ลุ้นมาตรการ "ศบค." ตั้งสติรับ "โอมิครอน"
สถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อ ? เมื่อการระบาดของ "โควิด" สายพันธุ์ "โอมิครอน" ในประเทศไทยเริ่มมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จนกระทรวงสาธารณสุขต้องยกระดับการเตือนประชาชนมาอยู่ที่ระดับ 4 จาก 5 ระดับ
วันนี้ (7 ม.ค.) ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. มีกำหนดประชุมพิจารณามาตรการคุมการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งต้องลุ้นระทึกเพราะเมื่อวานนี้ (6 ม.ค.) ไทยรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5,775 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 11 ราย และแนวโน้มการระบาดของโรคนั้นมีสูงขึ้น จากการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ “โอมิครอน”
ถึงขนาดที่กระทรวงสาธารณสุขต้องยกระดับการเตือนประชาชนจากเดิมระดับ 3 มาอยู่ที่ ระดับ 4 จากทั้งหมด 5 ระดับ ระดับ 4 หมายถึง ทุกคนงดไปรับประทานร่วม/ดื่มสุราในร้าน งดเข้าสถานที่เสี่ยงทุกประเภท เลี่ยงเข้าใกล้ผู้อื่นนอกบ้าน งดร่วมกิจกรรมกลุ่ม งดโดยสารขนส่งสาธารณะทุกประเภท งดไปต่างประเทศ เข้าประเทศกักตัว
ส่วนระดับ 5 (ที่ สธ.ยังไม่ยกระดับไปถึงจุดนั้น) หมายถึง ทุกคนงดออกนอกบ้าน หากจำเป็นเพื่อการดำรงชีวิต เช่น ตรวจ รักษา ซื้ออาหาร ของใช้ งดรวมกลุ่มมากกว่า 5 คน งดใกล้ชิดกันในบ้าน (ผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน) งดออกนอกบ้าน หากจำเป็นให้ใช้รถส่วนตัวและคัดกรอง ห้ามไปต่างประเทศ และเข้าประเทศกักตัว
เมื่อสถานการณ์ออกมาในรูปแบบนี้หลายคนจึงกลัวกันมากว่า หรือเราอาจจะต้องถูก “ล็อกดาวน์” เพื่อสกัดโอมิครอน แน่นอนว่านั่นย่อมเป็นฝันร้ายต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย หอการค้าไทยออกมาส่งเสียงเตือนไม่เห็นด้วยกับการล็อกดาวน์ประเทศ อยากให้มีการพิจารณาถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่รอบด้าน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว
หากตั้งสติพิจารณาข้อเท็จจริงในเมื่อสายพันธุ์โอมิครอนระบาดได้รวดเร็ว และคนไทยเพิ่งกลับจากเฉลิมฉลองปีใหม่ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวเลขการติดเชื้อย่อมพุ่งสูงขึ้นเป็นธรรมดา ในเมื่อมนุษย์เป็นสัตว์สังคม คนเราไม่ได้เกิดจากกระบอกไม้ไผ่ เทศกาลปีใหม่ย่อมต้องกลับบ้านไปเยี่ยมพ่อแม่ญาติพี่น้องเป็นปกติวิสัย ก็ไหนสังคมไทยยกย่องความกตัญญู การที่ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาแล้วติดโควิดไม่ควรเป็นเหตุให้ถูกกล่าวโทษ
สิ่งที่พิจารณาต่อไปคือ สองวันนี้มีข้อมูลระดับโลกออกมาทำนองเดียวกันจากองค์การอนามัยโลกและนายแพทย์แอนโทนี เฟาซี ที่ปรึกษาการแพทย์ทำเนียบขาว มีข้อมูลบ่งชี้มากขึ้นเรื่อยๆ ว่าสายพันธุ์โอมิครอนไม่รุนแรงเท่า "สายพันธุ์เดลตา" แต่ก็ยังต้องรอข้อมูลเพิ่มเติมจากนานาประเทศ
แน่นอนว่า องค์กรระดับองค์การอนามัยโลก และบุคลากรระดับที่ปรึกษาทำเนียบขาวไม่มีทางฟันธงว่า โอมิครอนไม่ร้ายแรง มีแต่จะเตือนให้รอข้อมูลเพิ่มเติม แต่การที่โลกอยู่กับโควิด-19 มาสองปีเต็มแล้ว
ถึงวันนี้ผู้กำหนดนโยบายควรเข้าใจได้แล้วว่า การรับมือโควิดคงไม่มีอะไรมากไปกว่าฉีดวัคซีน สวมหน้ากาก เว้นระยะ ดูแลมือให้สะอาด ป้องกันไม่ให้โรงพยาบาลเต็มระบบสาธารณสุขล่มอย่างที่เคยเกิดขึ้นในหลายประเทศจากการระบาดระลอกก่อนหน้า หากวางแผนรับมือไว้ได้เป็นขั้นเป็นตอน เหมือนอย่างที่รูปแบบการระบาดของโควิดออกมาในแบบเดิมๆ ตามวงจร เมื่อนั้นการล็อกดาวน์ก็ไม่จำเป็น และการดูแลสุขภาพพร้อมๆ กับเดินหน้าเศรษฐกิจจึงไม่ใช่เรื่องที่ทำไม่ได้