้ เคสนี้ผู้ป่วย โอมิครอน 2 ราย ไปที่ จ.กาฬสินธุ์ และไปที่สถานบันเทิง โดยจุดที่เป็นปัญหาคือร้านอาหาร ขณะนี้ ทางรัฐบาลโดย ศบค. ยังไม่อนุญาตให้เปิดผับบาร์ คาราโอเกะ เนื่องจากเป็นจุดเสี่ยงสูงในการแพร่กระจายเชื้อ เป็นสถานที่แออัด คนอยู่รวมกันหนาแน่น ถอดหน้ากากรับประทานอาหาร ร้องเพลงในเวลานาน เป็นจุดเสี่ยงในการแพร่เชื้อ
"แต่หลายร้านเปลี่ยนจากบาร์เป็นร้านอาหาร โดยเราอนุญาตให้ร้านอาหาร สามารถขายอาหาร ขายแอลกอฮอล์ได้ จึงมีผับบาร์หลายร้านแปลงสถานะจากผับบาร์เป็นร้านอาหาร แต่ระบบระบายอากาศยังเหมือนเดิม เพราะฉะนั้น ความเสี่ยงลดลงไม่มาก ยังสูงเหมือนเดิม"
- ร้านการ์ดตก สู่การระบาด
ยกตัวอย่างรายที่ติดเชื้อ ไปร้านอาหารหรือบาร์ 2 ที่ แก่ BAR S และ BAR K โดย “BAR S” ไม่เกิดการแพร่กระจายเชื้อ แต่ “BAR K” ทำให้เกิดซูเปอร์สเปรดเดอร์กระจายภาคอีสานและภาคเหนือ จุดแตกต่างสองร้านนี้ คือ
BAR S ที่ไม่พบผู้ติดเชื้อ เนื่องจากในร้านมีโต๊ะบริการอยู่ 10 โต๊ะ ลูกค้าสูงสุด 40 คนไม่มีเก้าอี้เสริม พนักงาน 9 คน ความจุลูกค้าราว 10% คนใช้บริการไม่เยอะ เปิด 3 ชั่วโมง จัดอุปกรณ์เครื่องดื่มเฉพาะบุคคล ไม่มีกิจกรรมเสริมการขาย ไม่มีดนตรี ดื่มแอลกอฮอล์ถึง 23.00 น. พนักงานฉีดวัคซีนทุกคน ตรวจ ATK ทุกคน ทุกสัปดาห์ มีความเข้มงวด ขณะที่ ลูกค้ามีคัดกรองอุณหภูมิ ช่วงที่ไม่ได้รับประทานอาหารให้สวมหน้ากากอนามัย และเจ้าของกำกับเอง เพราะหากมีการติดเชื้อก็จะเดือดร้อนทั้งเขาและชุมชน พนักงานลูกค้าไม่มีคนติดเชื้อ เป็นตัวอย่างที่ดี
ต่างจาก BAR K มี 15 โต๊ะ ลูกค้าสูงสุด 80 คน มีการเสริมโต๊ะ พนักงาน 9 คน นักดนตรี 6 คน ลูกค้าราว 90% และอยู่กันนาน เพราะมีดนตรี สิ่งที่ตามมาคือการดื่มแอลกอฮอล์ มีการส่งเสริมการขาย เชียร์ลูกค้า ดื่มได้ถึงเที่ยงคืน ทำให้คนอยู่ในร้านนานขึ้น เป็นความเสี่ยง ระบบระบายอากาศไม่ดี อีกประการหนึ่ง คือ ลูกค้าและพนักงาน พนักงานทุกคนฉีดวัคซีน แต่ไม่ได้ตรวจ ATK และไม่มีการคัดกรอง Thai Save Thai พนักงานรับประทานอาหารร่วมกัน ที่พักอยู่ในมุมอับ ระบายอากาศไม่ดี เวลาป่วยไม่ได้หยุดงาน ข้อมูลจากการสอบสวนเริ่มต้น มีความเสี่ยงทั้งสิ่งแวดล้อมและพนักงาน ขณะที่ ลูกค้ามีการคัดกรองอุณหภูมิ แต่ไมได้คัดกรองความเสียง เว้นระยะห่างไม่ดี
“เป็นข้อมูลเพื่อเป็นอุทาหรณ์ หากในปีใหม่เชื่อว่าหลายท่านมีกิจกรรมพบปะสังสรรค์กัน หากทราบว่าตรงไหนเป็นจุดเสี่ยงก็ไม่ควรจะเข้าไป ซึ่งสังเกตได้ง่ายๆ ที่ๆ คนอยู่กันแออัด ระบายอากาศไม่ดี คนส่วนใหญ่ไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย จะทำให้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น”
