เปิดยอดเด็กติดโควิด19 พร้อมสูตรฉีดวัคซีนตามช่วงอายุ
ศบค.เปิดข้อมูลเด็กติดโควิด19 พร้อมสูตรวัคซีนในเด็ก ส่วนกลุ่ม 5-11 ปีเริ่มก.พ.นี้ ไม่แนะนำปิดทั้งร.ร. ห่วงสถานการณ์ 8 จ.นำร่องท่องเที่ยวยอดติดเชื้อกระโดดเพิ่มกว่า 500 ราย
เมื่อวันที่ 12 ม.ค.2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล ในการแถลงสถานการณ์โควิด19 พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยโฆษกศบค. กล่าวว่า มีผู้ติดเชื้อใหม่ 7,681 ราย เสียชีวิต 19ราย ซึ่งศบค.ห่วงจังหวัดนำร่องท่องเที่ยวสีฟ้าที่มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาก คือ นนทบุรีและปทุมธานี โดย 3-4 วันก่อนติดเชื้อหลัก 10 ราย กระโดดมาเป็น 3 หลัก และแนวโน้มทิศทางเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงเน้นย้ำมาตรการต่างๆ ในจังหวัดนำร่องท่องเที่ยว
"จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว 8 จังหวัดมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งถ้าเทียบจากเมื่อวาน วันนี้ทั้ง 8 จังหวัดติดเชื้อรวมกันเพิ่มขึ้นมาจากเมื่อวานถึง 507 คน ถือว่าเพิ่มขึ้นมาก จึงเน้นย้ำ 8 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว แม้จะเปิดกิจการกิจกรรมต่างๆ ได้ แต่ต้องกำกับติดตามให้อยู่ภายใต้มาตรการความปลอดภัยจากโรค ทั้ง COVID Free Setting และขอความร่วมมือประชาชน 8 จังหวัดเคร่งครัดมาตรการส่วนบุคคล" พญ.สุมนีกล่าว
ส่วนคลัสเตอร์ที่รายงานวันนี้มากที่สุด คือ ร้านอาหารกึ่งผับกึ่งสถานบันเทิง คือ อุบลราชธานี 26 ราย น่าน 22 ราย อุดรธานี 6 ราย พะเยา 3 ราย ขอนแก่น 6 ราย เชียงใหม่ 26 ราย ศรีสะเกษ 3 ราย , งานสังสรรค์ปีใหม่ อุดรธานี 9 ราย หนองบัวลำภู 6 ราย , โรงงานพบน้อยลง คือ นครพนม 18 ราย , งานบุญ อุบลราชธานี 3 ราย สถานพยาบาลพบใน กทม. ถึง 5 รพ. แม้แต่ละที่เจอผู้ติดเชื้อจำนวนน้อย 2-3 ราย แต่บุคลากรมีความสำคัญมาก หากยังไม่ได้รับการฉีดเข็มกระตุ้นให้รับไปฉีดเข็มกระตุ้นให้มากที่สุด และสถานศึกษา พบ 3 จังหวัด จันทบุรี 6 ราย กทม. 5 ราย และนนทบุรี 2 ราย
"ขณะนี้ลักษณะของโรคลดความรุนแรงลง คนไทยส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานจากวัคซีน ระบบการดูแลรักษาบ้านเรามีความพร้อม มีประสิทธิภาพ อัตราป่วยหนักและเสียชีวิตอยู่ระดับที่ต่ำ ความร่วมมือทุกฝ่าย สถานประกอบการ องค์กร ประชาชน ยังต้องเคร่งครัดมาตรการส่วนบุคคล และ COVID Free Setting ก็จะมีความหวังว่าปีนี้โรคโควิดจะเปลี่ยนจากโรคระบาดมาเป็นโรคประจำถิ่น" พญ.สุมนีกล่าว
พญ.สุมนีกล่าวว่า การจัดการยังต้องเน้นการตรวจคัดกรอง ATK เป็นหลัก หรือ ATK First ไม่ว่าจะร่วมกิจกรรมใดที่คนจำนวนมาก เช่น สัมมนา เรียนหนังสือ ให้คัดกรองด้วย ATK ก่อน ใช้ประจำให้เคยชิน หากผลเป็นบวก ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อเกินครึ่งอาการน้อยหรือไม่มีอาการ ให้โทร.1330 เพื่อเข้าระบบการรักษาตัวที่บ้าน ซึ่งเป็นการจัดการหลักในช่วงนี้ (Home Isolation First) รวมถึงต้องเน้นกระตุ้นคนรับวัคซีนครบ 2 เข็มไปฉีดเข็ม 3 เพิ่มขึ้น โดยยุทธศาสตร์การจัดการโควิดปีนี้ คือ ชะลอการระบาดให้มากที่สุด
