เปิดสูตร "วัคซีนโควิด-19" กระตุ้นเข็มที่ 3-4 ฉีดอะไร ห่างกันเท่าไหร่
เปิดระยะเวลาการฉีด "วัคซีนโควิด-19" เข็ม 3 ที่เหมาะสมควรฉีดห่างกันกี่เดือน รวมสูตรวัคซีนเข็มกระตุ้น เข็มที่ 4 พร้อมประมวลการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนโควิด19 ตั้งแต่ ส.ค.-ธ.ค.2564 ใน 4 พื้นที่ ตามวัคซีนสูตรต่างๆ
วันนี้ (14 ม.ค. 65) ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. รายงานการฉีด "วัคซีนโควิด-19" จำนวนการได้รับวัคซีนสะสม (28 ก.พ. - 13 ม.ค. 2565) รวม 108,313,948 โดส ใน 77 จังหวัด แบ่งเป็น
- จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 51,694,907 ราย
- จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 47,301,137 ราย
- จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม : 9,317,904 ราย
ภาพรวมยอดฉีดวัคซีน วันที่ 13 มกราคม 2565
ยอดฉีดทั่วประเทศ 542,689 โดส
เข็มที่ 1 : 52,332 ราย
เข็มที่ 2 : 128,885 ราย
เข็มที่ 3 : 361,472 ราย
ควรฉีดกระตุ้นเข็ม 3 หลัง "ไฟเซอร์" เมื่อไหร่
สำหรับการฉีดวัคซีนในขณะนี้ พบว่า มีจำนวนการฉีดเข็มที่ 1 สะสม 71.% เข็มที่ 2 สะสม 65.7% และเข็มที่ 3 สะสม 12.9% โดยทางกระทรวงสาธารณสุขและ ศบค. แนะให้ประชาชนที่ฉีดเข็ม 2 มานานแล้ว หรือครบเวลากระตุ้นเข็ม 3 ไปรับวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิ ขณะเดียวกัน ยังมีข้อคำถามจากหลายคนที่ว่า เวลาที่เหมาะสมของการฉีดเข็ม 3 ควรเป็นเมื่อไหร่ โดยเฉพาะการฉีดเข็ม 3 หลังจากฉีดไฟเซอร์ เข็มที่ 2
วันนี้ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดี เผยผ่าน เฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics โดยระบุถึง คำถามที่น่าสนใจที่ คือ ระยะเวลาที่เหมาะสมในการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 หลังจากได้รับวัคซีน "ไฟเซอร์" (และยี่ห้ออื่น) ครบสองเข็ม เพราะ
1. กรมควบคุมโรคแนะนำว่า 6 เดือน
2. รพ.บำรุงราษฎร์แนะนำ 5 เดือน
3. ศูนย์วิจัยคลินิกศิริราชแนะนำ 3 เดือน
ห่างจากเข็มสุดท้ายไม่เกิน 6 เดือน
ทั้งนี้ ได้สอบถามท่านผู้รู้และเกี่ยวข้องแล้วครับได้ความว่า ที่ศูนย์วิจัยคลินิก ฯ แนะนำว่า ควรจะ ห่างจากเข็มสุดท้ายอย่างน้อย 3 เดือนและไม่ควรเกิน 6 เดือน เพราะพบว่าหลังสามเดือนไปแล้วระดับภูมิคุ้มกันลดลงมากแต่ยังป้องกันได้อยู่
ก่อนหน้านี้อเมริกาแนะนำที่ 6 เดือนซึ่งกรมควบคุมโรคเราก็แนะนำสอดคล้องกับทางอเมริกา ต่อมาอเมริกาลดเวลาจาก 6 เดือนเป็น 5 เดือน สอดคล้องกับทาง รพ.บำรุงราษฎร์ที่แนะนำ 5 เดือน
