“วันเด็ก 2565” สังคมมีส่วนรับผิดชอบต่อ “ความรุนแรงในเด็ก” แค่ไหน?
เมื่อ “บ้าน" กลายเป็นสถานที่ที่เกิดความรุนแรงในครอบครัวมากที่สุด “วันเด็ก 2565” ชวนมาย้อนดูสถิติความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กไทย
สุขสันต์วันเด็ก2565 อีกครั้ง ในปีนี้เด็กไทยได้รับ "คำขวัญวันเด็ก" จากนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ความว่า “รู้คิด รอบคอบ รับผิดชอบต่อสังคม”
"วันเด็กแห่งชาติ" เกิดจากนโยบายขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่เริ่มจัดงานวันเด็กครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2498 โดยประเทศไทยก็เป็น 1 ใน 40 ประเทศที่มีการกำหนดวันเด็กแห่งชาติขึ้นมา และให้ความสำคัญกับเด็กไม่น้อยหน้าเรื่องอื่นๆ แต่เชื่อไหมว่าปัญหาหนึ่งที่ไม่เคยหายไปจากเด็กไทยเลย และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คือ ‘ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็ก’
- ย้อนดูสถิติความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กไทย
หากใครได้ติดตามข่าวสาร ข่าวใหญ่ต้อนรับปีเสือ65 นอกจากการระบาดของโอมิครอนแล้ว อีกข่าวที่มาแรงไม่แพ้กันก็คือคดีเด็กเสียชีวิตจากการกระทำของบุคคลในครอบครัว โดยก่อนหน้านี้ในปี 2564 ประเด็นเด็กถูกทำร้ายทั้งร่างกาย และจิตใจปรากฏอยู่บนหน้าสื่อหลายครั้ง
ปัญหาการ ใช้ความรุนแรงต่อเด็ก จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุข ในแต่ละปีมีเด็กมากกว่า 10,000 คน เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยสาเหตุการตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง โดยเฉพาะความรุนแรงทางเพศ และจากข้อมูลของ UNICEF พบว่า 3 ใน 4 ของเด็กในช่วงอายุระหว่าง 1 - 14 ปี เคยถูกลงโทษทางร่างกายหรือจิตใจโดยสมาชิกครอบครัว
โดยเด็ก 4.2 คนใน 100 คน เคยถูกลงโทษทางร่างกายในระดับรุนแรง เด็กโดยเฉลี่ย 52 คน ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ ทางกาย หรือทางใจ ถูกทอดทิ้ง หรือถูกนำไปแสวงหาผลประโยชน์ มีเด็กตกเป็นเหยื่อในลักษณะเหล่านี้คิดเป็นประมาณ 2 คนต่อหนึ่งชั่วโมง
สถิติ 16 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2547-2563) พบการใช้ความรุนแรงกับเด็กและต้องนำส่งเด็กเข้าไปยังศูนย์พึ่งได้รพ.ตร. จำนวนกว่า 1,307 ราย อีกทั้งพบว่าความรุนแรงต่อเด็กยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลทั้งหมดนี้ยังไม่นับรวมจำนวนเด็กที่เข้าไม่ถึงการช่วยเหลือ หรือไม่กล้าขอความช่วยเหลือ
ทั้งนี้นิยามของ ความรุนแรงในครอบครัว คือการทำร้ายร่างกายหรือสุขภาพของคนในครอบครัว หรือบังคับ ข่มเหงให้กระทำความผิด ส่งผลให้ครอบครัวขาดความอบอุ่น สภาพแวดล้อมไม่ดี ติดการพนัน ทะเลาะวิวาท ติดสุรา ยาเสพติด และมีความเครียดทางเศรษฐกิจ บุคคลที่พบเจอกับความรุนแรงในครอบครัว ได้แก่ คู่สมรส พ่อแม่ พี่น้อง บุตรหรือบุตรบุญธรรม ปู่ย่า ตายาย ญาติ และคนในครอบครัวเช่น หลาน ลูกสะใภ้ ลูกเขย
- ‘บ้าน’ สถานที่แห่งความเปราะบาง
การเกิดวิกฤติโรคระบาด ‘โควิด-19’ ส่งผลให้เกิดมาตรการการกักตัวอยู่ที่บ้านเพื่อลดและป้องกันการติดเชื้อไวรัสนั้น แต่อีกด้านหนึ่งคือการเพิ่มความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในครอบครัวอย่างน่ากังวล
สำหรับประเทศไทย สถิติในช่วงล็อคดาวน์ระลอก1 เดือนมกราคม - มีนาคม ปี 2561 มีความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นกับเด็กและสตรี สูงถึง 83.6% เฉลี่ยมากถึง 5 คนต่อวัน
