เศษอวน กระเบนราหู กับ ความตายอันเงียบเชียบใต้มหาสมุทร จากขยะทะเล
ท่ามกลางเสียงชื่นชมถึงการเอา เศษอวน ออกจาก กระเบนราหู ยังสะท้อนถึงโศกนาฏกรรมเงียบที่ถูกซุกเอาไว้ใต้ท้องน้ำสีคราม อีกปมปัญหาที่ไม่เคยหายไปจากท้องทะเลไทย
ความชื่นชมของโลกออนไลน์ถึงการช่วยชีวิตกระเบนราหู จากเศษอวน ของนักดำน้ำที่ หัวแหลมเกาะบอน ในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่สะท้อนความเอาใจใส่ถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติใต้ทะเล แต่ยังสะท้อนถึงปมปัญหาที่ถูกซุกเอาไว้มานานเกี่ยวกับขยะทะเลอีกด้วย
อวนผี ลอยมาจากไหน
เศษอวน หรือ อวนผี (Ghost fishing nets) ที่เกิดจากกิจกรรมทางทะเล ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ถือเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาขยะทะเลมาโดยตลอด อย่างเมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา มีการเก็บกู้ซากอวนที่มาติดปะการัง เกาะสี่ เกาะห้า อุทยานแห่งชาติ หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่
ขณะที่ ข่าวการเคลียร์อวนขนาดน้ำหนัก 800 กิโลกรัม ที่ติดแนวปะการัง บริเวณเกาะโลซิน ทำให้เกิดความเสียหายแก่ระบบนิเวศปะการังเป็นวงกว้าง เมื่อกลางปี ก็ล้วนเป็นต้นทางจากปัญหาเดียวกัน
"เจอเป็นเรื่องปกติครับ" ชิน - ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ช่างภาพสายอนุรักษ์ พูดถึงทั้งเศษอวน และขยะทะเล ที่เชื่อว่า ทั้งเขา และนักดำน้ำคนอื่นๆ ก็เจอเวลาดำน้ำทั้งนั้น แน่นอนว่า มันมีมาตั้งแต่ก่อนที่เขาจะสนใจดำน้ำเมื่อ 15 ปีก่อนเสียด้วยซ้ำ
"ตีไว้ได้เลยว่ามีประมาณ 6 % ของอวนจับปลาที่จะกลายสภาพไปเป็นอวนผีเหล่านี้" เขายืนยัน
กระเบนบาดเจ็บ : ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย : ภาพ
ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อธิบายถึงการเกิดเศษอวน หรืออวนผีนั้นมาจาก 3 สาเหตุหลักด้วยกัน
ถ้าไม่ใช่ลอบที่แอบตั้งใจมาวางเอาไว้ใกล้ๆ กับแนวปะการัง
ก็อาจเกิดจากการที่กระแสลมเปลี่ยนทิศทำให้อวนที่วางเอาไว้ หลุดออกจากที่ๆ มันควรจะอยู่
หรือไม่ ก็เกิดจากการพลั้งเผลอโยนเศษอวนเหลือทิ้งจากการซ่อมลงทะเล
นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลอย่างเขายอมรับว่า บ่อยครั้ง ที่มักจะเกิดเหตุการณ์ การวางเครื่องมือประมงเอาไว้ไม่ห่างจากแนวปะการัง หรือกองหินมากนัก เพราะพื้นที่บริเวณนั้นจะมีสัตว์ทะเลอาศัยกันอยู่เยอะ
เมื่อกระแสน้ำเปลี่ยน ทำให้เครื่องมือเหล่านั้น จึงหลุดเข้าไปบริเวณดังกล่าว โดยที่เจ้าของก็ไม่รู้ ไม่ว่าจะเป็นที่ โลซิน ที่ชุมพร และอีกหลายๆ กรณีทั่วประเทศ ล้วนเกิดมาจากสาเหตุเหล่านี้ทั้งสิ้น
อวนผีใต้ท่าเรือ : ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย : ภาพ
โศกนาฏกรรมใต้ทะเล
ถึงแม้ชาวประมงจะรู้จักการใช้ตาข่ายจับปลามาตั้งแต่ 8,300 ปีก่อนคริสตกาล การแต่มาถึงของอวนแบบใหม่ที่ทำจากพลาสติกได้เปลี่ยนโฉมหน้าระบบนิเวศ และสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลไปอย่างสิ้นเชิง
"30% ของการเกยตื้นในเต่าทะเลมาจากเรื่องนี้ค่ะ" หมอฟ้า - สพ.ญ.พัชราภรณ์ แก้วโม่ง นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน บอกถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการมีสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้ลงไปปะปนอยู่ในทะเล
รายงานจากกรีนพีช ระบุว่า ทุก ๆ ปี มีขยะทะเลที่เป็นเศษอวนใช้แล้ว ถูกทิ้งลงมหาสมุทรมากถึง 640,000 ตัน หรือคิดเป็น 10% ของปริมาณขยะทะเลทั้งหมดในโลกนี้
เศษอวนเหล่านั้น เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สัตว์ทะเล เสียชีวิตมากกว่า 100,000 ตัวต่อปี