สรุปคือ ควรฉีดเข็มกระตุ้นไม่เร็วไปกว่า 3 เดือน (ฉีดก่อน 3 เดือนก็เสียของ เพราะภูมิยังไม่ตกครับ) และไม่ควรห่างจากเข็มสองเกิน 6 เดือน (เพราะภูมิลดต่ำลงในระดับที่อาจติดเชื้อได้ง่าย)
เปิดสูตรเข็ม 4
สำหรับการฉีดวัคซีน "เข็ม 4" ข้อมูลจาก กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 65 ได้เปิดแผนการให้บริการวัคซีนโควิด-19 เดือนมกราคม 2565 แนวทางการฉีด "วัคซีนเข็มกระตุ้น" เข็มที่ 4 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคเรื้อรัง
โดยตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ครั้งที่ 10/2564 วันพุธที่ 22 ธันวาคม 2564 ระบุว่า
ผู้ที่รับวัคซีนเข็ม 1-2 ซิโนแวค - ซิโนแวค เข็ม 3 แอสตร้าเซนเนก้า
กระตุ้นเข็ม 4 : แอสตร้าเซนเนก้า / ไฟเซอร์ / โมเดอร์นา
ระยะห่าง : 3 เดือนขึ้นไปหลังเข็มที่ 3
ผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็ม 1-2 ซิโนแวค - ซิโนแวค เข็ม 3 ไฟเซอร์
กระตุ้นเข็ม 4 : ไฟเซอร์ / โมเดอร์นา
ระยะห่าง : 3 เดือนขึ้นไปหลังเข็มที่ 3
สำหรับ ส่วนกลุ่ม "ประชาชนทั่วไป" ที่แข็งแรงดีและได้รับวัคซีนบูสเตอร์เข็ม 3 ไปแล้ว นพ.โอภาส กล่าวว่า ทางคณะอนุกรรมการฯ จะพิจารณาอีกครั้งว่าให้ไปรับเข็มที่ 4 อย่างเป็นทางการเมื่อใด ให้ประชาชนติดตามความคืบหน้าอีกครั้งเร็วๆ นี้
ฉีดครึ่งโดส ฉีดในผิวหนังได้หรือไม่
ทั้งนี้ สำหรับการฉีดวัคซีน "ไฟเซอร์" เข็มกระตุ้น เข็มที่ 4 แนะนำให้ฉีดโดสตามมาตรฐาน อย่างไรก็ตาม หากมีผู้ประสงค์จะฉีดครึ่งโดส หรือฉีดเข้าในผิวหนังให้เป็นไปตามดุลพินิจของแพทย์ และความสมัครใจ ของผู้รับวัคซีน
การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เข็มที่ 4 ในกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับวัคซีนสูตรอื่นๆ ให้เป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ และความสมัครใจของผู้รับวัคซีน
แผนฉีดวัคซีนโควิด ม.ค. 65 เข็ม 1-4
วัคซีนเข็ม1
กลุ่มเป้าหมาย : ผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไปที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน
จำนวน : 1 ล้านคน
สูตรวัคซีน
- แอสตร้าเซนเนก้า + แอสตร้าเซนเนก้า
- แอสตร้าเซนเนก้า + ไฟเซอร์
- ซิโนแวค + แอสตร้าเซนเนก้า
**ไฟเซอร์ + ไฟเซอร์ (ให้สำหรับกลุ่มเป้าหมายอายุ 12-17 ปีเป็นหลัก)
วัคซีนเข็ม 2
กลุ่มเป้าหมาย : ผู้ที่มีกำหนดการรับวัคซีนตามนัด
จำนวน : 2.1 ล้านคน
สูตรวัคซีน
- แอสตร้าเซนเนก้า + แอสตร้าเซนเนก้า
- แอสตร้าเซนเนก้า + ไฟเซอร์
