“สวนศิลป์จุฬาฯ” เชื่อมโยง "ชุมชน" เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม
จุฬาฯเดินหน้าโครงการอุทยานศิลปะ หรือ “สวนศิลป์จุฬาฯ” การใช้ผลงานศิลปะและการออกแบบเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตชุมชน สามย่าน-สวนหลวง ผ่านผลงานศิลปิน 15 ชิ้น เข้าชมได้ทั้งกลางวันและกลางคืน พร้อมใช้พลังงานสะอาดในการให้แสงสว่าง ไม่ก่อมลพิษ
ที่ผ่านมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ สามย่าน สมาร์ท ซิตี้ (SAMYAN SMART CITY) โดยครอบคลุมทั้งการสร้างพื้นที่สีเขียว ใช้พลังงานสะอาด จัดการขยะ จัดการน้ำ พัฒนาระบบขนส่งมวลชน ยกระดับความเป็นอยู่ของคนใน ชุมชน สร้างสภาพแวดล้อมรองรับการเติบโตธุรกิจ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีการนำ ศิลปะ การออกแบบ เชื่อมชุมชน ไม่ว่าจะเป็น สตรีทอาร์ตใจกลางเมือง ที่สะท้อนภาพวิถีชีวิตชุมชนให้เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่ทุกคนเข้าถึงได้ การออกแบบลวดลายบนฝาท่อ Fiber Optic Cable ของสยามสแควร์ รวมถึง “FAAMAI DOME – Digital Arts Hub” ที่เป็นโดมแห่งงานศิลปะดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และการใช้ศิลปกรรมและการออกแบบเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตชุมชนสามย่านและสวนหลวง ซึ่งเป็นชุมชนย่านการค้าเก่าใจกลางเมืองที่มีเสน่ห์ และดั้งเดิมของคนไทยเชื้อสายจีน
ล่าสุดกับการเดินหน้าโครงการอุทยานศิลปะ หรือ “สวนศิลป์จุฬาฯ” (CHULA ART PARK) จัดทำขึ้นภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง “การใช้ผลงานศิลปะและการออกแบบเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตชุมชนสามย่าน-สวนหลวงอย่างยั่งยืน” โดยความร่วมมือของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเครือข่ายสภาคณบดีศิลปะและการออกแบบแห่งประเทศไทย
ซึ่งมีสมาชิกสถาบันการศึกษารัฐและเอกชนกว่า 32 แห่ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
ด้วยแนวคิดที่จะยกระดับพื้นที่ดังกล่าว ให้เป็น “ย่านศิลปะและนวัตกรรมระดับนานาชาติ” เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และต่อยอดเศรษฐกิจชุมชนต่อไป มีการออกสำรวจชุมชนตั้งแต่ปลายปี 2563 พบว่า ชุมชนมองว่าศิลปะจะทำให้เศรษฐกิจชุมชนดีขึ้น พร้อมกับการสร้างความรู้ความเข้าใจ ด้านศิลปะและนวัตกรรมแก่คนในท้องที่ สร้างความตระหนักรู้ ถึงคุณค่าแห่งวิถีชุมชน “สามย่าน-สวนหลวง” แก่บุคคลทั่วไป เพื่อสร้างชุมชนต้นแบบ ที่ให้ทั้ง แรงบันดาลใจ และ พัฒนาคุณภาพชีวิต ได้อย่างยั่งยืน
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อุทยานศิลปะนี้จะเป็นแลนด์มาร์ก (Landmark) และเส้นทางท่องเที่ยวระดับนานาชาติแห่งใหม่ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ ด้วยเสน่ห์ของชุมชน สามย่าน - สวนหลวง ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ใจกลางเมืองและเป็นย่านการค้า อาหารอร่อยและวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนไทยเชื้อสายจีน
