ติดโควิด-19 รักษาที่บ้านไม่ต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ทุกราย
กรมการแพทย์เผยอัตราครองเตียงสีเขียวเพิ่ม สีเหลือง-แดงลด ย้ำรักษาที่บ้านเป็นหลัก ไม่ต้องเข้ารพ.ทุกราย ไม่ต้องได้ยาฟาวิพิราเวียร์ทุกราย เหตุโอมิครอน 50% ไม่มีอาการ
เมื่อวันที่ 10 ม.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงสถานการณ์โควิด-19 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อโอมิครอน 50% ไม่มีอาการ ซึ่งอาการโอมิครอนที่พบมาก คือ ไอ 54% เจ็บคอ 37% และไข้ 29% จึงเน้นการดูแลที่บ้านและชุมชน (HI/CI) เป็นหลัก ซึ่งการนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบรักษาพยาบาลมี 3 แบบ คือ 1.มาตรวจที่ รพ. 2. ตรวจที่หน่วยบริการเชิงรุก ซึ่ง 2 แบบนี้หากผลบวกไม่ต้องติดต่อ 1330 โดย รพ.และหน่วยบริการเชิงรุกจะประเมินอาการ และ 3.การตรวจ ATK ด้วยตนเอง หากผลบวกให้โทร 1330 ช่องทางที่ สปสช.เตรียมไว้ รวมถึงปลัด สธ.ยังสั่งการให้ทุกจังหวัดจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการจังหวัด เพื่อเป็นอีกช่องทางรองรับผู้ที่มีผลตรวจ ATK เป็นบวกในการติดต่อด้วย
กรณีผลตรวจ ATK เป็นลบ แต่ยังมีอาการทางเดินหายใจให้ตรวจ ATK อีกครั้ง หากผลยังเป็นลบอยู่และมีอาการมากก็ให้ไปตรวจซ้ำที่คลินิกไข้หวัด รพ.ใกล้บ้าน แต่ผลลบไม่มีอาการ เป็นกลุ่มสัมผัสเสี่ยงต่ำก็เน้นการป้องกันตนเอง ถ้าเป็นกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงให้กักตัวเอง
"เมื่อได้รับการประเมินอาการ หากไม่มีอาการหรืออาการไม่มาก ก็จะให้ดูแลที่บ้าน (HI) ซึ่งหากสายด่วน 1330 กระจายผู้ติดเชื้อให้คลินิกหรือ รพ.แห่งใด ขอให้ติดต่อผู้ติดเชื้อกลับใน 6 ชั่วโมง แต่ต้องโทรภายใน 15.00 น. อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถทำ HI ได้หรือไม่สะดวกก็จะให้ไปดูแลที่ชุมชน (CI) ถ้าประเมินแล้วมีอาการมากหรือหากทำ HI CI แล้วอาการมากขึ้น จะมีการประเมินและจะส่งต่อผู้ป่วยไปยังฮอสพิเทล รพ.สนาม หรือรพ.หลักต่อไป ซึ่งภาพรวมใช้เวลารักษา 10 วัน ไม่ว่าจะฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีนก็กลับบ้านได้" นพ.สมศักดิ์กล่าว
นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า อัตราการครองเตียง ซึ่งทั่วประเทศมีเตียงประมาณ 1.78 แสนเตียง ภาพรวมช่วงต้น ม.ค.มีการครองเตียงเพิ่มขึ้นจากช่วงวันที่ 31 ธ.ค. 2564 โดยภาพรวมประเทศช่วงสิ้นปีมีการครองเตียง 11% ช่วงวันที่ 9 ม.ค.65 เพิ่มเป็น 22.7% ส่วน กทม. สิ้นปีอยู่ที่ 12.2% วันที่ 9 ม.ค.65 เพิ่มเป็น 30.7% แต่เตียงสีเหลืองและสีแดงมีการครองเตียงลดลง ที่เพิ่มขึ้นคือ เตียงสีเขียว ดังนั้น จึงขอความร่วมมือใช้ HI /CIในการดูแลผู้ติดเชื้อก่อน แต่ที่ต้องมีเตียงสีเขียวไว้ เพื่อรองรับ เช่น กรณีผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 1 ปี หรือสูงอายุ 80-90 ปี ที่หากติดเชื้อแล้วอาจมีอาการเปลี่ยนแปลงเร็ว แพทย์อาจขอให้เข้ารักษาใน รพ.ไว้ก่อน ซึ่งแพทย์จะพิจารณาประเมินเป็นรายๆ
“หากติดเชื้อแล้วดูแลด้วย HI/CI First จะทำให้เตียงเพียงพอ ซึ่งระบบ HI จะมีการส่งอาหารและยาตามแนวทางการรักษา โดยฉบับล่าสุด หากไม่มีอาการ แพทย์จะยังไม่ให้ยา แต่ถ้าเริ่มมีอาการจะจ่ายฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเมื่อให้หลังมีอาการไม่เกิน 3-4 วันยังได้ผลดี”นพ.สมศักดิ์ กล่าว
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ประชาชนที่มีผลตรวจโควิด-19 เป็นบวก ทั้งจากการตรวจด้วย ATK หรือโดยหน่วยบริการ และยังไม่เข้าสู่ระบบการรักษา สามารถติดต่อเข้าสู่ระบบการรักษาได้ 3 ช่องทาง ได้แก่ สายด่วน 1330 ต่อ 14 ตลอด 24 ชั่วโมง, เวบไซต์ สปสช. www.nhso.go.th เพื่อกรอกข้อมูลและแจ้งหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อกลับ และแอพพลิเคชั่นไลน์ โดยการเพิ่มเพื่อน @nhso ซึ่งทั้ง 3 ช่องทางจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับภายใน 6 ชั่วโมง เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษา หากไม่มีข้อห้าม เช่น ไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ไม่ได้รับวัคซีน หรือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมอาการได้ จะได้รับคำแนะนำให้เข้าระบบการรักษาแบบ HI และ CI โดยจะมีการติดตามอาการโดยบุคลากรทางการแพทย์ และนำอาหารวันละ 3 สามมื้อ ,ยาที่จำเป็น, อุปกรณ์ เครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดออกซิเจน ใช้เวลาในการรักษาตัว ประมาณ 10 วัน ระหว่างรักษาตัวหากผู้ติดเชื้อมีอาการเปลี่ยนแปลง จะนำเข้าสู่ระบบรักษาในขั้นตอนต่อไป
ทั้งนี้ ระบบสายด่วน 1330 รองรับสายเข้าพร้อมกันได้ทั้งหมด 3,000 สาย มีเจ้าหน้าที่รับสายจำนวน 300 คน ตลอด 24 ชั่วโมง โดยในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีคนโทรเข้าสายด่วน 1330 จำนวนกว่า 8,000 ราย โดยเป็นการขอรับบริการและประสานการรักษา 1,054 ราย และขณะนี้เตรียมจะมีการทดสอบระบบสายด่วนว่าหากมีคนโทรเข้ามาวันละ 20,000 คน ระบบจะรองรับได้หรือไม่
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์