การฉีดวัคซีนโควิด 19 วันที่ 11 ม.ค. ฉีดได้ 513,208 โดส โดยเป็นเข็ม 3 มากที่สุด คือ 3.3 แสนโดส นอกจากเร่งรัดเข็มกระตุ้น กลุ่มสำคัญที่ต้องมาฉีดเข็ม 4 คือ บุคลากรทางการแพทย์ เนื่องจากให้บริการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น จะได้มีภูมิคุ้มกันต่อสู้ขณะทำงาน โดยวันนี้รายงานติดเชื้อกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ใน กทม. ซึ่งก่อนหน้านี้มีการติดเชื้อในกลุ่มบุคลากรมาเป็นระยะ
สูตรแนวทางให้วัคซีนโควิด 19 หากไม่ได้รับมาก่อนเลย ในกลุ่มอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป สามารถใช้สูตร แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม , แอสตร้าฯ-ไฟเซอร์ และซิโนแวค-แอสตร้าฯ ส่วนกลุ่มนักเรียนนักศึกษาอายุ 12-17 ปี ใช้สูตรไฟเซอร์ 2 เข็มเป็นหลัก
ส่วนเข็มกระตุ้น กรณีฉีดครบช่วง ส.ค.-ต.ค. 2564 หากรับสูตรไขว้ซิโนแวค-แอสตร้าฯ ให้รับแอสตร้าฯ เป็นหลัก ส่วนรับแอสตร้าฯ 2 เข็ม ให้มากระตุ้นด้วยไฟเซอร์เป็นหลัก กรณีเชื้อตาย 2 เข็ม ไม่ว่าซิโนแวคหรือซิโนฟาร์ม หากครบ 4 สัปดาห์แล้วมารับด้วยแอสตร้าฯ เป็นหลัก
พญ.สุมนี กล่าวอีกว่า ที่ประชุมEOCกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หารือเรื่องการเปิดปิดโรงเรียนและสถานศึกษา จากสถานการณ์การระบาดทำให้มีโรงเรียนและสถาบันการศึกษาปรับการเรียนการสอนจากออนไซต์มาเป็นออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ สธ. มีการประชุมกันและจัดทำมาตรการป้องกันต่างๆ คือ ประเมินสถานศึกษาเตรียมพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน ทำแผนเผชิญเหตุกรณีพบการติดเชื้อของนักเรียน นักศึกษา และบุคลากรในโรงเรียน
ทั้งนี้ การติดเชื้อโควิดข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2564 - 7 ม.ค.2565 โดยข้อมูลวันที่ 7 ม.ค.2565 ที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,526 ราย เป็นกลุ่มอายุ 0-19 ปี จำนวน 1,048 ราย คิดเป็น 13.9% โดย 10 จังหวัดที่นักเรียนอายุ 6-18 ปีติดเชื้อมากที่สุด คือ กทม. ชลบุรี อุบลราชธานี สมุทรปราการ พังงา กาฬสินธุ์ ภูเก็ต ขอนแก่น พัทลุง และร้อยเอ็ด ซึ่งติดเชื้อจากการสัมผัสยืนยัน หากเป็นนักเรียนส่วนใหญ่ติดจากคนในครอบครัว ขณะที่ครูติดจากเพื่อนร่วมงาน