โดยชุดผลงานศิลปกรรมประติมากรรมจำนวน 15 ชิ้นนี้ ถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยคณาจารย์จากมหาวิทยาลัย สมาชิกสภาคณบดีศิลปะและการออกแบบแห่งประเทศไทย สามารถเข้าชมได้ทั้งกลางวันและกลางคืน (Day and Night Digital Arts Park ) ซึ่งจะมีบรรยากาศที่แตกต่างกันไปด้วยพลังงานสะอาดไม่ก่อมลพิษเพราะเป็นพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์
การที่จะพัฒนาชุมชนให้ยั่งยืนนั้น ไม่ใช่แค่ใช้ศิลปะในการดึงดูดผู้คนให้เข้ามาในย่านนี้เพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องคำนึงถึงคนในพื้นที่ ไม่ทำให้วิถีชีวิตของชุมชนเปลี่ยนไป ไม่ทำลายสิ่งที่เคยมีมา และไม่ทำให้สภาพแวดล้อมแย่ลง การนำ Green Energy อย่างพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้หมุนเวียน จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้ชุมชน สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมเดินไปได้พร้อมกัน
ชิ้นงานในโครงการวิจัยเรื่อง “การใช้ศิลปะและการออกแบบเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตชุมชนสามย่านและสวนหลวงอย่างยั่งยืน” ถูกสร้างให้สามารถเรืองแสงได้ในยามค่ำคืน สะท้อนวิถีชีวิตชาวจีนชุมชนสามย่านตั้งแต่สมัยโบราณ เมื่อศิลปะทั้งหมดสามารถสะท้อนแสงได้ จะทำให้เกิดการท่องเที่ยวในเวลากลางคืน
“ศ.ดร.บุษกร บิณฑสันต์” คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานสภาคณบดี สภาคณบดีศิลปะและการออกแบบแห่งประเทศไทย ในฐานะหัวหน้าโครงการ กล่าวว่าเวลาที่จัดแสดงงานศิลปะ ต้องดูว่างานศิลปะตอนกลางคืนเป็นไฮไลท์ เมื่อเป็นเวลากลางคืนก็ต้องใช้ไฟ ซึ่งหมายถึงการเผาผลาญพลังงานจำนวนมาก
ดังนั้น จึงมีพาร์ทเนอร์อย่าง บลู โซลาร์ เข้ามาช่วยสนับสนุน ในการจัดทำ โซลาร์เซลล์ พร้อมกับแผ่นป้ายที่ผลงานทั้งหมด 15 ชิ้น เพื่อแสดงให้เห็นว่า สิ่งแวดล้อมจะต้องดีด้วย ชุมชนต้องมีวิถีชีวิตที่ดี นอกจากนี้ ยังคำนึงถึงเรื่องฝุ่น PM2.5 โดยการติดตั้งระบบเซ็นเซอร์วัดค่าฝุ่นละออง เพื่อให้ประชาชนในชุมชนได้รับทราบ โดยกระจายติดตั้งประมาณ 4-5 จุด
สวนศิลป์จุฬาฯ ถือเป็นประติมากรรมที่มีความต้องการใช้พลังงานสะอาด สิ่งที่ผู้สนับสนุนระบบโซลาร์เซลล์ และศิษย์เก่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ อย่าง "วิเศษ หาญสวัสดิ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท บลู โซลาร์ จำกัด ซึ่งอยู่ในธุรกิจพลังงานสะอาด อยากให้พลังงานสะอาดเข้ามาอยู่ในวงการศิลปะ และงานนี้คนที่เดินผ่านมาชมจะได้รับความสุนทรีย์ และพลังงงานที่ได้มาไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีสอดคล้องกัน
สิ่งที่บลู โซลาร์ สนับสนุน ได้แก่ แผงโซลาร์เซลล์ สำหรับผลิตไฟฟ้าในตอนกลางวัน สามารถชาร์ตใส่แบตเตอรี่ไว้ได้ และจากนั้น แบตเตอรี่จะจ่ายไฟไปที่ชิ้นงานในเวลากลางคืนทั้ง 15 ชิ้น เมื่อโครงการนี้ใช้โซลาร์เซลล์ 100% ซึ่งต้นทางไม่มีการเผา ทำให้การจัดแสดงงานศิลปะ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยลดปัญหาโลกร้อนได้
“คอนเซปต์นี้ดีมาก และเมื่อเราอยู่ในธุรกิจนี้ จึงอยากที่จะสนับสนุน ซึ่งที่ผ่านมา ทางบริษัทฯ ได้ติดตั้งโซลาร์เซลล์ไว้ที่หลังคาคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อให้นักศึกษาได้ขึ้นไปเรียนรู้จริง ทุกวันนี้ โซลาร์เซลล์ซึ่งมาพร้อมแบตเตอรี่ สามารถย้ายเวลาใช้ไฟจากกลางวันมากลางคืนได้โดยการเก็บไว้ในแบตเตอรี่ ทำให้ปัจจุบันโซลาร์เซลล์สามารถใช้ในความเป็นจริงได้มากขึ้น คิดว่าจะเป็นเทรนด์ของโลก ยิ่งถ้าหากมีทั้งโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่ จะทำให้โซลาร์เข้ามาเป็นพลังงานหลักได้มากขึ้น” วิเศษ กล่าว
