ปรับใหม่ลดลง! อัตราค่าโควิด19ที่รัฐจ่าย
การระบาดของโควิด19ระลอกโอมิครอนหรือมกราคม2565 ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรืออาการไม่รุนแรง กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ปรับแนวทางดูแลผู้ติดเชื้อ เน้นอยู่ที่บ้าน(Home Isolation:HI) รวมถึง ปรับอัตราค่าตรวจ รักษาที่รัฐจ่ายลดลงด้วย
อาการโอมิครอน
กรมการแพทย์ได้ให้ข้อมูลจากการติดตามผู้ติดโควิดสายพันธุ์โอมิครอน 100 ราย เมื่อ26 ธ.ค.2564 มีอาการ ดังนี้
- ไอ 54%
- เจ็บคอ 37%
- ไข้ 29%
- ปวดกล้ามเนื้อ 15%
- มีน้ำมูก 12%
- ปวดศีรษะ 10%
- หายใจลำบาก 5%
- ได้กลิ่นลดลง 2%
อ่านข่าว : ตำรับยาไทยดูแล Long COVID หลังพบ30%ติดโควิดมีอาการระยะยาว
ดูแลแบบ Home Isolation
Home Isolation เป็นแนวทางหลักในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 (วันที่ 4 มกราคม 2565) ผู้ที่อยู่ในช่วงระยะที่แพร่เชื้อได้ มีความจำเป็นที่จะต้องให้ผู้ป่วยแยกจากคนอื่นในบ้านตามคำแนะนำ ดังนี้
1) ผู้ป่วยโควิด-19 ที่วินิจฉัยใหม่ตามเกณฑ์ การวินิจฉัย และ แพทย์เห็นว่าสามารถดูแลรักษาที่บ้านได้
2) ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ step down หลังเข้ารับการรักษาที่สถานที่รัฐจัดให้หรือ โรงพยาบาล อย่างน้อย 7 วัน และจำหน่ายกลับบ้าน โดยวิธีHome Isolation
สปสช.จ่ายค่าบริการรักษาตัวที่บ้าน
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ได้ปรับปรุงแนวทางการจ่ายชดเชยค่าบริการเพื่อให้เกิดการสนับสนุนการบริการที่เหมาะสม รวมถึงการเบิกจ่ายที่รวดเร็วขึ้น โดยประเด็นการจ่ายชดเชยบริการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้านที่มีการเปลี่ยนแปลง
ได้แก่ ค่าบริการเหมาจ่ายล่วงหน้า ปรับเป็นจำนวน 1,000 บาท โอนให้หน่วยบริการทุกสัปดาห์ ซึ่งในระหว่างการดูแลผู้ป่วย หน่วยบริการสามารถเบิกค่าดูแลเพิ่มเติมตามรายการ ดังนี้
1.RT-PCR มีค่าตรวจ Lab 1,000-1,200 บาท/ครั้ง, ค่าอื่นๆในห้อง Lab 200 บาท/ครั้ง และค่าเก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจ 100 บาท / ครั้ง
2.ค่าดูแลการให้บริการผู้ป่วย แบบไม่รวมค่าอาหารจ่ายแบบเหมาจ่ายในอัตรา 600 บาทต่อวัน และแบบรวมค่าอาหาร 3 มื้อ เหมาจ่าย ใน 1,000 บาทต่อวัน
3.ค่าอุปกรณ์สำหรับผู้ป่วย ได้แก่ ปรอทวัดไข้แบบดิจิตอล เครื่องวัด Oxygen Sat ตามรายการที่ใช้จริง ไม่เกินจำนวน 1,100 บาทต่อราย
4.ค่ายาที่เป็นการรักษาเฉพาะ โรคติดเชื้อโควิด-19 จ่ายตามจริงไม่เกิน 7,200 บาทต่อราย
5.ค่ารถส่งต่อ จ่ายตามจริงตามระยะทาง รวมค่าทำความสะอาด 1,400 บาท
6.ค่า chest X-ray (การเอกซเรย์ปอด) จ่ายในอัตรา 100 บาทต่อครั้ง
7.ค่าออกซิเจน จ่ายในอัตรา 450 บาทต่อวัน
ปรับอัตราจ่ายฮอสพิเทล
อย่างไรก็ตาม กรณีที่ผู้ติดเชื้อไม่สามารถดูแลตนเองที่บ้านได้ แม้ว่าจะเข้าเกณฑ์ข้อบ่งชี้ อาจจะด้วยสภาพแวดล้อมบ้านไม่เหมาะสมหรือบ้านมีผู้สูงอายุ สามารถเข้ารับการดูแลในCommunity Isolation หรือCI รวมถึงในฮอสพิเทลได้ โดยอัตราที่จ่ายนั้นเท่ากับกรณีดูแลที่บ้านแบบHI
ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า สบส.ได้ออกประกาศประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉิน โรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (ฉบับที่ 7) ลดอัตราค่าตรวจ RT-PCR จากฉบับแรก 3,125 บาท ฉบับที่ 5 ลดลงเหลือ 2,250 บาท และล่าสุดฉบับที่ 7 เหลือ 1,300-1,500 บาท และลดค่าห้องฮอสพิเทลจาก1,500 บาท เหลือ 1,000 บาท โดยมีการหารือฝั่ง รพ.เอกชนซึ่งก็ให้ความร่วมมืออย่างดีในการบริหารจัดการงบประมาณภาครัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน เราบริหารจัดการเตียงให้รองรับประชาชนสอดรับกับงบประมาณให้เข้าถึงเป็นธรรม และศักยภาพเตียงยังพอรับได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้น HI ก่อน
ข้อมูลถึงวันที่ 13 ม.ค. มีการอนุมัติฮอสพิเทล 162 แห่ง รวม 49,137 เตียง เปิดดำเนินการ 145 แห่ง รวม 30,240 เตียง โดยเตียงระดับ 1 สีเขียว จำนวน 28,645 เตียง ใช้เตียงแล้ว 14,979 เตียง ยังเหลือ 13,666 เตียง หรือว่างอีกเกือบ 50% เตียงสีเหลืองระดับ 2.1 มี 1,187 เตียง ใช้แล้ว 472 เตียง ว่างอีก 715 เตียง ระดับ 2.2 มี 352 เตียง ใช้แล้ว 55 เตียง เหลืออีก 297 เตียง และเตียงสีแดงระดับ 3 มีทั้งหมด 56 เตียง ใช้แล้ว 4 เตียง ว่างอีก 52 เตียง
ภาพรวมค่ารักษาโควิด19ที่ปรับลด