- ตรวจพบเชื้อในแอร์
ขณะเดียวกัน อีกหนึ่ง คลัสเตอร์ ที่มีการติดเชื้อจำนวนมากอย่าง คลัสเตอร์นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งใน กทม. มีการกินดื่มในร้านอาหาร จนเกิดการติดเชื้อกว่า 52 ราย เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยพบว่า มีประวัติรับประทานอาหาร ดื่มสุราร่วมกันในร้านอาหารกึ่งผับแห่งหนึ่ง (ร้าน A) ในพื้นที่กทม. ช่วง 8-14 ธ.ค.
ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงข้อจำกัดที่พบ คือ ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ในเครื่องปรับอากาศ ภายในร้าน A จากการเก็บตัวอย่างในช่องแอร์จำนวน 2 เครื่อง ช่วงเวลาทานอาหารและดื่มเครื่องดื่ม เป็นเวลานาน (ไม่สวมหน้ากาก) และ จากการค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม และตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมภายในร้าน A และ ร้านอาหารในลักษณะเดียวกัน (ให้บริการจำหน่ายและให้ดื่มสุราในร้านได้) พื้นที่ใกล้เคียงพบว่า หลายร้านไม่สามารถปฏิบัติตามาตรการ COVID Free Setting ได้ ซึ่งประกอบด้วย
• Environment (สถานที่-ร้าน) ห้องปรับอากาศที่มีระบบหมุนเวียนที่ดี จัดโต๊ะห่างมากกว่า 1 เมตร ไม่แออัด
• Personal (พนักงานทุกคน) ต้องได้รับวัคซีนครบทุกคน คัดกรองไม่มีอาการมีผลตรวจ ATK เป็นลบทุกสัปดาห์
• Customer (ผู้ใช้บริการ) ต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบ ไม่ป่วย มีผลตรวจ STK ไม่พบก่อนเข้าใช้บริการ
นายแพทย์โอภาส อธิบายว่า ความเสี่ยง คือ เป็นห้องปรับอากาศ อากาศถ่ายเทไม่ดี หลังจากที่เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ ตรวจหาเชื้อในสิ่งแวดล้อม พบเชื้อในเครื่องปรับอากาศ แสดงให้เห็นว่าเครื่องปรับอากาศเป็นจุดสำคัญ เพราะระบบระบายอากาศไม่ดี ช่วงทานอาหาร ดื่ม ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย อย่างที่เรียนว่าควรใช้เวลาในการดื่มและรับประทานอาหารไม่นานเกินไป ช่วงที่ไม่ได้รับประทานก็ใส่หน้ากากอนามัยให้นานที่สุด หลายร้านไม่ได้ดำเนินการตามมาตรการ COVID Free Setting อยู่แออัด ระบบระบายอากาศไม่ดี
- กรณีศึกษาจากจีน
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 64 ที่ผ่านมา กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เปิดเผยข้อมูลผ่านหน้าเพจเฟซบุ๊ค กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระบุถึงการติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศจีน กรณีที่นั่งรับประทานอาหารร่วมกันว่า เว็บไซต์ ELPAIS รายงานกรณีที่หน่วยงานด้านสาธารณสุขของจีน ศึกษาจากการแพร่ระบาดของเชื้อ SAR-CoV-2 ที่เกิดขึ้นในร้านอาหารแห่งหนึ่ง ที่เมืองกวางโจว ในช่วงเทศกาลตรุษจีน พบว่า
