เช็ค มาตรการ "ศบค." พื้นที่สีส้ม 69 จ. และพื้นที่สีฟ้า
ศบค. สรุปมติที่ประชุม "ปรับมาตรการ" พื้นที่สีส้ม 69 จังหวัด งดดื่มสุราในร้านอาหาร จัดกิจกรรมไม่เกิน 500 คน พื้นที่สีฟ้า นำร่องท่องเที่ยว 8 จังหวัด และ อีก 18 พื้นที่ ขายสุราได้ถึง 3 ทุ่ม เตรียมมาตรกรรองรับการระบาด "โอมิครอน"
วันนี้ (10 ม.ค. 65) ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สรุปมติที่ประชุมศบค. เมื่อวันศุกร์ที่ 7 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยระบุว่า จากที่ประชุมได้มีการปรับพื้นที่สีตามสถานการณ์ทั่วราชอาณาจักร ได้แก่ พื้นที่สีส้ม ใช้มาตรการตามพื้นที่ควบคุม 69 จังหวัด จากเดิม 39 จังหวัดรวมกับพื้นที่เฝ้าระวังสูงอีก 30 จังหวัด ดังนี้
- สามารถเปิดร้านอาหารได้ปกติ สามารถนั่งรับประทานอาหารในร้านได้ แต่ห้ามบริโภคสุรา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน
- การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มไม่เกิน 500 คน
- สถานศึกษาและสถาบันกวดวิชา สามารถใช้อาคารสถานที่จัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ ภายใต้มาตรการป้องกันโรคที่กำหนด
- กรณีร้านเสริมสวย สถานเสริมความงาม ร้านนวด สปา เปิดได้ถึง 24.00 น.
- สนามกีฬาเปิดได้ตามปกติ กีฬาในร่มจำกัดจำนวนผู้ชมไม่เกิน 50% แต่หากเป็นกลางแจ้งจำกัดจำนวนผู้ชมไม่เกิน 75%
- "พื้นที่สีฟ้า" ดื่มสุราไม่เกิน 3 ทุ่ม
ขณะที่ พื้นที่สีฟ้า 8 จังหวัด และอยู่ในจังหวัดต่างๆ อีก 18 พื้นที่ซึ่งใช้มาตรการเดียวกันกับพื้นที่เฝ้าระวัง มีการกำหนดมาตรการเพิ่มเติมในการป้องกันโรค พื้นที่สีฟ้า คือ ร้านอาหารเปิดได้ตามเวลาที่กำหนด แต่จำกัดการบริโภคแอลกอฮอล์ได้ไม่เกิน 21.00 น. และต้องเป็นร้านอาหารที่ผ่านการประเมิน SHA+ หรือประเมิน Thai Stop COVID 2 Plus เท่านั้น
"ต้องขอเน้นย้ำว่าหากมีการฝ่าฝืนเปิดให้บริการโดยไม่ผ่านการประเมินจะถูกสั่งปิด และจะถูกยึดใบอนุญาตชั่วคราว ต้องฝากสมาคมร้านอาหาร สมาคมภัตตาคาร และผู้ประกอบการสถานบันเทิง ฝากดูแลในเรื่องมาตรการช่วยกัน เพราะจะมีหลายร้านปรับรูปแบบมาเป็นร้านอาหารและดำเนินการตามมาตรการอย่างดี แต่ก็ต้องถูกปิดเพราะมีอีกจำนวนหลายร้านที่ทำผิดระเบียบ" พญ.สุมนี กล่าว
- WFH ถึง 31 ม.ค. 65
ข้อสรุปเรื่องที่ 2 คือ มีการขยายเวลา Work From Home จากเดิม 14 วันหลังปีใหม่ ที่ประชุมได้มีมติเพิ่มวัน Work From Home ขึ้นจนถึงวันที่ 31 ม.ค. 65 ทั้งนี้ ต้องไม่กระทบต่อการบริการประชาชนหรือการดำเนินงานขององค์กรนั้นๆ
มีตัวอย่างชัดเจน คือ มีเจ้าหน้าที่ในสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีติดโควิด ซึ่งในรายงานติดไป 3 ราย เมื่อลงสอบสวนเกี่ยวโยงกับการได้รับเชื้อในช่วงปีใหม่ แต่หลังจากที่มีการประกาศ Work From Home พบว่ามีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงไม่เกิน 5 คน ซึ่งทั้งหมด ได้ถูกแยกกัก รักษา เรียบร้อยแล้ว
"เป็นตัวอย่างว่า เป็นความโชคดีที่หน่วยงานได้ทำตามมาตรการ Work From Home ทำให้ไม่มีการระบาดเพิ่มเติมเนื่องจากเจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีจำนวนมากหลายร้อยคน หากมาทำงานเต็มรูปแบบอาจจะพบการติดเชื้อ และสัมผัสเสี่ยงสูงมากกว่านี้"
- ระงับการลงทะเบียน Test and Go
