ผ่าแผนรับมือ "โอมิครอน" สกัด "โควิด" ระบาด กทม.ระลอกใหม่
เช็คมาตรการ กทม.หน่วยงานที่กุมความรับผิดชอบต่อชีวิตคนกรุงเทพฯ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส "โควิด" ตั้งแต่ต้นปี 2565 ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังไม่หยุดนิ่ง
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ "โอมิครอน" ในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้มากขึ้น ทำให้ขณะนี้หน่วยงานกรุงเทพมหานคร (กทม.) กำลังยกระดับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดให้ควบคุมโดยเร็วที่สุด
โดยเฉพาะจุดเสี่ยง "คลัสเตอร์" รวมตัวผู้คนจำนวนมาก เน้นไปที่สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับบาร์ คาราโอเกะ ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว(สีฟ้า) 8 จังหวัด ตามประกาศ ศบค.เมื่อวันที่ 7 ม.ค.2565 ซึ่งขณะนี้กทม.กำลังเร่งเตรียมความพร้อม "ระบบ" เตรียมรับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาดระลอกใหม่ ที่ส่วนใหญ่มาจากสายพันธุ์ "โอมิครอน"
จากตัวเลขการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในเดือน ส.ค.2564 ซึ่งในกรุงเทพฯ เคยพบผู้ป่วยต่อวันไม่ต่ำกว่า 5 พันคน กำลังเป็นบททดสอบหน่วยงาน กทม.จะพร้อมรับมือกับสถานการณ์ขณะนี้ได้อีกหรือไม่ สำหรับระบบบริหารจัดการผู้ติดเชื้อตั้งแต่ต้นทางจนถึงเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล
เน้นไปที่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อ "ช่องทาง" รับแจ้งผู้ป่วยซึ่งเป็นคอขวดที่ทำให้ผู้ติดเชื้อได้รับการรักษาช้ากว่าที่ควรจะเป็น ทำให้ขณะนี้ กทม.กำลังปัดฝุ่นมาตรการดูแลทั้งระบบไม่ให้กลับไปรุนแรงสถานการณ์ในปี 2564 โดย "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" รวบรวมมาตรการของ กทม.ที่ออกมาได้ดังนี้
1.เตรียมความพร้อมบุคลากร สำรองเตียงพยาบาล ยาเวชภัณฑ์ เครื่องมือทางการแพทย์ และระบบสาธารณสุขของหน่วยงานในสังกัด
2.ลดการรอคอย "ผู้ป่วย" ไม่ให้เกิน 6 ชั่วโมง หรืออย่างช้าภายใน 12 ชั่วโมง ต้องได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ เพื่อประเมินอาการเบื้องต้น หากผู้ติดเชื้อได้รับการจับคู่ดูแลกับสถานพยาบาลแล้ว กรณีผู้ติดเชื้อมีอาการไม่รุนแรงจะรักษาตัวสถานที่แยกกัก โดยมีเครื่องวัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ยาฟ้าทะลายโจร และยาพื้นฐานอื่นๆ เตรียมดูแลผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง
แต่ในกรณีที่ผู้ติดเชื้อมีอาการเปลี่ยนแปลง ต้องแจ้งสถานพยาบาลที่ดูแล เพื่อขอรับยาต้านไวรัส "ฟาวิพิราเวียร์" หรือเข้าส่ง "ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ" หรือส่งไปยังโรงพยาบาลสนาม หรือส่งต่อรักษาในโรงพยาบาลตามระดับความรุนแรงของอาการ
3.มอบหมาย 50 สำนักงานเขต เตรียมพร้อม "ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินสำนักงานเขต" และร่วมกับทุกหน่วยงานเพื่อเตรียมแผนเผชิญเหตุ เตรียมระบบคัดกรองและแยกผู้ป่วย และเตรียมเปิดให้บริการรับแจ้งเหตุผู้ป่วยโควิด เข้าสู่ระบบการรักษาทาง "สายด่วนโควิด" ของสำนักงานเขตทั้ง 50 เขตให้กลับมาใช้งานอีกครั้ง
4.เปิดช่องทางการ "แจ้งข้อมูล" ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด เพื่อให้ประชาชนเข้าสู่ระบบการรักษาให้เร็วที่สุด ผ่าน สายด่วนศูนย์เอราวัณสำนักการแพทย์ โทร.1669 จำนวน 60 คู่สาย และไลน์ @BKKCOVID19CONNECT (shorturl.asia/afk0S) โดยช่องทางเหล่านี้จะมีระบบคัดกรองประเมินอาการผู้ป่วยเบื้องต้น มีทีมแพทย์ให้คำปรึกษาเพื่อดูแลตนเอง หรือส่งต่อผู้ป่วยเข้าระบบ Home Isolation หรือส่งต่อผู้ป่วยเข้าศูนย์พักคอย รวมทั้งการหาเตียงใน Hospitel หรือโรงพยาบาลสนาม ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการหนัก (ผู้ป่วยสีแดง) จะถูกส่งต่อไปที่ศูนย์เอราวัณ เพื่อนำส่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
5.เตรียมพร้อม "ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ" เบื้องต้น 41 แห่ง รวม 5,158 เตียง จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม 4 แห่ง โรงพยาบาลสนามประจำกลุ่มเขตทั้ง 6 กลุ่มเขตอีก 7 แห่ง และประสานโรงพยาบาลสังกัดภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีจำนวนเตียงรวมทั้งสิ้น 4,974 เตียงรวมถึงเตรียมพร้อมโรงพยาบาลสนาม และศูนย์พักคอยฯ เพิ่มเติมอีก 25,345 เตียง แบ่งออกเป็น โรงพยาบาลหลัก 2,922 เตียง โรงพยาบาลสนาม 2,898 เตียง และ Hospitel 19,525 เตียง
สำหรับตัวเลขผู้ติดเชื้อ "โควิด" ในกรุงเทพฯ ที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปี 2565 ได้กลับมาขยับสูงอีกครั้ง โดยตั้งแต่วันที่ 1-11 ม.ค.2565 มียอดผู้ติดเชื้อรวม 5,211 ราย แบ่งเป็นดังนี้
1 ม.ค. ติดเชื้อ 339 ราย
2 ม.ค. ติดเชื้อ 366 ราย
3 ม.ค. ติดเชื้อ 358 ราย
4 ม.ค. ติดเชื้อ 376 ราย
5 ม.ค. ติดเชื้อ 408 ราย
6 ม.ค. ติดเชื้อ 454 ราย
7 ม.ค. ติดเชื้อ 456 ราย
8 ม.ค. ติดเชื้อ 669 ราย
9 ม.ค. ติดเชื้อ 598 ราย
10 ม.ค. ติดเชื้อ 534 ราย
11.ม.ค. ติดเชื้อ 593 ราย
ทั้งหมดเป็นมาตรการเตรียมความพร้อมของ กทม. หน่วยงานที่กุมความรับผิดชอบต่อชีวิตคนกรุงเทพฯ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส "โควิด" ที่ยังไม่หยุดนิ่ง.
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์