สำหรับผลงานทั้ง 15 ชิ้น ตั้งกระจายอยู่ในพื้นที่สวนหลวง พื้นที่อุทยานร้อยปี ฟ้าใหม่โดม ศาลเจ้าพ่อเสือหรือตั่วเหล่าเอี๊ยะ (หลัง CU Art 4C) และกำแพงศูนย์สาธารณสุข ซ.จุฬาฯ 5 นอกจากนี้ ยังมีการนำระบบ Augmented Reality (AR) สามารถเข้าชมผ่านแอปพลิเคชั่น Chula Art Park โดยสามารถดาวน์โหลดได้ทั้ง ISO และ Android เมื่อเดินผ่านชิ้นงานจะปรากฏคลิปวิดีโอ แสดงข้อมูลงานศิลปิน และมี QR Code ลิงค์ไปยังเว็บไซต์ Chula Art Park สามารถเข้าชมชิ้นงานได้โดยใช้ Virtual Map โดยโครงการดังกล่าว มอบให้ สำนักงานทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ดูแล
สามย่าน สมาร์ท ซิตี้ (SAMYAN SMART CITY)
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ โดยมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นย่านแห่งนวัตกรรมที่สร้างสรรค์คุณค่าแก่ชุมชนและสังคม ผสานคุณภาพชีวิตและธุรกิจ มุ่งหวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดำรงชีวิตที่ดีของคนทุกเพศทุกวัยอย่างยั่งยืน ได้แก่
1. SMART ENVIRONMENT พื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ สวนหลวง-สามย่าน ด้วยเป้าหมายในการพัฒนาเมืองให้เป็น “GREEN & CLEAN CITY” ในปี 2563 พื้นที่สีเขียวของจุฬาฯ และพื้นที่โดยรอบของย่าน มีพื้นที่สีเขียวในอัตราส่วน 1 คน ต่อ 11 ตร.ม. ซึ่งมากกว่าเกณฑ์มาตรฐานของ WHO ที่กำหนดให้มีพื้นที่สีเขียวในอัตรา 1 คน ต่อ 9 ตร.ม. มีต้นไม้ขนาดใหญ่จำนวนมากกว่า 1,000 ต้น และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ ยังลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในพื้นที่ ส่งเสริมการใช้รถ EV การจัดการขยะ พัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำ
2. SMART MOBILITY พัฒนาระบบขนส่งมวลชน (MASS TRANSIT) และการเดินทางแบบแบ่งปันกันใช้ (SHARING VEHICLES) ทั้งรูปแบบการเดินทางภายในพื้นที่และการเดินทางไปยังนอกพื้นที่
3. SMART ENERGY นำสายสื่อสารและสายไฟลงใต้ดิน พัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ มีแผนการทดลองติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน
4. Smart People ดึงจุดเด่นด้านศิลปะและมนต์เสน่ห์อันเก่าแก่ของสามย่าน สู่ที่สุดของย่านแห่งความสร้างสรรค์ รวม CO-WORKING SPACE และแหล่งเรียนรู้ พร้อมขับเคลื่อนชุมชนให้ก้าวหน้าไปพร้อมกัน
5. SMART PEOPLE ยกระดับความเป็นอยู่ของคนในชุมชน ด้วยการส่งเสริมสุขอนามัยของคนในชุมชนให้มีสุขภาพดี สร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เกิดการเดิน เป็นเมืองเดินได้เดินดี (WALKABLE CITY) เมืองปลอดภัย รองรับประชาชนทุกกลุ่ม
6. SMART ECONOMY สร้างสภาพแวดล้อม หรือ ECO-SYSTEM รองรับธุรกิจสตาร์อัพ หนุนนวัตกรรม เชื่อมโยงและความร่วมมือทางธุรกิจ และสนับสนุนให้เกิดสังคมไร้เงินสด
7. SMART GOVERNANCE การรับฟังความเห็นของชุมชน เชื่อมโยงระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนอีกด้วย