อุตสาหกรรม "ปูนซีเมนต์" ยั่งยืน ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม เติบโตไปพร้อมชุมชน
แม้การผลิต "ปูนซีเมนต์" จะมีส่วนให้เกิด "ก๊าซเรือนกระจก" แต่ปัจจุบัน "กลุ่มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์" ภายใต้ “สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย” ได้ร่วมพัฒนานวัตกรรม “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” ลดการปล่อยคาร์บอน รวมถึงดูแลสิ่งแวดล้อม ชุมชน ให้เติบโตไปพร้อมกัน
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2559-2563) ความต้องการใช้ ปูนซีเมนต์ ในประเทศอยู่ที่ประมาณ 30 – 35 ล้านตันต่อปี คิดเป็น 50 – 60% ของกำลังการผลิตโดยรวม ขณะเดียวกัน ธุรกิจซีเมนต์ ถือเป็นส่วนหนึ่งในการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากใช้พลังงานมาก การผลิตปูนซีเมนต์ 1 ตัน ปล่อยคาร์บอนถึง 900-1,000 กิโลกรัมคาร์บอน การใช้นวัตกรรม คำนึกถึงชุมชนและสิ่งแวดล้อม จึงมีส่วนสำคัญในการลดผลกระทบ
กลุ่มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ของไทย ซึ่งมุ่งเน้นสนับสนุนการพัฒนาเติบโตของประเทศเป็นหลัก เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ต้องปรับตัวให้ก้าวข้ามความท้าทายหลายประการที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การแข่งขัน เทคโนโลยี การพัฒนานวัตกรรม การสนองตอบความต้องการของผู้บริโภค รวมไปถึงด้านทรัพยากร ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม ชุมชน ด้านกฎหมายและระเบียบ เป็นต้น
เพื่อให้อุตสาหกรรมดำเนินการอย่างยั่งยืน ในปี 2549 มีการก่อตั้ง “สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย” เพื่อเชื่อมโยง ส่งเสริมการร่วมมือระหว่างผู้ผลิตของไทย ยกระดับให้ทัดเทียมกับระดับโลก เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างยั่งยืน และสอดคล้องกับทิศทางขับเคลื่อนประเทศ โดยปัจจุบันมีสมาชิก 7 ราย โรงงานทั่วประเทศ 12 แห่ง กำลังการผลิตรวม 60 ล้านตัน
“ชนะ ภูมี” นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เปิดเผยว่า จากการประชุม COP26 ที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่ดีในการเคาะบ้านเราว่าอาจจะต้องเร่งมือในส่วนที่เราเคยทำได้ดีให้เดินหน้าได้เร็วขึ้น เนื่องจากพื้นฐานอุตสาหกรรมซีเมนต์เป็นพื้นฐานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในสารสนับสนุนอุตสาหกรรมภาครัฐ การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวทาง “ESG” หรือสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) สมาคมฯ ทำงานควบคู่กันกับการดำเนินธุรกิจ
ในปี 2564 อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน (Global Warming) ส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกวิจัย พัฒนา และนําเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตปูนซีเมนต์ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่าง “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” ลดการปล่อยคาร์บอนเหลือ 871 กิโลกรัมคาร์บอน ตาม มอก. 2594
ภายใต้ “บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการบูรณาการความร่วมมือในการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อประเทศไทยบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก : มาตรการทดแทนปูนเม็ด” ระหว่าง 19 หน่วยงาน โดยการสนับสนุนของ 5 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ความร่วมมือครอบคลุมตั้งแต่การวิจัยพัฒนา การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต การปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์และกฏระเบียบที่เกี่ยวข้อง การสร้างความรู้ความเข้าใจ การส่งเสริมใช้งาน ตลอดจนการรายงานผลและการทวนสอบ เป็นต้น สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 300,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ จากมาตรการทดแทนปูนเม็ด เทียบเท่าปลูกต้นไม้กว่า 31 ล้านต้น เร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 2565
ถัดมา คือ พัฒนาเหมืองหินปูนสู่ความยั่งยืน “เขาวงโมเดล” และ “แก่งคอยโมเดล” ได้รับความเห็นชอบในร่างแผนผังโครงการจากภาครัฐ เป็นต้นแบบการทำเหมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ อนาคตเป็นแหล่งน้ำและจุดเรียนรู้สำหรับชุมชน