หลักการจัดการป้องกันควบคุมโรคสถานศึกษา มีการชี้แจงจังหวัดต่างๆ ว่า มีการดำเนินการโดย 6 มาตรการหลัก เช่น เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากตลอดเวลา ล้างมือ วัดไข้ ไม่ทำกิจกรรมที่มีคนแออัดจำนวนมาก , 6 มาตรการเสริม เช่น ใช้ช้อนกลางส่วนตัว ลงทะเบียนก่อนเข้าออกสถานศึกษา เป็นต้น และ 7 มาตรการเข้มงวด คือ ประเมินด้วย Thai Stop COVID+ ซึ่งผลการประเมินสถานศึกษา บุคลากรในโรงเรียน และนักเรียน ผ่านเกือบ 100% แล้ว มีการทำแผนเผชิญเหตุ เพื่อใช้ในการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรค ซึ่งมีการส่งไปยังจังหวัดต่างๆ และต้องมีการซักซ้อมสม่ำเสมอ รวมถึง เพิ่มภูมิคุ้มกันบุคลากรในโรงเรียนและครู ซึ่งการเปิดเรียนต้องรับวัคซีนเกิน 75% ส่วนนักเรียนเราฉีดให้แก่อายุ 12 ปีขึ้นไป ดำเนินการไปแล้ว และเวลาจะเข้าไปเรียนมีการคัดกรองตรวจด้วย ATK เป็นระยะ
"แผนเผชิญเหตุ อาทิ ถ้าพบนักเรียนหรือครูติดเชื้อ 1 คนดำเนินการอย่างไรต่อ เช่น สอบสวนโรค ปิดห้องเรียนนั้น 3 วันเป็นต้น การเจอผู้ติดเชื้อ 1-2 คนหรือเท่าไร ไม่จำเป็นต้องปิดเรียนทั้งโรงเรียน ดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุ ซึ่งการปิดทั้งโรงเรียนจะทำให้เกิดผลกระทบต่อการศึกษาของเด็กหรือนักศึกษา ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมามีผลกระทบอย่างมาก การจัดการในโรงเรียนสถานศึกษาขอให้ คณะกรรมการโรคติดต่อ กทม./จังหวัด ประชาสัมพันธ์ ทำแผนเผชิญเหตุให้ ร.ร.ทุกพื้นที่ทั้งภาครัฐ เอกชน และรูปแบบประเภทต่างๆ ให้เข้าใจควบคุมโรคตรงกันและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์" พญ.สุมนีกล่าว
พญ.สุมนี กล่าวว่า ส่วนข้อมูลการฉีดวัคซีนในกลุ่มอายุ 12 ปี-17ปี จำนวน 5 ล้านกว่าคน แจ้งประสงค์รับวัคซีน 4.3 ล้านกว่าคน คิดเป็น 83.85% รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว 95% ฉีดครบโดส 70.43% ข้อมูลตามรายภาค พบว่า ภาคกลางครบโดส 68% อีสาน 65.98% ภาคใต้ 73.42% ภาคเหนือ 82.24% ภาคตะวันออก 75.26% และภาคตะวันตก 76.24%
ส่วนวัคซีนในเด็กอายุ 5-11 ปี สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ในกลุ่มอายุ 5-11 ปี แต่วัคซีนจะต่างจากที่ใช้ในผู้ใหญ่ โดยวัคซีนในเด็กจะมีฝาสีส้ม ขนาด 10 ไมโครกรัมต่อโดส ส่วนผู้ใหญ่ฝาสีม่วง ขนาด 30 ไมโครกรัมโดส ไม่สามารถเอาโดสของผู้ใหญ่มาแบ่ง 3 โดส เป็นอย่างละ 10 ไมโครกรัมมาฉีดให้เด็กได้ หรือไม่สามารถใช้แทนกันได้ เด็กต้องใช้เฉพาะของเด็กเท่านั้น ส่วนผู้ใหญ่หรือเด็กโตขึ้นไปใช้ 30 ไมโครกรัม ซึ่งวัคซีนโดสเด็กมีการสั่งเข้ามาแล้ว จะเริ่มทยอยเข้ามาปลายเดือนนี้หรือใน ก.พ. ถือว่าเร็วมาก เพราะโดสเด็กเป็นที่ต้องการของทั่วโลก ประเทศเรานำเข้ามาถือว่าเป็นอันดับ 2 ที่ได้วัคซีนเด็กในทวีปเอเชีย ตอนนี้มีการเตรียมแผนการฉีดเด็กอายุ 5-11 ปีแล้ว เตรียมการฉีดเป็น School Base ไล่ตามอายุลงมาจาก 11 ปี 10 ปี 9 ปีลงมา
สำหรับวัคซีนเชื้อตายสำหรับเด็ก ทั้ง 2 ยี่ห้อ คือ ซิโนแวคและซิโนฟาร์ม อย.กำลังเร่งขึ้นทะเบียนอยู่ รอผ่านมติอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน ซึ่งดำเนินการควบคู่กันอยู่ หากผ่านแล้ว ผู้ปกครองก็เลือกสูตรฉีดบุตรหลานได้ตามสมัครใจ