"โอมิครอน" แพร่เร็ว 2-5 เท่า วัคซีน 3 เข็ม อาจเอาไม่อยู่
ความสนใจของคนไทยและทั่วโลกในขณะนี้ คงไม่พ้น "โควิด-19" สายพันธุ์ใหม่อย่าง “โอมิครอน” ว่ากันว่า แม้โอมิครอนอาจจะอาการไม่รุนแรงเท่าเดลตา แต่ติดง่าย แพร่กระจายเร็วกว่า 2-5 เท่า โดยเฉพาะในต่างประเทศอย่างยุโรป สหรัฐฯ ทำให้ผู้ติดเชื้อทั่วโลกทะลุ 1.6 ล้านรายในวันเดียว
มีรายงานว่า วัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม และการบูสด้วย mRNA อาจไม่สามารถต้านทาน "โอมิครอน" ดังนั้น ประเทศไทยอาจต้องเร่งฉีดเข็ม 4 ในกลุ่มที่ฉีดเข็ม 3 มาแล้วเป็นเวลานานกว่า 4 เดือน
ขณะเดียวกัน แม้ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค จะบอกว่าโอมิครอนแพร่เร็ว 2-5 เท่า แต่กระทรวงสาธารณาสุข ให้ความมั่นใจว่า ตัวเลข ณ 27 ธ.ค.64 มีเตียงรองรับผู้ป่วย ทุกระดับรวมราว 1.7 แสนเตียง อัตราการครองเตียงปัจจุบันอยู่ที่ 13.7 % ว่างอีก 153,767 และมียาฟาวิพิราเวียร์สำรองกว่า 15 ล้านเม็ด
การแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของโอมิครอน เมื่อเทียบกับช่วงแรกๆ ข้อมูล จากกระทรวงสาธารณสุข พบว่า วันที่ 18 ธ.ค. 64 ไทยมีผู้ป่วยโอมิครอน 63 ราย ขณะที่ตัวเลขเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 64 พบผู้ป่วยทะลุ 1,145 ราย
ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.64 ที่ผ่านมา ทีดรอส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการ WHO ระบุว่า ตอนนี้มีหลักฐานแสดงออกมาต่อเนื่องว่า โอมิครอนกระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลตาอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นไปได้มากว่าคนที่ฉีดวัคซีนแล้วหรือหายจากโควิด-19 แล้ว ก็อาจติดเชื้อหรือติดเชื้อซ้ำได้
- วัคซีนทุกชนิดป้องกันป่วยหนักได้
นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวในการแถลงข่าว ประเด็นสถานการณ์โควิด 19 และข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวห่างไกลโอมิครอน เมื่อวันที่ 30 ธ.คง 64 โดยระบุว่า ขณะนี้ทั่วโลก เผชิญกับการระบาดของโควิด-19 จากสายพันธุ์โอมิครอน จากประสบการณ์การระบาดของ โอมิครอน นำไปสู่มาตรการของไทยว่าเราจะสามารถควบคุมการระบาดอย่างต่อเนื่อง และฉลองปีใหม่ให้ปลอดภัยได้อย่างไร เป็นส่วนสำคัญ ว่า ประสบการณ์และการดำเนินงานที่ผ่านมา ประชาชน องค์กร หน่วยงานราชการ ทุกภาคส่วน เราจะผ่านช่วงปีใหม่อย่างปลอดภัย หรือเราจะเผชิญกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นเหมือนในประเทศต่างๆ
- มาตรการ และวัคซีน สำคัญ
"สิ่งที่อยากจะเน้นย้ำ คือ ประสบการณ์ทั้งหมดเรายังใช้มาตรการที่สำคัญเหมือนเดิม คือ วัคซีน เราทราบแล้วว่าทุกชนิด ทุกยี่ห้อหากฉีดครบ ลดป่วยหนักได้แน่นอน แต่เมื่อเผชิญสายพันธุ์โอมิครอน หากฉีดไปนานแล้ว ภูมิต้านทานอาจจะไม่เพียงพอ ประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้ออาจลดลง เช่น ในหลายประเทศ ที่จำนวนการตาย คนเข้า รพ. ไม่เพิ่ม แต่ติดเชื้อสูงขึ้น ดังนั้น มาตรการวัคซีนจำเป็น อย่างยิ่งที่จะดำเนินการต่อเนื่อง คนที่ฉีด 2 เข็มแล้วต้องมาฉีดเข็มกระตุ้น หรือในคนที่ยังไม่ฉีดควรรับการฉีดเพื่อป้องกันการป่วยหนักและฉีดให้ครบ"