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลางเปิดเผยว่า ด้วยปัจจุบันการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Real Time PCR) และรายการค่ารักษาพยาบาลประเภทอื่นๆปรับลดลง
กรมบัญชีกลาง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานประกันสังคม จึงได้หารือร่วมกันเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและอัตราจ่ายค่าบริการดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพื่อให้สอดคล้องกับบริการและต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง โดยมีการปรับปรุงรายละเอียด ดังนี้
1.การตรวจยืนยันการติดเชื้อโควิด-19
1.1 การตรวจยืนยันการติดเชื้อด้วยวิธี Real Time PCR โดยการทำป้ายหลังโพรงจมูกและลำคอ ประเภท 2 ยีน ให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,300 บาทจากเดิม 1,500 บาท
1.2 การตรวจยืนยันการติดเชื้อด้วยวิธี Real Time PCR โดยการทำป้ายหลังโพรงจมูกและลำคอ ประเภท 3 ยีน ให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,500 บาท จากเดิม 1,700 บาท
1.3 การตรวจการติดเชื้อด้วยวิธี Antigen test ด้วยเทคนิค Chromatography ให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 300 บาทจากเดิม 450 บาท
1.4 การตรวจการติดเชื้อด้วยวิธี Antigen test ด้วยเทคนิค Fluorescent Immuunoassay (FIA) ให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 400 บาทจากเดิม 500 บาท
1.5 การตรวจการติดเชื้อด้วยวิธีอื่นๆ นอกเหนือจาก 1.3-1.4 ให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 400 บาทจากเดิม 550 บาท
2.ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล
2.1 กรณีอาการเล็กน้อย (สีเขียว) ให้เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 300 บาทต่อวันและไม่เกิน 10 วัน
2.2 กรณีอาการปานกลาง (สีเหลือง) ให้เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 600 บาทต่อชุดและไม่เกิน 5 ชุดต่อวัน
2.3 กรณีอาการรุนแรง (สีแดง)
กรณีใช้ Oxygen High Flow ให้เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 600 บาทต่อชุดไม่เกิน 15 ชุดต่อวัน
กรณีใส่เครื่องช่วยหายใจ ให้เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 600 บาทต่อชุด ไม่เกิน 30 ชุดต่อวัน
3.ค่าห้องพักสำหรับควบคุมหรือดูแลรักษาผู้ป่วยอาการเล็กน้อย (สีเขียว) ในสถานพยาบาลของทางราชการ หรือสถานที่ที่สถานพยาบาลของทางราชการได้จัดหาไว้เป็นการเฉพาะให้เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,000 บาทต่อวันจากเดิม 1,500 บาทต่อวัน ทั้งนี้ เบิกได้ไม่เกิน 10 วัน
4.ค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อบนรถพาหนะและค่าชุดป้องกันส่วนบุคคลของเจ้าหน้าที่ ให้เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,400 บาทจากเดิม 3,700 บาทต่อครั้งที่มีการส่งต่อหรือรับตัวผู้ป่วยแล้วแต่กรณี
5.การเบิกค่ารักษาพยาบาลกรณีให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่บ้าน (Home Isolation) หรือในสถานที่อื่น ๆ (Community Isolation)
5.1 ค่าบริการของสถานพยาบาลและการดูแลผู้ป่วยกรณีพักรอก่อนเข้ารับการรักษาพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน ให้เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงวันละไม่เกิน 1,000 บาท ทั้งนี้ไม่เกิน 10 วัน จากเดิมไม่เกิน 14 วัน
5.2 ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องใช้ในการติดตามอาการผู้ป่วยซึ่งได้รับการรักษาพยาบาลที่บ้าน (Home Isolation) ให้เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,100 บาท
5.3 ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องใช้ในการติดตามอาการผู้ป่วยซึ่งได้รับการรักษาพยาบาลในสถานที่อื่น ๆ (Community Isolation) ให้เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 500 บาทต่อราย
สำหรับแนวปฏิบัติในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวเสี่ยงหรือติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ตามหนังสือกรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ที่ กค 0416.4/ว 1292 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2564 หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กองสวัสดิการรักษาพยาบาล กรมบัญชีกลาง หมายเลขโทรศัพท์ 02 127 7000 ต่อ 6854 4441 ในวัน เวลาราชการ