หากคน 90 คน รับประทานอาหารร่วมกันภายในห้องปิด ไม่มีช่องทางระบายอากาศ มีสมาชิกคนหนึ่งเดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น เพื่อสังสรรค์กับครอบครัว หลังจากนั้นจึงพบว่าเป็นผู้ป่วยติดเชื้อ SAR-CoV-2 และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในคืนนั้น และยังพบสมาชิกที่ร่วมงานติดเชื้อ SAR-CoV-2 ด้วยอีก 9 คน ทั้งที่นั่งร่วมโต๊ะเดียวกัน โต๊ะที่อยู่ข้างเคียง และอีกโต๊ะที่ห่างออกไปถึง 4.5 เมตร ทั้งหมดอยู่ในแถวเดียวกัน ซึ่งมีเครื่องปรับอากาศที่อยู่ในระนาบเดียวกัน
นั่นเป็นเพราะหลักการทำงานของเครื่องปรับอากาศที่จะดูดอากาศเข้าทางด้านล่างและเป่าอากาศออกทางด้านบนหมุนเวียนอยู่เช่นนี้ เมื่อสมาชิกร่วมรับประทานอาหารด้วยกัน นอกจาก จะไม่สวมหน้ากากอนามัยแล้ว ยังใช้เวลาอยู่ด้วยกันมากกว่า 1 ชั่วโมง จึงทำให้ได้รับเชื้อ SAR-CoV-2 ที่มาทางอากาศได้ ขณะที่ โต๊ะอื่น ๆ ในห้อง แม้จะอยู่ในพื้นที่เดียวกันแต่เนื่องจาก ไม่ได้อยู่ในระนาบเครื่องปรับอากาศเดียวกันจึงทำให้ไม่ได้รับเชื้อ
แต่หากเป็นห้องปิดที่มีเครื่องปรับอากาศเพียงเครื่องเดียว การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 2-3 เมตรเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แม้ว่าจะมีกรองอากาศก็ตาม หลักสำคัญ คือ การทำให้อากาศภายในห้องมีการหมุนเวียนจากภายในสู่ภายนอก อาจใช้พัดลมดูดอากาศ หรือเปิดหน้าต่าง
- ร้านอาหารเสี่ยงแพร่เชื้อ
เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat เกี่ยวกับเรื่องการนั่งกินในร้านอาหาร มีงานวิจัยจำนวนไม่น้อย ที่ระบุให้เห็นถึงความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อโรคโควิด-19 ในซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อ 25 กรกฎาคม 2020 มีเคสที่มีการสอบสวนทางระบาดวิทยาแล้วพบว่าเชื่อมโยงกับการนั่งทานภายในร้านอาหาร ถึง 20 ราย โดยเป็นสายพันธุ์ที่มีลักษณะพันธุกรรมและการกลายพันธุ์ตำแหน่งเดียวกันทั้งหมด
ในขณะที่ประเทศอเมริกา มีการศึกษาตั้งแต่มีนาคมถึงธันวาคม 2020 พบว่าการประกาศนโยบายให้นั่งกินในร้านอาหารได้นั้น จะสัมพันธ์กับการเพิ่มจำนวนติดเชื้อใหม่ต่อวัน โดยจะส่งผลให้เห็นภายใน 41-100 วัน และสัมพันธ์กับจำนวนการเสียชีวิตต่อวันเพิ่มขึ้นด้วย โดยจะเห็นผลภายใน 61-100 วัน
