องค์กรพิทักษ์สัตว์ฯ ห่วงการกำจัดหมูติดโรค ASF กระทบสวัสดิภาพสัตว์

องค์กรพิทักษ์สัตว์ฯ ห่วงการกำจัดหมูติดโรค ASF กระทบสวัสดิภาพสัตว์

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ย้ำเร่งใส่ใจ ‘สวัสดิภาพสัตว์’ ห่วงผลกระทบจากวิกฤตโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ลำพังแม่หมูถึงร้อยละ 75 ก็ต้องมีชีวิตในกรงขังตลอดชีวิต

ปัญหาวิกฤตหมูราคาแพง เกิดจากหลายสาเหตุ แต่ปัจจัยที่สำคัญในขณะนี้คือ โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever) หรือ เชื้อไวรัส "ASF" ไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคระบาดใน “หมู” ซึ่งกำลังเป็นประเด็นที่คนในสังคมตื่นตัว 

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) จึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐเร่งกำหนดแนวทางการจัดการที่ชัดเจนให้ความสำคัญกับ สวัสดิภาพสัตว์ ในการจัดการโรคระบาด รวมถึงการกำจัดหมูที่ตายหรือติดโรคในฟาร์มจำนวนมหาศาล 
 

นาย โชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการโครงการสัตว์ฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวว่า จากข้อมูลเมื่อปี พ.ศ. 2562 มีการประเมินว่ามีหมูถึง 1 ใน 4 ทั่วโลกจะตายจากการระบาดของ โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เมื่อระบาดจะกำจัดโรคได้ยาก เพราะในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนในการป้องกัน หมูที่ติดเชื้อมีการตายเฉียบพลันเกือบทั้งหมด 

“ตอนนี้ในประเทศไทย เราได้เห็นจากภาพข่าวมีซากหมูที่ถูกพบในลำน้ำสาธารณะ บริเวณพื้นที่รอบๆ ฟาร์มหมู ฯลฯ ที่ปรากฎในสื่อหลายสำนักข่าวตลอดช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดคำถามถึงวิธีการจัดการที่เหมาะสม มีมนุษยธรรมที่สอดคล้องกับหลักปฏิบัติสากลเพื่อลดความเสี่ยงในการระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
 

องค์กรพิทักษ์สัตว์ฯ ห่วงการกำจัดหมูติดโรค ASF กระทบสวัสดิภาพสัตว์ แม่หมูถึงร้อยละ 75 ที่ต้องมีชีวิตในกรงขังตลอดชีวิต เพียงเพื่อผสมพันธุ์

ผู้จัดการโครงการสัตว์ฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวต่อไปว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งหมดเพื่อจัดการทำให้สัตว์ที่ได้รับผลกระทบให้ได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรม เพราะหมูคือสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึกกลัว เจ็บปวดและทรมาน ไม่ต่างจากคน 

“ในฐานะที่ประเทศไทยได้เป็นสมาชิกขององค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) เราจึงอยากเน้นย้ำให้ภาครัฐของไทยให้ความสำคัญกับแนวทางการจัดการอย่างมีมนุษยธรรมและสอดคล้องกับหลักปฏิบัติสากล (Humane Culling) ตามข้อแนะนำขององค์การสุขภาพสัตว์โลก เพื่อให้การควบคุมการระบาดของโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและลดความเจ็บปวดทรมานของสัตว์” 

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกฯ ได้พบกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในต่างประเทศที่ได้รับรายงาน พบว่ามีการฝัง เผาหรือทำให้จมน้ำในขณะที่สัตว์ยังมีชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้และขัดต่อหลักการสวัสดิภาพสัตว์อย่างรุนแรง 

“เราไม่อยากเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะแม้ขณะมีชีวิตอยู่หมูเป็นสัตว์ที่ต้องทนทุกข์ทรมานตลอดชีวิตจากการถูกเลี้ยงดูอย่างแออัด” นายโชคดี กล่าว

องค์กรพิทักษ์สัตว์ฯ ห่วงการกำจัดหมูติดโรค ASF กระทบสวัสดิภาพสัตว์ นาย โชคดี สมิทธิ์กิตติผล