เครื่องมืออวนประมงอวนล้อม : ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย : ภาพ
ขณะที่ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) ตีพิมพ์รายงานระบุว่า จำนวนปลาที่ลดลง 5 ถึง 30 % มาจากสาเหตุของซากอวนที่ถูกทิ้งหรือสูญหายในทะเล
หลายๆ ข่าวที่ปรากฏในหน้าสื่อของสังคมไทยเองก็เป็นส่วนหนึ่งในหายนะที่เกิดขึ้นด้วย
สัตว์ทะเล และสัตว์ทะเลหายาก อย่าง โลมา พะยูน หรือเต่าทะเล หากไม่กินเข้าไปเพราะจำแนกไม่ได้ ก็เกิดการพันรัดทำให้เกิดการบาดเจ็บ หรือบางตัวโชคร้ายกว่านั้น ทั้งพันรัด และพบสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้อยู่ในตัวด้วย ในกรณีหลังสุด หมอฟ้ายืนยันว่า เจอบ่อย และปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ที่สำคัญ ความตายเหล่านั้น มักกลายเป็นโศกนาฏกรรมอันเงียบเชียบใต้ก้นทะเลไม่มีทางส่งเสียงตะโกนให้ใครได้ยิน
ปลาเล็กปลาน้อยที่ได้จากเครื่องมืออวนลาก : : ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย : ภาพ
หนีให้พ้นจากวงจรมาตรกรรมธรรมชาติ
ผลผลิตจากการประมงไทยที่มีมูลค่าเกือบ 8 หมื่นล้านบาท ใต้ร่มของอุตสาหกรรมประมงที่มีมูลค่าสูงกว่า 1.8 แสนล้านบาทต่อปี จากรายงานจากกองนโยบายและแผนพัฒนาการประมง และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีมูลค่ากว่า 3 แสนล้าน
บาท ซึ่งกว่า 60 % มาจากท่องเที่ยวทางทะเล มีเหรียญอีกด้านเป็นผลกระทบของระบบนิเวศ และความตายของสัตว์ทะเล
การสั่งสมจนกลายเป็นความเคยชินในความรู้สึก สำหรับนักวิชาการอย่าง ศักดิ์อนันต์ มองว่า หากต้องแก้ มันคือการแก้ทั้งระบบ ทั้งทางออกของธรรมชาติ และทางออกของการทำมาหากิน
วันนี้ หลายฝ่ายมีการขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา ทั้งการรณรงค์ให้ความรู้ การผลักดันข้อกฎหมาย ที่นำไปสู่ เขตการใช้ประโยชน์พื้นที่ทางทะเล ที่ทั้งฝ่ายคน และธรรมชาติจะได้ประโยชน์ร่วมกันมากที่สุด
อวนที่หลุดรอดพันทั่วแนวปะการัง : ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย : ภาพ
"กรมประมงมีการรณรงค์กับประมงพาณิชย์ การรับซื้อเศษอวนเพื่อลดปัญหา การปรับแต่งเครื่องมือประมง อย่างอวนลากก็มีการปรับช่องให้เต่าทะเลสามารถลอดออกไปได้ หรือการติดสัญญาณเสียงเพื่อเตือนโลมาไม่ให้เข้าใกล้เขตวางเครื่องมือ ก็มีทำกันอยู่"
แต่แน่นอนว่า นี่ไม่ใช่เรื่องที่จะแก้กันได้ภายใน ปี 2 ปีแล้วจะจบ ในสายตาช่างภาพนักอนุรักษ์ ชิน มองว่า การจัดโซนนิ่งระหว่าง พื้นที่ทำกิจกรรมทางทะเล และพื้นที่อาศัยจะช่วยแก้ปัญหาได้ อย่างกรณีศึกษาที่ เกาะกาลาปากอส มีการประกาศขยายพื้นที่คุ้มครองเชื่อมโยงกับ ชายฝั่งโคลัมเบีย และคอสตาริก้า
หรือฟากคนทำงานสื่อสารเรื่องทะเลกับสังคมอย่าง เอ้ - พลพิชญ์ คมสัน กับ มีน - ชุตินันท์ โมรา จาก เพจดิจิทะเล ต้องเดินนโยบายภาครัฐควบคู่กันไปกับการสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนในสังคม เพื่อช่วยกันส่งเสริมนโยบายที่ถูกต้อง และยั่งยืนได้ การลากอวนตามแนวปะการังช่วงปิดฤดูกาลท่องเที่ยวก็จะลดลงในที่สุด
"เมื่อคนเริ่มตระหนัก วิธีการก็จะตามมา" ศักดิ์อนันต์ สรุป
เศษอวน หรืออวนผี นี้ คงไม่ต่างกับ แพขยะแห่งแปซิฟิก หรือที่รู้จักกันใจชื่อของ Great Pacific Garbage Patch แถบ
มหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ พบว่า มีพลาสติกขนาดใหญ่ ปนเปื้อนอยู่ในทะเลมากถึง 42,000 ตัน โดย 86% เป็นขยะที่มาจากเศษอวนและเครื่องมือ ประมงที่ถูกทิ้ง
แม้จะมีขนาดใหญ่ แต่ก็ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เพราะขยะเหล่านั้น อยู่ใต้ หรือใกล้ผิวน้ำเกินไป
ลูกฉลามติดอวนผีตาย : ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย : ภาพ