นอกจากนี้ การวิจัยในประเทศจีน สำรวจร้านอาหารติดแอร์ซึ่งมีเหตุการณ์แพร่เชื้อติดเชื้อในลูกค้าที่มารับประทานอาหารจำนวนทั้งสิ้น 10 คน พบว่าแม้จะนั่งห่างกันถึง 4.6 เมตร แต่มีการติดเชื้อแพร่เชื้อได้ โดยน่าจะมาจากการระบายอากาศที่ไม่ดี และลมที่เป่าจากแอร์ที่นำพาเชื้อให้แพร่ไปได้ระยะไกล หรือที่เรียกว่าติดเชื้อไวรัสที่ฟุ้งกระจายผ่านทางอากาศ (aerosol transmission/airborne transmission)
- อากาศถ่ายเทไม่ดี เสี่ยงแพร่โรค
เมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC โดยระบุว่า อากาศถ่ายเทไม่ดี เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการแพร่กระจายเชื้อไวรัส COVID-19 โดยเฉพาะเวลาที่อยู่ร่วมกัน พูดคุยกัน และต้องถอดหน้ากากอนามัยเพื่อรับประทานอาหาร ดื่มน้ำหรือเครื่องดื่ม เช่นในภัตตาคาร ผับ บาร์
นอกจากนี้ นพ.มนูญยังได้ หยิบยกรายงาน รายงานจากการวิจัยโดย Jianyun Lu และคณะจากศูนย์ควบคุมและป้อง กันโรคกวางโจว พบการแพร่เชื้อจากผู้ป่วยโรคโควิด-19 รายหนึ่งที่ยังไม่มีอาการ กลับมาจากเมืองอู่ฮั่นเมื่อวันที่ 23 ม.ค.ไปรับประทานอาหารกลางวันกับคนในครอบครัวของเขาที่ภัตตาคารแห่งหนึ่งในเมืองกวางโจว ประเทศจีน สามารถแพร่เชื้อให้กับคนในครอบครัว และคนที่นั่งโต๊ะข้างๆได้
ห้องอาหารนี้ยาว 6 เมตร กว้าง 5 เมตร ติดตั้งระบบแอร์แบบหมุนวน ไม่มีหน้าต่าง มีโต๊ะตั้งอยู่ 3 ตัว ห่างกันราว 1 เมตร อากาศเย็นออกจากแอร์ที่ติดตั้งเหนือโต๊ะแรก C มีคนนั่ง 7 คน ผ่านมาโต๊ะ A ของคนที่แพร่เชื้อ มีคนนั่ง 10 คน ผ่านไปโต๊ะหลังสุด B มีคนนั่ง 4 คน ก่อนจะวนกลับมาผ่านโต๊ะของคนแพร่เชื้อ A แล้วกลับมาถึงโต๊ะแรก C
- กรณีศึกษาในไทย
ในส่วนของประเทศไทย เมื่อต้นปี 2564 ที่ผ่านมา จากกรณีการระบาดจากงานเลี้ยงโต๊ะแชร์ คลัสเตอร์ จ.มหาสารคาม ที่ผู้ป่วยตะเวนไปกินและดื่มในหลายร้าน ทำให้พบผู้ป่วยยืนยัน 22 คน ซึ่งกระจายออกไปยังอีก 3 จังหวัด ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ซึ่งเป็นหมอที่ทำการรักษาผู้ป่วยยืนยันจากคลัสเตอร์นี้ และต้องติดตามกลุ่มเสี่ยงและทำการค้นหาเชิงรุกมากกว่า 4 พันราย
ดังนั้น การรับประทานอาหารร่วมกันกับผู้อื่นในร้านอาหาร เราอาจเจอผู้คนมากมาย จึงมีโอกาสเสี่ยงรับเชื้อ SAR-CoV-2 โดยไม่รู้ตัว เพื่อความปลอดภัย ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกันในช่วงการระบาด โดยเฉพาะงานเลี้ยง เช่น โต๊ะแชร์ งานวันเกิด ที่มีแอลกอฮอล์เข้ามาร่วมด้วยจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยง เพราะเมื่อถอดหน้ากากอนามัยเชื้อ SAR-CoV-2 สามารถเข้ามาทางระบบทางเดินหายใจได้ตลอดเวลา
- คลัสเตอร์ร้านเกม