ข้อมูลจากองค์กรฯ ระบุด้วยว่า ปัจจุบันมีจำนวนหมูประมาณร้อยละ 60 ของโลกถูกเลี้ยงอยู่ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีแม่หมูถึงร้อยละ 75 ที่ต้องมีชีวิตในกรงขังตลอดชีวิต เพียงเพื่อผสมพันธุ์ และใช้ชีวิตในกรงเหล็กขนาดไม่ใหญ่ไปกว่าตู้เย็นซึ่งไม่สามารถหันหลังกลับได้ 

นอกจากนี้ ลูกหมูที่เกิดใหม่จะถูกพรากจากแม่หมูโดยเร็ว โดยลูกหมูส่วนหนึ่งจะถูกนำไปสู่การตัดตอนอวัยวะ การตัดหาง การกรอฟัน หรือการตอนสด 

การเลี้ยงหมูโดยไม่ใส่ใจสวัสดิภาพสัตว์ เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้หมูเกิดความเครียดและอ่อนแอง่าย ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการติดโรคต่างๆ รวมถึงโรค ASF และยังเป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้เกิดการใช้ยาปฏิชีวนะจำนวนมหาศาลและเกินความจำเป็นในฟาร์ม ซึ่งนำไปสู่การเกิดเชื้อซูเปอร์บั๊กส์ (Superbugs) หรือแบคทีเรียที่มีฤทธิ์ต่อต้านยาปฏิชีวนะขึ้น เชื้อซูเปอร์บั๊กส์นี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมอีกด้วย 

องค์กรพิทักษ์สัตว์ฯ ห่วงการกำจัดหมูติดโรค ASF กระทบสวัสดิภาพสัตว์ การปฏิบัติต่อลูกหมูเกิดใหม่ในฟาร์ม

นางสาว โรจนา สังข์ทอง ผู้อำนวยการ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย เสริมว่า “ทุกวันนี้นอกจากปัญหาหมูแพงแล้วประชาชนต่างหวาดกลัวกับวิกฤตโรค ASF ทำให้แทบจะไม่กล้าบริโภคหมู

"หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องเร่งสื่อสารและต้องเปิดเผยรายงานและข้อมูลการระบาดอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ และต้องเร่งทบทวนนโยบายและมาตรการที่มีอยู่ในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค รวมถึงการกำจัดซากสุกรให้สอดคล้องกับหลักปฏิบัติสากลที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติจริงได้ และส่งเสริมให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเกษตรผู้ได้รับผลกระทบและภาคประชาสังคมเข้ามีส่วนร่วมอย่างครอบคลุมและมีนัยสำคัญ” 

ผู้อำนวยการ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกฯ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาองค์กรฯ ได้รณรงค์อย่างต่อเนื่องผ่านสื่อที่หลากหลาย เพื่อให้ความรู้และส่งเสริมให้เกิดการเลี้ยงหมูโดยใส่ใจในสวัสดิภาพสัตว์ผ่านแคมเปญต่างๆ อาทิ โครงการเลี้ยงหมูด้วยใจ อีกทั้งองค์กรฯ ได้ทำงานร่วมกับอาสาสมัครในการเข้าพื้นที่ เพื่อพูดคุยกับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูและชุมชมโดยรอบ ทำให้เข้าใจถึงปัญหาและความกังวลของเกษตรผู้เลี้ยงหมู

องค์กรพิทักษ์สัตว์ฯ ห่วงการกำจัดหมูติดโรค ASF กระทบสวัสดิภาพสัตว์

องค์กรฯ พร้อมที่จะนำเสนอข้อมูลและองค์ความรู้ต่างๆต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนการดำเนินงานเพื่อเร่งพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ พร้อมส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตกรรวมทั้งสุขภาพของผู้บริโภคโดยรวม 

“จากวิกฤตโรค ASF ในครั้งนี้ ควรจะต้องเป็นการจุดชนวนให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูประบบอาหารที่เป็นอยู่อย่างจริงจังและเร่งด่วน โดยจะต้องคำนึงถึงความหลากหลายของแหล่งที่มาของโปรตีน รวมทั้งยกระดับสวัสดิภาพของสัตว์เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ระบบการผลิตอาหารของเรามีความยั่งยืนและปลอดภัย ทั้งต่อผู้บริโภค ต่อสัตว์และต่อสิ่งแวดล้อม” นายโชคดี กล่าว