- ซิโนแวค + แอสตร้าเซนเนก้า
**ไฟเซอร์ + ไฟเซอร์ (ให้สำหรับกลุ่มเป้าหมายอายุ 12-17 ปีเป็นหลัก)
วัคซีนเข็ม 3
กลุ่มเป้าหมาย : ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ และผู้ที่เคยติดเชื้อ
จำนวน : 5.5 ล้านคน
สูตรวัคซีน
- แอสตร้าเซนเนก้า หรือ ไฟเซอร์
**ไฟเซอร์ (สำหรับผู้ได้รับเข็ม 1-2 คือ Az+Az เป็นหลัก)
วัคซีนเข็ม 4
กลุ่มเป้าหมาย : แพทย์/ด่านหน้า/กลุ่มเสี่ยง
จำนวน : 0.7 ล้านคน
สูตรวัคซีน
- แอสตร้าเซนเนก้า หรือ ไฟเซอร์
รวมทั้งสิ้น 9.3 ล้านคน
ผลประสิทธิภาพวัคซีน
ข้อมูลจาก กระทรวงสาธารณสุข จากการประมวลการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนโควิด19 ตั้งแต่ ส.ค.-ธ.ค.2564 ใน 4 พื้นที่ ตามวัคซีนสูตรต่างๆ พบผลดังนี้
1.ภูเก็ต ช่วงส.ค. 2564 ที่มีการระบาดของเชื้อสายพันธุ์อัลฟา
- ซิโนแวค 2 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อ 27% ป้องกันป่วยหนัก/เสียชีวิต 90%
- ซิโนแวค 2 เข็ม ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า 1 ป้องกันการติดเชื้อ 94.2% ป้องกันป่วยหนัก/เสียชีวิต 100%
2. กรุงเทพฯ ช่วงก.ย.-ต.ค.2564 ที่มีการระบาดของอัลฟาและเดลตา
- ซิโนแวค 2 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อ 66%
- แอสตร้าฯ 2 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อ 75%
- ซิโนแวค+แอสตร้าฯ ป้องกันการติดเชื้อ 75%
- ซิโนแวค2เข็ม+แอสตร้าฯ ป้องกันการติดเชื้อ 86%
- ซิโนแวค 2 เข็ม+ไฟเซอร์ ป้องกันการติดเชื้อ 82%
3. เชียงใหม่ ช่วงธ.ค. 2564 ที่มีเชื้อเดลตาระบาด
- ซิโนแวค 2 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อ 28% ป้องกันป่วยหนัก/เสียชีวิต 97 %
- แอสตร้าฯ 2 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อ93 % ป้องกันป่วยหนัก/เสียชีวิต 97%
- ไฟเซอร์ 2 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อ92 % ป้องกันป่วยหนัก/เสียชีวิต 97%
- ซิโนแวค+แอสตร้าฯ ป้องกันการติดเชื้อ93 % ป้องกันป่วยหนัก/เสียชีวิต 97 %
- ซิโนแวค2เข็ม+แอสตร้าฯ ป้องกันการติดเชื้อ 96 % ป้องกันป่วยหนัก/เสียชีวิต 99 %
- ซิโนแวค 2 เข็ม+ไฟเซอร์ และซิโนฟาร์ม 2 เข็ม+ไฟเซอร์ ป้องกันการติดเชื้อ 98 % ป้องกันป่วยหนัก/เสียชีวิต 99%
4.กาฬสินธุ์ ช่วง ธ.ค. 2564 ที่มีการระบาดของโอมิครอน
- ซิโนแวค 2 เข็ม ,แอสตร้าฯ 2 เข็ม,ไฟเซอร์ 2 เข็ม และ ซิโนแวค+แอสตร้าฯ ป้องกันติดเชื้อได้ 13%
- ซิโนแวค2เข็ม+แอสตร้าฯ ป้องกันติดเชื้อได้ 89%
- ซิโนแวค2 เข็ม+ไฟเซอร์ ป้องกันติดเชื้อ 79%