ข้อสรุปเรื่องที่ 3 การยกระดับการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร การเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยว โดยสรุป คือ มีการระงับการลงทะเบียน Test and Go ออกไปก่อน โดยมีการประเมินและพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 15 ม.ค. นี้ ผู้ที่เดินทางเข้ามาในรูปแบบ Test and Go ที่ได้รับอนุมัติไว้แล้วยังคงเดินทางมาในเวลาที่ขออนุมัติไว้จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง โดยจะมีการประเมินสถานการณ์เป็นระยะ
- เปิดแซนด์บ็อกซ์ 3 จังหวัด
สำหรับการเปิดแซนด์บ็อกซ์เพิ่มเติม 3 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎรณ์ธานี (เกาะสมุย เกาะเต่า เกาะพงัน) , กระบี่ และ พังงา เริ่มมีผลเปิดในวันที่ 11 ม.ค. นี้ โดยที่ประชุมศบค. มีมติให้ยกระดับความพร้อมของหน่วยงานเพื่อรองรับสถานการณ์หากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ดังนี้
- มีการตรวจประเมินกิจการที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เช่น กิจการที่เป็นการลักลอบฝ่าฝืน เปิดร้านขายอาหารที่ไม่ทำตามมาตรการป้องกัน ติดตามควบคุมผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาแล้วไม่ปฏิบัติตัวตามมาตรการตามความปลอดภัยของประเทศไทย เช่น ไม่สวมหน้ากากอนามัย
- การยกระดับการรักษาพยาบาล รับแจ้งเหตุผ่านคอลเซ็นเตอร์ ไม่ว่าจะเป็น 1330 หรือสายด่วนต่างๆ รวมทั้งยกระดับคัดกรอง คัดแยกผู้ป่วย ตามอาการ
- การเตรียมความพร้อมการรักษา เน้นการดูแลที่บ้าน Home Isolation ระบบการแยกกักในชุมชน Community Isolation นอกจากนี้ ยังเพิ่มจำนวน ในการดูแลคนไข้กลุ่มนี้เพิ่มเติมในรูปแบบฮอสพิเทล
- รวมถึงยกระดับเตรียมความพร้อมของศูนย์บริหารสถานการณ์ในระดับจังหวัด ในพื้นที่ เพื่อให้มีการตอบสนองการแก้ไขปัญหาในแต่ละพื้นที่ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
- เร่งกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะกลุ่มที่เสี่ยงที่ยังไม่ได้รับวัคซีน และกลุ่มที่ต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ในผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว
- ไทยฉีดวัคซีนแล้ว 106 ล้านโดส
จำนวนการได้รับวัคซีนสะสม (28 ก.พ. - 9 ม.ค. 2565) รวม 106,475,122 โดส ใน 77 จังหวัด แบ่งเป็น
จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 51,514,791 ราย
จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 46,853,598 ราย
จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม : 8,106,733 ราย
- ภาพรวมยอดฉีดวัคซีน วันที่ 9 มกราคม 2565
ยอดฉีดทั่วประเทศ 138,885 โดส
เข็มที่ 1 : 12,766 ราย
เข็มที่ 2 : 32,977 ราย
เข็มที่ 3 : 93,142 ราย
- ทั่วโลกติดเชื้อ 1.8 ล้านราย
สำหรับ สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก ติดเชื้อรายใหม่ 1,852,185 ราย ติดเชื้อสะสม 307,870,543 ราย เสียชีวิต 3,306 ราย คิดเป็นสัดส่วน 1.79% ซึ่งมีแนวโน้มลดลง จำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุดยังคงเป็นสหรัฐอเมริกา และ ยุโรป อาการรุนแรง 93,970 รายรักษาหายแล้ว 259,527,745 ราย เสียชีวิต 5,505,839 ราย
- อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด
1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 61,263,030 ราย
2. อินเดีย จำนวน 35,708,442 ราย
3. บราซิล จำนวน 22,523,907 ราย
4. สหราชอาณาจักร จำนวน 14,475,192 ราย
5. ฝรั่งเศส จำนวน 12,111,218 ราย
ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 25 จำนวน 2,277,476 ราย