นอกจากนี้ นิวยอร์กไทม์ยังได้นำเสนอบทความเรื่อง Where Can Domestic Violence Victims Turn During Covid-19? ที่อธิบายว่าความรุนแรงในครอบครัวจะเพิ่มขึ้นในสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 โดยเฉพาะการกักตัวอยู่ใน "บ้าน"
องค์กรยูนิเซฟ (UNICEF) ออกแถลงการณ์ว่าเด็กทั่วโลกหลายร้อยล้านคนกำลังเผชิญความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหลายด้านในช่วงการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น การถูกละเมิด ความรุนแรง การถูกแสวงประโยชน์ การถูกกีดกันจากสังคม รวมถึงการถูกแยกจากผู้ปกครอง
หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองเด็ก องค์การยูนิเซฟ เผยว่า "ตอนนี้ผลกระทบของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ได้แพร่กระจายไปถึงเด็ก ๆ และครอบครัวจำนวนมหาศาล หลายโรงเรียนปิดการเรียนการสอน พ่อแม่ผู้ปกครองต่างพยายามดูแลลูกอย่างเต็มที่ ในขณะความเสี่ยงด้านความรุนแรงและการถูกแสวงประโยชน์ก็มากขึ้น"
ในอดีตที่ผ่านมา พ.ศ. 2557-2559 มีสถิติแรงงานเด็ก เด็กที่ถูกทอดทิ้ง และเด็กที่ถูกกระทำรุนแรงทางเพศ รวมถึงการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นได้พุ่งขึ้นสูงกว่าปกติในช่วงที่มีการปิดโรงเรียนป้องกันเชื้ออีโบล่า และประเทศเซียร์ร่าลีโอน พบอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นสูงถึง 14,000 ราย ซึ่งมากกว่าสองเท่าก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดเชื้ออีโบล่าเช่นกัน
- อย่าปล่อยให้เด็กโดดเดี่ยว
กรณีที่พบเห็นเด็กถูกทำร้ายหรือถูกกระทำด้วยความรุนแรงในที่สาธารณะ มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กแนะนำว่าให้รีบเข้าไปช่วยเหลือเด็กทันทีเพื่อให้การทำร้ายนั้นหยุดลง และเด็กได้รับความปลอดภัย แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเองด้วย หรือกรณีที่เรารู้ว่าเด็กจะถูกทำร้ายในช่วงเวลาไหนบ้าง เช่น เด็กถูกทำร้ายหลังเลิกเรียนทุกวัน เราอาจจะช่วยนำเด็กมาดูแล หรือดึงเด็กออกมาจากสถานที่นั้นในช่วงเวลานั้น เพื่อลดการถูกกระทำของเด็กในเบื้องต้นจนกว่าจะมีหน่วยงานมาช่วยเหลือ
หากว่าเราสงสัยหรือพบเห็นเด็กมีรอยฟกช้ำตามร่างกาย มีบาดแผลที่เกิดจากการกระทำของคน ร้องไห้ด้วยความเจ็บปวดเป็นประจำ เราสามารถช่วยเหลือเด็กได้ด้วยการโทรศัพท์แจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มาช่วยเหลือเด็ก โดยข้อมูลที่ต้องให้แก่เจ้าหน้าที่เบื้องต้นเพื่อเข้ามาช่วยเหลือเด็ก ได้แก่
- เด็กที่ถูกทำร้ายเป็นใคร บ้านอยู่ที่ไหน ใครเป็นคนทำร้าย (ใคร? ทำอะไร? ที่ไหน? อย่างไร?)
- แจ้งชื่อและเบอร์ติดต่อของผู้แจ้ง เพื่อเจ้าหน้าที่ขอรายละเอียดเพิ่มเติม (ข้อมูลของผู้แจ้งจะถูกปิดเป็นความลับเพื่อความปลอดภัย)
เมื่อพบเห็นเด็กที่ถูกทำร้าย โทรแจ้งหรือขอคำปรึกษาได้ที่
- มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก 0-2412-1196
- สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599
- กระทรวงพม. 1300
- มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก 0-2412-1196
- เฟสบุ๊คเพจ Because We Care ศูนย์พึ่งได้โรงพยาบาลตำรวจ
-----------------------------------
อ้างอิง : society.go.th, thaichildrights.org, theasianparent.com,