สอดคล้องกับ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว นิธิพัฒน์ เจียรกุล ในตอนหนึ่งว่า นอกจากการป้องกันการระบาดของโอมิครอน ด้วยมาตรการควบคุมโรคที่ยังคงใช้ได้ดีไม่ว่าจะเป็นเชื้อสายพันธุ์ไหน ในส่วนเกราะกำบังจากวัคซีนนั้นจะช่วยได้อย่างไร
เริ่มมีข้อมูลสนับสนุนมากขึ้นว่าโอมิครอนสามารถหลุดรอดภูมิคุ้มกันที่พยายามเสริมสร้างกันอยู่ ทำให้หลายประเทศเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 ไปจนถึงเข็ม 4 ด้วยความหวังซื้อเวลาไว้จนกว่าจะได้วัคซีนใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำหรับใครที่ยังลังเลว่าจะฉีดดีไหมหลังได้ครบ2 เข็มไปแล้ว อย่างน้อยบุคลากรด่านหน้าและกลุ่มเปราะบาง ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น สำหรับคนที่ไม่อยู่ในข่ายนี้อาจรอดูข้อมูล โดยส่วนตัวที่ได้รับวัคซีนของซิโนแว็คไปแล้ว1 ตามด้วยของไฟเซอร์1เข็ม ตั้งใจจะเลือกของแอสตร้าเป็นเข็ม4 เพราะประทับใจการสร้างภูมิชนิดพึ่งเซลล์ที่ช่วยลดอัตราการป่วยหนักและการเสียชีวิตได้ดี และจะได้เป็นการรับวัคซีนครบทุกรูปแบบไปในตัวด้วย
“ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลผลของวัคซีนต่อโอมิครอนในสถานการณ์จริง จึงต้องอาศัยการเทียบเคียงกับเดลต้าไปก่อน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุว่าการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ประเภทเดียวกันกระตุ้นภูมิต่อเดลต้าได้กว่า 90% ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนของไฟเซอร์หรือของแอสตร้าเซนเนก้า”
“ดังนั้น แผนการฉีดเข็ม 3 ของไทย ด้วยวัคซีนทั้งสองชนิดนี้น่าจะเป็นทิศทางที่ถูกต้องแล้วสำหรับการควบคุมเดลต้าที่ยังครองตลาดอยู่ แม้ว่าจะมีการติดเชื้อโผล่ผุด (breakthrough infection) เกิดขึ้น แต่อาการมักไม่รุนแรงและระยะเวลาการแพร่เชื้อก็สั้นลงเมื่อเทียบกับการติดเชื้อในคนที่ไม่ได้รับวัคซีน ส่วนผลของเข็มกระตุ้นที่เราหวังจะให้ครอบคลุมโอมิครอนนั้น คงต้องรอข้อมูลในสถานการณ์จริงที่กำลังเริ่มออกมามากขึ้น”รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าว
- ฉีดวัคซีนป้องกันโอมิครอนได้ 50-60%
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ ระบุต่อไปว่า ข้อมูลเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.จากการสุ่มตรวจสายพันธุ์โอมิครอนในไทยมีสัดส่วนประมาณ 3% จะค่อยๆ ขึ้นแต่อาจจะไม่สูงเหมือนเช่นในต่างประเทศ คาดการณ์ว่าจะถึง 50% ของเชื้อทั้งหมดในราวครึ่งเดือนหลังของ ม.ค.- ก.พ. 2565 อาจจะมียอดผู้ป่วยใหม่รายวัน 1-2 หมื่นคน เพียงแต่ผู้ป่วยอาการหนักจะอยู่ที่ราว 2% หรือ 200-400 คนต่อวัน จากเดิมอยู่ที่ 5% ซึ่งภาคการแพทย์ยังรับมือไหว
ทั้งนี้ เป็นเพียงการประเมินคาดการณ์ช่วงเวลาอาจจะไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสามารถคุมสถานการณ์ในช่วงปีใหม่ได้ดีมากน้อยแค่ไหน รวมถึงช่องโหว่จากการเล็ดรอดเข้ามา ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีเล็ดรอดอยู่ ขึ้นอยู่ว่าจะตามจับได้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีน จึงถือเป็นเกราะป้องกันโอมิครอนได้ แม้จะว่าจะมีประสิทธิภาพเหลือสัก 50-60% แต่ยังสามารถชะลอเชื้อไปได้จนกว่าจะมีวัคซีนที่จำเพาะในการป้องกันสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งคาดว่าบริษัทผู้ผลิตวัคซีนน่าจะเร่งวิจัยให้เสร็จประมาณปลาย มี.ค.-เม.ย.2565
