ติดไม่ติด! เช็คอาการล่าสุดโควิดสายพันธุ์โอมิครอน VS เดลตา

ติดไม่ติด! เช็คอาการล่าสุดโควิดสายพันธุ์โอมิครอน VS เดลตา

ตามที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รายงานสายพันธุ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาดในประเทศไทย ซึ่งข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2564-28 ธ.ค.2564 พบผู้ป่วยติดเชื้อที่จำแนกตามสายพันธุ์ เป็น เดลตา 7,546 ราย หรือ 90.94% เบตา 2 ราย หรือ 0.02% และโอมิครอน 739 ราย หรือ 8.91%

ขณะเดียวกัน ตัวเลขของผู้ติดเชื้อโอมิครอนในประเทศไทย ตั้งแต่เปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย.-29 ธ.ค.64 พบการติดเชื้อโอมิครอน สะสม 934 ราย แบ่งเป็นพบในผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ  577 ราย และติดเชื้อในประเทศ 357 ราย

โดยเฉพาะวานนี้(29 ธ.ค.) เพิ่มขึ้น 194 ราย แบ่งเป็นมาจากต่างประเทศ 88 ราย ติดเชื้อในประเทศ 106 ราย ทั้งนี้ พบการติดเชื้อโอมิครอนแล้วในทุกเขตสุขภาพ โดยแนวโน้มพบการติดเชื้อในประเทศเพิ่มมากขึ้นกว่าผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ เนื่องจากการเดินทางเข้าประเทศเริ่มชะลอตัว

ดังนั้น ขณะนี้ในประเทศไทยยังคงมีการแพร่ระบาดของโควิดทั้งสายพันธุ์เดลตา และโอมิครอน ซึ่งเดลตายังถือเป็นสายพันธุ์หลักในการแพร่ระบาดของประเทศ  “กรุงเทพธุรกิจ” ได้รวบรวมอัพเดทอาการล่าสุดดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา และสายพันธุ์โอมิครอน มาให้ผู้อ่านได้สำรวจสังเกตอาการของตนเอง ว่าเข้าข่าย หรือเสี่ยงมีอาการสายพันธุ์เหล่านี้หรือไม่????

 

  • เช็คอาการโควิดสายพันธุ์เดลตา VS โอมิครอน

เริ่มด้วย อาการจากโควิดสายพันธุ์เดลตา

  • ปวดหัว
  • เจ็บคอ
  • มีน้ำมูก
  • ไม่ค่อยพบการสูญเสียการรับรส
  • อาการคล้ายเป็นหวัดธรรมดา
  • หากรู้สึกไม่สบาย คล้ายเป็นหวัด ให้สังเกตตัวเอง หากมีอาการน่าสงสัยให้รีบไปพบแพทย์

ทั้งนี้ สำหรับความน่ากลัวของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ซึ่งการแพร่กระจายเชื้อสายพันธุ์เดลตาสามารถแพร่กระจายได้ง่าย ในช่วงเวลาสั้น จากข้อมูลพบว่าใช้เวลาแค่ 5-10 วินาที หากอยู่ในสถานที่เดียวกัน หรือพบเจอผู้ติดเชื้อ เชื้อก็สามารถแพร่กระจายเชื้อไปสู่บุคคลอื่นได้ และยังสามารถลอยอยู่ในอากาศได้ถึง 16 ชั่วโมง

เพราะฉะนั้นหากเราเข้าไปอยู่ในห้องที่ไม่มีการถ่ายเทของอากาศ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์มาใช้นี้ ก็ยังมีโอกาสที่จะติดโควิดสายพันธุ์นี้ได้  นอกจากนี้ยังสามารถแพร่กระจายได้ในทุกกลุ่มอายุโดยเฉพาะเด็กเล็ก และจากความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อได้ง่าย ทำให้มีโอกาสเพิ่มยอดผู้ติดเชื้อ 10 เท่าในทุก ๆ 11 วัน

ขณะที่ อาการของโอมิครอน นั้น

ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2564 ระบุว่า มีอาการดังนี้

  • ไอ 54%
  • เจ็บคอ 37%
  • ไข้ 29%
  • ปวดกล้ามเนื้อ 15%
  • มีน้ำมูก 12%
  • ปวดศีรษะ 10%
  • หายใจลำบาก 5%
  • ได้กลิ่นลดลง 2%

 

  • ความแตกต่างระหว่างโอมิครอน กับเดลตา

จากข้อมูลในประเทศอังกฤษที่ได้มีการศึกษาความเสี่ยงในการเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลของผู้ป่วยติดเชื้อโอมิครอน ลดลงเมื่อเทียบกับเดลตา โดยสายพันธุ์เดลตาโอกาสเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมี 50% และนอนโรงพยาบาล 1 วันขึ้นไป 61% ส่วนสายพันธุ์โอมิครอนรักษาที่โรงพยาบาลอยู่ที่ 20-25% และนอนโรงพยาบาล 1 วันขึ้นไป 40-50%

ส่วนการศึกษาในแอฟริกาใต้ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.-30 พ.ย. 2564 พบว่าผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนมีร้อยละเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลลดลงเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ความรุนแรงไม่แตกต่างกัน เนื่องจากเชื้อส่วนใหญ่จะอยู่แถวหลอดลม มากกว่าลงปอด แต่ถ้าลงสู่ปอดก็จะเกิดอาการรุนแรงพอๆกันกับเดลต้า

ดร.แองเจลิก โคเอตซี (Angelique Coetzee) แพทย์ชาวแอฟริกาใต้ที่มีส่วนช่วยในการค้นพบโควิดสายพันธุ์โอมิครอน เปิดเผยต่อสำนักข่าว BBC ว่า ผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนมีอาการ ‘น้อยมาก’ โดยอาการต่างๆ รวมถึง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ และเจ็บคอ แต่ไม่สูญเสียการรับรู้กลิ่นหรือรส เหมือนกับไวรัสโควิดสายพันธุ์อื่น

 ขณะที่โควิดสายพันธุ์เดลตา มีอาการแตกต่างกับสายพันธุ์อื่นๆ ก่อนหน้าเช่นกัน โดยมีอาการไอและสูญเสียการรับรู้กลิ่นที่น้อยกว่า และจากงานวิจัยในสหราชอาณาจักร พบว่าปัจจุบัน ผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาจำนวนมากมีอาการปวดศีรษะและน้ำมูกไหล

 จากอาการดังกล่าว ยังเร็วเกินไปที่จะอ้างได้ว่าผู้ติดเชื้อโควิดโอมิครอนนั้นมีอาการที่เลวร้ายกว่าเดลตา หรือไม่รุนแรงเท่าเดลตา คงต้องติดตามข้อมูลจากทางการแพทย์ และต้องมีหลักฐานชี้ชัด

  • ทุกคนต้องฉีดวัคซีน ป้องกันตนเองครอบจักรวาล

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญ คือ ฉีดวัคซีน ป้องกันตนเองอย่างครอบจักรวาลและมาตรการป้องกันโควิดขั้นสูงสุด ใส่หน้ากากอนามัยให้ถูกต้อง  ใส่ตลอดเวลา ใส่ทุกครั้งที่ออกจากบ้าน ต้องไปในสถานที่ต่างๆ  ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่างทางสังคม  และเร่งเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อป้องกันโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ไหนก็ตาม เพราะต่อให้วัคซีนทุกชนิดจะไม่สามารถป้องกันติดเชื้อได้ 100% แต่สามารถลดการเสียชีวิตและป่วยหนักได้ 

อ้างอิง : BBC