นอกจากนี้ อีกหนึ่งกรณีที่พบ คือ คลัสเตอร์ร้านเกม จ.อุตรดิตถ์ เมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา พบว่า มีการนั่งเล่นในห้องแอร์นาน มีผู้ติดเชื้อกว่า 8 ราย โดย 7 รายคือผู้ใช้บริการ และอีก 1 รายคือคนในครอบของผู้ติดเชื้อ ขณะเดียกวัน ร้านเกม ร้านอินเทอร์เน็ต เปิดบริการในห้องแอร์ ไม่ได้กำหนดระยะเวลาของการเข้าใช้บริการ และลูกค้าส่วนใหญ่จะนั่งเล่นเกมต่อเนื่อง ติดต่อกันนานหลายชั่วโมง
- ที่ทำงานมีเครื่องปรับอากาศ ทำอย่างไร
ทั้งนี้ ไม่เพียงแค่การไปใช้บริการในร้านอาหาร หรือ ร้านค้าต่างๆ เท่านั้น เพราะหลายคนยังต้องไปทำงานที่ออฟฟิศ เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่นและห่างไกลโรคโควิด 19 กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้แนะแนวทางปฏิบัติตัวในที่ทำงานเพื่อลดโอกาสเสี่ยงโรคโควิด 19 ดังนี้
1. การระบายอากาศในที่ทำงาน
- กรณีที่ทำงานไม่มีแอร์ ให้เปิดประตูหน้าต่างเพื่อให้อากาศถ่ายเท และเปิดพัดลมหมุนบนหลังคา (ถ้ามี)
- กรณีที่ทำงานใช้แอร์ที่ไม่มีระบบหมุนเวียนอากาศ ให้แง้มหน้าต่างและประตูไว้ในขณะที่เปิดแอร์เพื่อให้อากาศถ่ายเท, เปิดพัดลมดูดอากาศเพื่อให้อากาศในห้องหมุนเวียน
2. ที่ทำงานต้องมีการคัดกรองหรือแจ้งหากพบว่าตนเองมีอาการป่วย หรือมีคนในครอบครัว และพิจารณาให้หยุดทันที จนกว่าได้รับการตรวจโรคโควิด 19
3. ทำความสะอาดของใช้ร่วมกันบ่อย ๆ
4. งดการทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การนั่งประชุมในห้อง กินข้าวร่วมกัน
5. จำกัดจำนวนคนเข้าทำงานในออฟฟิศ
6. งดพูดคุยเวลาใช้ลิฟท์ หลีกเลี่ยงการกดลิฟท์ด้วยนิ้วมือโดยตรงให้ใช้ศอกกดแทน
ทั้งนี้ การทำให้อากาศในห้องทำงานมีการถ่ายเทอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดการสะสมของเชื้อไวรัสที่กระจายอยู่ในอากาศ และลดโอกาสเสี่ยงในการแพร่กระจายของโรคโควิด-19
- อยู่บ้านอย่างไรให้ปลอดภัย
สำหรับบ้านหรือห้องพักที่ใช้เครื่องปรับอากาศ ซึ่งสภาพพื้นที่จะมีลักษณะเป็นพื้นที่ปิดมิดชิด เช่น บ้านที่อยู่ในเขตเมืองรวมทั้งห้องพักคอนโดต่าง ๆ หน่วยงานด้านสุขภาพและความปลอดภัยแห่งสหราชอาณาจักร (The Health and Safety Executive: HSE) มีคำแนะนำให้เปิดพัดลมดูดอากาศด้วย และเปิดประตูหรือหน้าต่างให้บ่อยครั้ง เพื่อให้อากาศภายในออกสู่ภายนอกห้อง เนื่องจากห้องที่มีอากาศถ่ายเทไม่ดีพอ อาจมีการสะสมเชื้อโรคจากลมหายใจของผู้พักอาศัย ไม่ใช่แค่เพียงโรคโควิด 19 ยังรวมไปถึงโรคระบบทางเดินหายใจ ดังนั้นการระบายอากาศที่ดีจึงเป็นการช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อให้ผู้ที่พักอาศัยร่วมด้วย