“สมาคมฯ ส่งเสริมให้สมาชิกดำเนินงานตามแนวทางเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining) ด้วยการทำเหมืองให้ถูกต้องและปลอดภัยตามหลักวิชาการที่เกี่ยวข้อง นำวัตถุดิบมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าตามนโยบายภาครัฐ ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ควบคู่กับการบริหารจัดการพัฒนาพื้นที่ ดูแลสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน และที่สำคัญเปิดโอกาสให้ชุมชนและสังคมมีส่วนร่วมตลอดกระบวนการ”
ปัจจุบันแนวทางการฟื้นฟูเหมืองได้ปรับให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ และคำนึงถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยวางแผนและดำเนินการฟื้นฟูอย่างเป็นระบบ ตลอดกระบวนการดำเนินงานของเหมือง และคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่ได้จากการฟื้นฟูเหมือง และสอดคล้องกับ การดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนโดยรอบพื้นที่
นอกจากนี้ ยัง “สร้าง Ecosystem สำหรับการจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว” (Waste) สนับสนุนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ลดการเกิดของเสียและผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมและเพิ่มผลกระทบเชิงบวกต่อระบบเศรษฐกิจด้วยการบริหารจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้วอย่างเหมาะสมตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยทางสมาคมฯ มีนโยบายส่งเสริมสมาชิกจัดการ Waste อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ด้วยการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตลอดกระบวนการ
ยกตัวอย่าง สมาชิกของสมาคมฯ มีการเซ็น MOU กับกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย รับใบอ้อยเป็นเชื้อเพลิงทางเลือก เพิ่มรายได้เกษตรกร ลดการเผาปี 2564 เกิน 75% และตั้งเป้าปีนี้ลดให้ได้ 90% ปัจจุบันอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ได้นำของเหลือทิ้งทั้งจากภาคอุตสาหกรรม ชุมชน และการเกษตร มากกว่า 1.5 ล้านตันต่อปี มาเป็นเชื้อเพลิงในเตาเผาปูนซีเมนต์แบบ Co-processing รวมทั้งใช้จัดการขยะติดเชื้อโควิด-19 ที่ จ.นครศรีธรรมราชอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีแนวทางที่จะศึกษาความเป็นไปได้ในนำเศษคอนกรีตที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างและรื้อถอน (Demolition Waste) มาใช้ประโยชน์อีกด้วย โดยการดำเนินงานลักษณะนี้ เป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด สอดคล้องตามนโยบาย BCG ของภาครัฐ ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน และเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกทางหนึ่ง
สำหรับเป้าหมายต่อไป ทางสมาคมฯ ยังคงมุ่งเดินหน้าดำเนินการเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกตลอดทั้งกระบวนการผลิต การทำเหมืองตามแนวทาง Green Mining ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ควบคู่การดูแลชุมชนโดยผนึกกำลังบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งภาคีในประเทศและต่างประเทศ ขับเคลื่อนอย่างเข้มข้น
โดยกำหนด“Mission 2023” ตั้งเป้าในปี 2566 ลดก๊าซเรือนกระจกจากมาตรการทดแทนปูนเม็ด ให้ได้ 1,000,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่าปลูกต้นไม้กว่า 122,000,000 ต้นโดยผู้ผลิตทุกรายพร้อมใจส่งปูนซีเมนต์ ลดโลกร้อน “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” เข้าสู่การใช้งานในวงกว้างทั่วประเทศ เพื่อให้การลดก๊าซเรือนกระจกบรรลุเป้าหมาย
- อุตสาหกรรม – ชุมชน เติบโตอย่างยั่งยืน
สำหรับตัวอย่าง การพัฒนาอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไปพร้อมๆ กับการดูแลชุมชนให้เติบโตอย่างยั่งยืน ได้แก่
1) การเป็นแหล่งน้ำ เหมืองบ้านแม่ทาน จ.ลำปาง พัฒนาเป็นแหล่งน้ำ และส่งต่อไปยังบ่อน้ำชุมชนใกล้เคียงให้ได้ใช้ประโยชน์กว่า 250 ครัวเรือน ทั้งนี้ ช่วงปีที่ผ่านมา ได้นำน้ำกว่า 1.3 ล้านลูกบาศ์เมตรจากบ่อเหมือง ช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง
2) การเป็นแก้มลิงรับน้ำ เหมืองห้วยแร่ จ.สระบุรี เปิดคันขอบเหมืองแร่ดินซีเมนต์ที่สิ้นสุดการทำเหมืองแล้ว ให้เป็นพื้นที่แก้มลิงสามารถกักเก็บน้ำได้ถึง 6.6 ล้านลูกบาศก์เมตรช่วยป้องกันน้ำท่วมนาข้าวในพื้นที่มากกว่า 1,000 ไร่ และบรรเทาความเดือดร้อนในพื้นที่โดยรอบ เมื่อช่วงสถานการณ์อุทกภัยที่ผ่านมา
3) เหมืองใน จ.นครสวรรค์ จ.ลพบุรี จ.นครศรีธรรมราช อยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นแหล่งน้ำ จุดเรียนรู้ และพื้นที่สันทนาการสำหรับชุมชนใช้ประโยชน์ นับเป็นต้นแบบความร่วมมือการนำทรัพยากรมาใช้อย่างคุ้มค่า และพัฒนาพื้นที่เพื่อชุมชนใช้ประโยชน์ในอนาคต ส่งผลให้อุตสาหกรรมและชุมชนเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน