3 ปัจจัยหลัก “โควิด-19” สู่ “โรคประจำถิ่น”
การระบาดของโควิดที่มีผู้ติดเชื้อใหม่ 3.6 ล้านคนในวันเดียว แต่ดูเหมือนว่าแต่ละประเทศเริ่มรับมือได้มากกว่าในระลอกก่อนๆ ขณะที่อัตราเสียชีวิตของไทยยังถือว่าไม่สูงเมื่อเทียบกับการติดเชื้อ หลายคนจึงมองว่าใกล้ถึงเวลาที่โควิด จะกลายเป็น "โรคประจำถิ่น" หรือยัง
ขณะนี้เรียกได้ว่าการระบาดของ “โอมิครอน” ส่งผลให้มี ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ทั่วโลกเพิ่มขึ้นกว่า 3,632,661 ราย ติดเชื้อสะสมกว่า 346,856,432 ราย ส่วนในประเทศไทย ติดเชื้อรายใหม่ 8,112 ราย เสียชีวิตรายใหม่ 19 ราย จากอัตราการติดเชื้อของไทยที่เพิ่มขึ้นกว่า 8 พันราย แต่การเสียชีวิตยังไม่สูงเท่ากับการระบาดระลอกก่อน ทำให้เกิดข้อคำถามว่าขณะนี้ สถานการณ์โควิดกำลังจะไปถึงจุดที่จะเป็น "โรคประจำถิ่น" แล้วหรือยัง และมีการที่จะเป็นโรคประจำถิ่นได้นั้นต้องมีปัจจัยอะไรบ้าง
ภาพรวม 21 ม.ค. ที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อโอมิครอน 10,721 ราย โดยจังหวัดที่พบจำนวนมากไล่เรียงไป คือ กรุงเทพฯ ชลบุรี ภูเก็ต ร้อยเอ็ด สมุทรปราการ สุราษฎร์ธานี กาฬสินธุ์ อุดรธานี เชียงใหม่ และขอนแก่น
ทำให้ปัจจุบัน สัดส่วนสายพันธุ์ในประเทศไทยเป็น โอมิครอน 87% และเดลตา 13% เมื่อแยกเป็นกลุ่มผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ โอมิครอน 96.9% เดลตา 3.1% “นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สันนิษฐานได้ว่าผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศแล้วพบติดเชื้อจะเป็นโอมิครอนทั้งหมด ส่วนกลุ่มอื่นในประเทศ เป็นโอมิครอน 80.4% และเดลตา 19.6%
ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้การติดเชื้อโควิด 19 ในประเทศไทยกลุ่ม 8 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยวพบแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี ส่วนจังหวัดอื่นๆ ยังทรงตัว เช่น ชลบุรีแนวโน้มลดลง ภูเก็ตก็ยังทรงตัว เป็นต้น
ขณะเดียวกัน การติดเชื้อโควิดช่วงต้น ม.ค. 2565 เป็นต้นมา เป็นสายพันธุ์โอมิครอนประมาณ 87% โดยเฉพาะที่มาจากต่างประเทศเป็นโอมิครอนเกือบ 100% ผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อนและติดเชื้ออีกครั้งพบว่า เป็นโอมิครอน 100% ส่วนผู้ที่รับวัคซีนครบแล้วติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นโอมิครอน แต่อาการไม่รุนแรง ดังนั้น การฉีดวัคซีน 2 เข็ม ป้องกันติดเชื้อไม่ค่อยได้ แต่ป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิตชัดเจน จึงต้องมีภูมิให้มากเพียงพอ จึงต้องฉีดกระตุ้นเข็ม 3
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า การทำให้เป็นโรคประจำถิ่นในปีนี้ ก็เป็นความตั้งใจ แต่ไม่ได้แปลว่าจะเป็นโรคประจำถิ่นแล้วไม่ต้องทำอะไร อย่างไข้หวัดใหญ่ก็ฉีดวัคซีนทุกปี และแม้จะเป็นโรคประจำถิ่นอย่างไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก มาลาเรีย ก็ยังมีผู้เสียชีวิตทุกปี แต่น้อยมาก ซึ่งก็มีวิธีบริหารจัดการควบคุมโรค ก็ต้องฉีดวัคซีนต่อไป และต้องดูแลป้องกันไม่ให้ติดเชื้อโรค
- 3 ปัจจัยสำคัญสู่ "โรคประจำถิ่น"
ขณะเดียวกัน การที่ โควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นนั้น นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวในงานแถลงข่าวอัพเดทสถานการณ์โควิด-19 เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 64 โดยอธิบายถึงประเด็นที่มีข้อสงสัยว่า ในอนาคตแนวโน้มโอมิครอนเป็นโรคประจำถิ่น และจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักได้หรือไม่ อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายว่า โอมิครอน เป็นเชื้อไวรัสที่เป็นสายพันธุ์ย่อยสายพันธุ์หนึ่งซึ่งอาจจะมีความแตกต่างจากสายพันธุ์ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นอัลฟ่า เดลต้า
พฤติกรรมที่เห็นตรงกัน คือ แพร่ระบาดได้มากขึ้น เนื่องจากเชื้อจับทางเดินหายใจส่วนบน และแพร่กระจายออกมาเนื่องจากไอมากขึ้น และตัวเชื้อจับกับเซลล์ต่างๆ ได้ดี แต่อาการ จะรุนแรงน้อยกว่าเนื่องจากจับปอดได้ค่อนข้างน้อย
ตอนนี้การระบาดของโควิด-19 ไม่ว่าจะสายพันธุ์ไหน มีการระบาดทั่วโลก และระบาดใหญ่ หลังจากผ่านไปสองปี เราเรียนรู้กับมันและพบว่าโอกาสที่คนทั่วโลกร่วมกันกำจัดเชื้อโควิด-19 ไม่ว่าจะสายพันธุ์ไหนให้หมดไปเป็นไปได้ยาก
ดังนั้น โรคก็จะกลายเป็นโรคที่อยู่กับเราคือโรคประจำถิ่น ซึ่งการที่จะเป็นโรคประจำถิ่นได้ มี 3 ปัจจัย คือ
1. ตัวเชื้อโรคเอง
2. ตัวคนที่เป็นผู้ติดเชื้อ
3. สิ่งแวดล้อมเอื้อให้เกิดการสมดุลระหว่างเชื้อกับคน หากพูดง่ายๆ คือ เชื้ออยู่ได้คนอยู่ได้
การที่เชื้ออยู่กับคนได้ในสิ่งแวดล้อม คือ เชื้อมีความรุนแรงค่อยๆ ลดลง เพราะหากรุนแรงมากคนก็อยู่กับมันไม่ได้ต้องกำจัดมันให้หมด หรือคนก็ต้องถูกกำจัด หากจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น เชื้อโรคจะต้องอยู่กับคนได้ ความรุนแรงจะต้องค่อยๆ ลดลง เช่น โอมิครอน ที่ความรุนแรงค่อยๆ ลดลง
- 2 ปัจจัย คนอยู่กับเชื้อ
ถัดมา คือ คนต้องอยู่กับเชื้อโรคได้ คือ ติดเชื้อแล้วไม่ตาย แต่สามารถแพร่เชื้อได้ในระดับหนึ่ง การที่คนจะอยู่กับเชื้อโรคได้ ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย ได้แก่
1. การฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกัน พอเชื้อโรคมา ก็ไม่ป่วยหนัก เสียชีวิต อยู่กับเชื้อโรคได้
2. ติดเชื้อแล้วสร้างภูมิคุ้มกันโดยธรรมชาติ เป็นต้น
- “โรคประจำถิ่น” คือ คงอยู่ตลอดไป
ด้าน ไมค์ ไรอัน ผู้อำนวยการฝ่ายฉุกเฉิน องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) กล่าวในเวทีเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัมผ่านระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา หัวข้อความเท่าเทียมกันด้านวัคซีน ระบุว่า ผู้คนพูดกันมากเรื่องโรคระบาดใหญ่กับโรคประจำถิ่น โรคประจำถิ่นมาลาเรียคร่าชีวิตคนหลายแสน โรคประจำถิ่นเอชไอวี ความรุนแรงประจำถิ่นในเมืองชั้นใน โรคประจำถิ่นโดยตัวมันเองไม่ได้หมายความว่าดี แค่หมายความว่าจะคงอยู่ตลอดไป
ทั้งนี้ โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่กระจายได้อย่างรวดเร็วติดต่อง่ายกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้ามาก แต่ดูเหมือนรุนแรงน้อยกว่าสำหรับคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว นั่นกระตุ้นให้เกิดการอภิปรายกันว่าโควิดกำลังเปลี่ยนจากการเป็นโรคระบาดใหญ่สู่โรคประจำถิ่น ซึ่งตีความได้ว่าผ่านจุดอันตรายไปแล้ว
“สิ่งที่เราจำเป็นต้องทำคือ ทำให้เกิดโรคน้อยโดยฉีดวัคซีนประชากรให้ได้มากที่สุด เพื่อไม่ให้มีใครต้องเสียชีวิต นี่คือการสิ้นสุดภาวะฉุกเฉินในทัศนะของผม นั่นคือ การสิ้นสุดการระบาดใหญ่ เป็นไปได้ที่คลื่นการเสียชีวิตและเข้าโรงพยาบาลจะสิ้นสุดภายในสิ้นปี 2565 โดยใช้มาตรการสาธารณสุขนำโดยการฉีดวัคซีน แต่เรายังหยุดไวรัสไม่ได้ในปีนี้ เราอาจหยุดมันไม่ได้เลย การระบาดใหญ่ของไวรัสจะสิ้นสุดลงด้วยการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ สิ่งที่เราทำได้คือยุติภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข”
ไทยฉีดวัคซีนแล้ว 111 ล้านโดส
ทั้งนี้ หนึ่งปัจจัยสำคัญในการลดความรุนแรงของโรค คือ การฉีดวัคซีน สำหรับ รายงานจำนวนการได้รับวัคซีนสะสม (28 ก.พ. 2564 - 21 ม.ค. 2565) รวม 111,882,595 โดส ใน 77 จังหวัด แบ่งเป็น
จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 52,016,062 ราย
จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 48,059,715 ราย
จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม : 11,806,818 ราย
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า แม้โอมิครอนไม่รุนแรง แต่ก็อาจทำให้เกิดการเสียชีวิตในผู้สูงอายุได้ การฉีดเข็มกระตุ้นจึงจำเป็นมากในกลุ่ม 607 แม้จะเป็นผู้ป่วยติดเตียงที่เสี่ยงติดเชื้อจากภายนอกน้อย แต่ก็มีโอกาสรับเชื้อจากลูกหลาน คนที่ไปเยี่ยม เพราะเชื้อโรคมองไม่เห็น และติดเชื้อไม่ค่อยมีอาการ เวลาไปเยี่ยมผู้ใหญ่ก็อดไม่ได้ที่จะเข้าไปใกล้ชิด ก็ทำให้สูงอายุติดเตียงมีโรคประจำตัว เกิดการติดเชื้อได้ จึงอยากให้ระวังป้องกัน
- ยังคงแจ้งเตือนระดับ 4
ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุข ยังคงแจ้งเตือนภัยโควิด 19 และการปฏิบัติตัวของประชาชนยังอยู่ในระดับ 4 โดยขอให้งดเข้าสถานที่เสี่ยง งดการร่วมกิจกรรมเป็นเวลานาน และชะลอการเดินทางที่ไม่จำเป็น ซึ่งการเตือนภัยนี้ ทำให้สามารถชะลอการระบาดได้ตั้งแต่ต้นปี แม้ในตอนนี้บางจังหวัดดีขึ้น แต่บางจังหวัดก็เพิ่มมากขึ้น จึงยังเตือนภัยที่ระดับ 4 ทั้งหมด โดยเฉพาะพื้นที่ กทม. ปริมณฑล และ จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว ขอให้เคร่งครัดมาตรการมากขึ้น เพราะมีสัญญาณการแพร่ระบาดมากขึ้น