- เชื้อตาย 2 เข็ม บูสด้วย mRNA อาจเอาไม่อยู่
ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล โพสผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Manop Pithukpakorn เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 64 โดยระบุว่า ผู้ที่เคยได้ CoronaVac ครบ 2 เข็ม แล้วได้รับ Pfizer vaccine booster เข็มสาม ก็อาจรับมือ Omicron ไม่ได้
ข่าวไม่ดีเท่าไหร่ครับ การศึกษาเผยแพร่ใน preprint เมื่อวานนี้โดยทีมนักวิจัยจาก Yale ทำการทดสอบภูมิคุ้มกันจากประชาชนชาว Dominican ซึ่งได้รับวัคซีนเชื้อตาย CoronaVac 2 เข็ม และได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็มสามเป็น Pfizer vaccine นำมาวัดระดับ antibody และทดสอบ live virus neutralization assay กับเชื้อ original strain, Delta variant และ Omicron variant พบว่าระดับ antibody ของผู้ที่ได้วัคซีน 3 เข็มมีระดับสูงกว่าคนที่ได้ Pfizer vaccine ครบ 2 เข็มเพียง 1.4 เท่า และเมื่อทดสอบ neutralizing antibody กับเชื้อ 3 สายพันธุ์พบว่าระดับ antibody นั้นรับมือ original strain และ Delta ได้ แต่ไม่เพียงพอกับการยับยั้ง Omicron
นอกจากนี้การทดสอบเทียบระหว่างคนที่เคยติดเชื้อมาก่อนกับคนที่ไม่เคยติดเชื้อเลย แล้วได้วัคซีนครบ 3 เข็ม พบว่าระดับ antibody แทบไม่ต่างกัน หมายความว่าการได้รับ CoronaVac + Pfizer booster ไม่เห็น hybrid immunity หรือ super-immune แบบที่เกิดกับการได้รับ mRNA vaccine 3 เข็มที่มีการศึกษามาก่อนหน้านี้
- ไทยอาจต้องปรับแผน บูสเข็ม 4
ผลสรุปจากการศึกษานี้ ทำให้บ้านเราอาจต้องปรับแผน booster เพื่อรับมือ Omicron ใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรทางการแพทย์ที่ส่วนใหญ่ได้วัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม และได้ booster เข็มสาม (ไม่ว่าจะเป็น Pfizer หรือ AZ) ไปนานกว่า 4 เดือนแล้ว จำเป็นต้องรีบฉีดเข็มที่ 4 เป็น mRNA vaccine ส่วนประชาชนที่ได้วัคซีนสูตรที่มีเชื้อตายเป็นส่วนประกอบ (CoronaVac หรือ Sinopharm) อาจจำเป็นต้อง boost ด้วย mRNA vaccine 2 เข็ม แทนที่จะเป็นเข็มเดียวครับ
สำหรับการไม่พบปรากฏการณ์ hybrid immunity/super-immune ในการศึกษานี้ น่าจะเป็นเพราะทราบกันดีว่าวัคซีนเชื้อตาย กระตุ้นภูมิได้ไม่ดี โดยเฉพาะ cellular immunity ซึ่งกระตุ้นได้น้อยมาก ต่างจาก viral vector หรือ mRNA vaccine
- อนุมัติงบ 35,060 ล้านบาท จัดหาวัคซีนปี 2565
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.64 ว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบอนุมัติงบเงินกู้ 35,060 ล้านบาทในการจัดหา "วัคซีนโควิด" ปี 2565 รวม 90 ล้านโดส แบ่งเป็นไฟเซอร์ (Pfizer) 30 ล้านโดส และ แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) 60 ล้านโดส
