"โอมิครอน" ครองไทย 87% เคยติดเชื้อแล้วติดโควิดซ้ำได้
สธ.เผย “โอมิครอน” ครองไทย 87% กลุ่มมาจากต่างประเทศเกือบ 100% ในประเทศ 80% กระจายทั่วประเทศ พบกลุ่มอาการรุนแรงยังเป็นเดลตาสัดส่วนสูง เคยติดเชื้อแล้วติดโควิดซ้ำได้ คาดปลาย ม.ค. ระบาดในประเทศเป็นโอมิครอนทั้งหมด
เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงสถานการณ์โควิด-19 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงความคืบหน้าการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด19ในประเทศไทยว่า ขณะนี้ไม่มีจังหวัดไหนที่ไม่พบโอมิครอนแล้ว จึงมีทุกพื้นที่ ถ้าดูภาพรวมเจอผู้ติดเชื้อโอมิครอน 10,721 ราย โดยจังหวัดที่พบจำนวนมากไล่เรียงไป คือ กรุงเทพฯ ชลบุรี ภูเก็ต ร้อยเอ็ด สมุทรปราการ สุราษฎร์ธานี กาฬสินธุ์ อุดรธานี เชียงใหม่ และขอนแก่น
ภาพรวมขณะนี้ พบว่า สัดส่วนเป็นโอมิครอน 87% และเดลตา 13% เมื่อแยกเป็นกลุ่มผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ โอมิครอน 96.9% เดลตา 3.1% เพราะฉะนั้นจากนี้สันนิษฐานได้ว่าผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศแล้วงพบติดเชื้อจะเป็นโอมิครอนทั้งหมด ส่วนกลุ่มอื่นในประเทศ เป็นโอมิครอน 80.4% และเดลตา 19.6%
ทั้งนี้ การติดตามสัดส่วนการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ดังกล่าว คัดเลือกตัวอย่างจาก 9 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มเดินทางมาจากต่างประเทศรวมถึงต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองทุกราย 2.กลุ่มตัวอย่างเพื่อสะท้อนภาพรวมประเทศ 3.กลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ 4.กลุ่มที่มีอาการรุนแรงและ/หรือเสียชีวิตทุกราย 5.กลุ่มที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง 6.กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 7.กลุ่มผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อน(ติดเชื้อซ้ำ) 8.คลัสเตอร์ใหม่ และ 9.ลักษณะอื่นๆ ที่สงสัยไวรัสสายพันธุ์ใหม่ โดยสุ่มเลือกตัวอย่างผู้ติดเชื้อจากแต่ละจังหวัดในพื้นที่ รวมทุกกลุ่มไม่เกิน 140 ตัวอย่างต่อสัปดาห์ต่อเขตสุขภาพ
เมื่อแยกการพบโอมิครอนรายกลุ่มนี้ พบว่า กลุ่มตัวอย่างเพื่อสะท้อนภาพรวมประเทศ โอมิครอน 83.77%, เดลตา 16.2%
คลัสเตอร์ใหม่ โอมิครอน 84.86%, เดลตา 15.1%
กลุ่มที่มีอาการรุนแรงและ/หรือเสียชีวิต ทุกราย โอมิครอน 67.21%, เดลตา 32.8%
กลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ โอมิครอน 72.35 %, เดลตา 27.7%
กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ โอมิครอน 74.58%, เดลตา 25.4%
ลักษณะอื่นๆ ที่สงสัยไวรัสสายพันธุ์ใหม่ โอมิครอน 75.90%, เดลตา 24.1%
และกลุ่มผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อน (ติดเชื้อซ้ำ) 100%
“จะเห็นว่า ในกลุ่มคนทั่วไป สัดส่วนที่เจอโอมิครอน 85% เดลตา 15 % แต่มีเดลตาสูงกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มติดเชื้ออาการรุนแรง หรือเสียชีวิต พบเดลตาประมาณ 33% หรือ 2 เท่าของกลุ่มแรก อันนี้เป็นเครื่องยืนยันว่าสายพันธุ์โอมิครอนรุนแรงน้อยกว่าเดลต้าแน่นอน ส่วนกลุ่มที่วัคซีนครบถ้วน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มฉีด 2 เข็ม พบเชื้อเดลตาพอสมควร กลุ่มบุคลากรการแพทย์ 25% เป็นเดลตา และสุดท้ายที่น่าสนใจ 8 รายที่มีการติดเชื้อซ้ำเป็นโอมิครอน 100% จากเดิมคนที่ติดเชื้อเดลตาจะมีภูมิสูง แต่ยังสามารถติดเชื้อซ้ำป็นโอมิครอนได้ สะท้อนว่าภูมิเดิมที่มีต่อเชื้อเดิมกันเชื้อโอมิครอนไม่ได้” นพ.ศุภกิจกล่าว
เมื่อแยกรายพื้นที่ตามเขตสุขภาพ พบสัดส่วนโอมิครอน ดังนี้
เขต 1 แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา แพร่ น่าน ลำพูน ลำปาง พบ 78.08%
เขต 2 ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ พบ 79.41%
เขต 3 ชัยนาท กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี พบ 81.82%
เขต 4 นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง นครนายก พบ 86.75%
เขต 5 กาญจนบุรี นครปฐม ราชุบรี สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร พบ 67.57%
เขต 6 ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว สมุทรปราการ จันทบุรี ชลบุรี ตราด ระยอง พบ 88.27%
เขต 7 กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด พบ 88.50%
เขต 8 บึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี นครพนม สกลนคร พบ 79.18%
เขต 9 ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ พบ 81.48%
เขต 10 มุกดาหาร ยโสธร ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ พบ 83.33%
เขต 11 ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต พบ 76.19%
เขต 12 พัทลุง ตรัง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ยะลา พบ 51.46%
เขต 13 กรุงเทพฯ 86%
“ที่น่าสังเกตคือเขตฯ 12 หรือชายแดนใต้ ครึ่งหนึ่งเป็นเดลต้า ดังนั้นพื้นที่นี้มีบลักษณะชุมชนแตกต่างจากที่อื่นๆ เช่นไม่มีสานบันเทิง และไม่มีการรั่วมาจากมาเลเซีย คนมาจากต่างประเทศก็ไม่ได้ไปในพื้นที่มากมายทำให้ครึ่งหนึ่งเป็นเดลตา แต่ในที่สุดจะถูกแทนที่ด้วยโอมิครอนอยู่ดี” นพ.ศุภกิจกล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวด้วยว่า สรุปสถานการณ์การเฝ้าระวังสายพันธุ์โอมิครอนระหว่างวันที่ 11-17 มกราคม 2565 คือ การแพร่ระบาดของโอมิครอน มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยพบในกลุ่มผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด และการติอดเชื้อในประเทศพบโอมิครอน 80.4% ในกลุ่มผู้ที่มีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต ยังพบสัดส่วนของเดลตาสูงกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มทั่วไป กลุ่มที่ได้รับวัคซีนครบ และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ติดโอมิครอนเป็นส่วนใหญ่แต่ยังพบการติดเชื้อเดลตาอยู่บ้าง กลุ่มผู้ที่ติดเชื้อซ้ำทุกรายเป็นสายพันธุ์โอมิครอน และคาดว่าปลายเดือนม.ค. การแพร่ระบาดในประเทศไทยจะเป็นสายพันธุ์โอมิครอนเกือบทั้งหมด