ขณะที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึง แผน "ฉีดวัคซีนโควิด" ปี 2565 โดยที่ประชุม EOC ของ สธ.สรุปเอาไว้เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2564 ที่ผ่านมาว่า
- คนที่ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อนกรณีผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไปสามารถฉีดได้ทุกสูตร
- อายุ 12-17 ปีให้ใช้สูตรไฟเซอร์ (Pfizer) 2 เข็ม
- ผู้ที่มาฉีดเข็ม 2 เป็นไปตามกำหนด
- คนฉีดกระตุ้นเข็ม 3 กรณีที่ได้รับวัคซีนสูตรไขว้ ซิโนแวค+แอสตร้าเซนเนก้า ครบในเดือน ส.ค.- ต.ค.2564 ให้กระตุ้นด้วย แอสตร้าเซนเนก้าเป็นหลัก ส่วนผู้ที่ฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มในเดือน ส.ค. - ต.ค.2564 ให้พิจารณาฉีดไฟเซอร์เป็นหลัก
- ผู้ที่ฉีดเชื้อตาย 2 เข็มตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไปให้พิจารณากระตุ้นด้วย แอสตร้าเซนเนก้าเป็นหลัก
- ผู้ที่เคยติดเชื้อและต้องการรับเข็มกระตุ้นให้ฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มกระตุ้น ในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนไม่ครบเกณฑ์หรือครบตามเกณฑ์น้อยกว่า 2 สัปดาห์ก่อนการติดเชื้อ ทั้งนี้ ให้บริหารจัดการตามวัคซีนที่มีในพื้นที่
ส่วนแนวทางการเร่งรัดฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้มอบทุกจังหวัดเร่งรัดฉีดประชากรทุกสัญชาติให้เข้ารับวัคซีน เน้นกลุ่มเป้าหมายที่เข้าถึงยาก เช่น ประมง ผู้ป่วยติดเตียง พื้นที่ทุรกันดาร แรงงานตามแนวชายแดน เป็นต้น
- 5 อาการ “โอมิครอน”
องค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีนกาวี (Gavil) สรุปอาการที่พบโดยกลุ่มแพทย์ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในแอฟริกาใต้ มีทั้งหมด 5 อาการคือ
- เจ็บคอ
- ปวดกล้ามเนื้อเล็กน้อย
- เหนื่อยมากกว่าปกติ
- ไอแห้ง
- เหงื่อออกตอนกลางคืนแม้นอนในห้องอากาศเย็น
- รักษาอย่างไร
- เตียงรองรับ 1.7 แสนเตียง
ขณะเดียวกัน ความกังวลว่าหลังปีใหม่จะมีการระบาดเพิ่มมากขึ้น นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าว เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.64 ว่า อัตราการใช้เตียงของประเทศ ขอให้ประชาชนมั่นใจ ขณะนี้ มีเตียงทุกระดับรวมราว 1.7 แสนเตียง อัตราการครองเตียงปัจจุบันอยู่ที่ 13.7 % ว่างอีก 153,767 เตียง แยกเป็น เตียงระดับ 3 สีแดง ทั้งหมดราว 5,000 เตียง อัตราครองเตียงปัจจุบัน 31.6 % เตียงระดับ 2 สีเหลือง ทั้งหมดราว 60,000 เตียง อัตราครองเตียงปัจจุบัน 25.6 % และเตียงระดับ 1 สีเขียว ทั้งหมดราว 1.12 แสนเตียง อัตราครองเตียงปัจจุบัน 6.4% ซึ่งเตียงสีเขียวสามารถเพิ่มได้ในระยะอันสั้น
- สำรองยา ฟาวิฯ 15 ล้านเม็ด
ส่วนการสำรองยา ณ วันที่ 25 ธ.ค.2564 มี ยาฟาวิพิราเวียร์สำรองประมาณกว่า 15 ล้านเม็ด อัตราใช้ปัจจุบันอยู่ที่ราว 1.8 แสนเม็ดต่อสัปดาห์ ซึ่งประมาณการใช้ได้อย่างน้อย 2 เดือน แต่หากมีสถานการณ์ที่ต้องการยา องค์การเภสัชกรรม(อภ.) มีการสำรองวัตถุดิบและสามารถผลิตยาได้อีก 60 ล้านเม็ด นอกจากนี้ มียาเรมเดซิเวียร์ สำรองไว้อีกกว่า 44,000 ไวอัล