สัตว์ป่าไม่ใช่เครื่องสร้างความบันเทิงให้คน
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) เชิญร่วมรณรงค์ยุติการทารุณกรรมสัตว์ทั้งที่เป็นการกระทำโดยตรงและทางอ้อม ผ่านหลักการ เรียกว่า ‘5 Freedoms’ ในการเลี้ยงและปฏิบัติต่อสัตว์ทั้งสัตว์เลี้ยง สัตว์ในชุมชน สัตว์ในอุตสาหกรรมอาหาร และสัตว์ป่า
สุนัขจรจัดถูกฟันปากเป็นแผลเหวอะหวะเพราะคนหมั่นไส้ที่ถูกเห่า คนแอบเอาสุนัขไปปล่อยที่วัดเพราะหมดรัก-เลี้ยงไม่ไหว กลายเป็นปัญหาของวัด เพราะสุนัขออกลูกออกหลานตามมาอีกมากมาย เกิดโรคติดต่อ เป็นขี้เรื้อน หรือรุนแรงเป็นโรคพิษสุนัขบ้าเพราะขาดการดูแล ส่งผลกระทบถึงชุมชน หรือการปล่อยสัตว์เลี้ยงไปถ่ายมูลหน้าบ้านคนอื่นก็ลุกลามกลายเป็นปัญหาทะเลาะเบาะแว้งใหญ่โตได้ง่ายๆ .... เป็นกระแสข่าวสลดใจที่ไม่หมดไปจากสังคมสักที
สำหรับคนเลี้ยงสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น ‘สัตว์เลี้ยง’ ตามบ้าน บ่อยครั้งที่เจ้าของคิดว่าเลี้ยงอย่างดีแล้ว แต่กลับกลายเป็นการทารุณสัตว์โดยไม่รู้ตัว เช่นเดียวกับ ‘สัตว์ในภาคอุตสาหกรรม’ เลี้ยงตามคู่มือสร้างรายได้สุงสุด แต่กลับทำให้สัตว์ได้รับความเจ็บปวดหรือทุกข์ทรมานใจ โดยเฉพาะ ‘สัตว์ป่า’ ที่ถูกจับมาขังและฝึกเพื่อแสดงให้คนดู
ตัวแทน องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) จะพูดแทนสัตว์เหล่านั้น
“องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เริ่มตั้งในประเทศอังกฤษเมื่อปีพ.ศ.2493 ใช้ชื่อว่า The World Federation for the Protection of Animals หรือ WFPA แล้วในปีพ.ศ.2557 เราเปลี่ยนชื่อเป็น World Animal Protection สำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศอังกฤษ มีสำนักงานทั่วโลก 15 แห่ง เฉพาะในเอเชียมีที่ประเทศไทย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน อินเดีย และมีที่สวีเดน เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ แคนาดา สหรัฐอเมริกา บราซิล คอสตาริกา โคลอมเบีย เคนยา” โรจนา สังข์ทอง ผู้อำนวยการองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (ประเทศไทย) กล่าว
สำหรับประเทศไทย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทรงมีพระกรุณาธิคุณเสด็จเปิดสำนักงานที่กรุงเทพฯ เมื่อวันพฤหัสฯ ที่ 13 กันยายน พ.ศ.2550 ณ สยามสมาคม
โรจนา สังข์ทอง ผู้อำนวยการองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (ประเทศไทย)
@ ขอทราบหน้าที่การทำงานขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก
"เรามีวิชั่นเขียนไว้ว่า We move the world to protect animal ความหมายคือเราพยายามทำทุกอย่างเพื่อส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์และยุติการทารุณกับสัตว์ต่างๆ
we หมายถึงคนทุกคนบนโลก ทั้งคนจากองค์กรภาคีเครือข่าย คนจากรัฐบาล และประชาชนทั่วไป เพราะการจะปกป้องสัตว์ได้ เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะทำงานคนเดียว
ในเมืองไทย เราทำงานจริงๆ 4 ด้าน คือ สัตว์ในชุมชน คือ หมา แมว, สัตว์ในฟาร์ม, สัตว์ป่า, และสัตว์ในพื้นที่ภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม ฝนแล้ง สึนามิ แผ่นดินไหว
สามกลุ่มแรก การทำงานของเราคือการส่งเสริมคุณภาพชีวิตสัตว์ ให้สัตว์มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
แต่พอพูดถึงสัตว์ในพื้นที่ภัยพิบัติ การทำงานของเราคือปกป้องชีวิตสัตว์ เรามีทีม animal disaster ที่ประกอบด้วยสัตวแพทย์และผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ สำหรับลงพื้นที่ เราทำงานทั่วโลก ไม่เฉพาะที่ที่มีสำนักงานตั้งอยู่ เช่น มีแผ่นดินไหวที่อินโดนีเซีย เราก็ไปทำงานที่นั่น เราช่วยเหลืองานโปรเจคในลาว ในมองโกเลีย มีไฟป่าที่บราซิล เราก็ไปช่วย เรามีทีมติดต่อสื่อสารกันและกันแต่ละประเทศ เช่นในฟิลิปปินส์มีพายุไต้ฝุ่นปีละหลายลูก คนรับมือกับน้ำท่วมตลอดเวลา เรามีทีมลงไปฝึกอบรมชาวบ้านให้เตรียมตัวรับมือภัยพิบัติ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น สัตวแพทย์ในพื้นที่ ความสูญเสียเลี่ยงไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด ถ้าเรามีการเตรียมตัว"
กรกฎาคม 2016 : การช่วยเหลือสัตว์และชุมชนดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ จากสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี ส่งผลให้โค กระบือ กว่า 28,000 ตัว ในพื้นที่ ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ทั้งขาดน้ำ ขาดอาหาร ร่างกายอ่อนแอและเจ็บป่วย (ภาพ :www.worldanimalprotection.or.th)
@ ในที่ที่มีภัยพิบัติ มีคำถามทำไมไม่คิดจะช่วยคนก่อน ทำไมเน้นไปที่สัตว์?
“ความจริงมีองค์กรเยอะมากที่ช่วยรักษาชีวิตคน แต่เรามองแบบนี้ค่ะ สังเกตทุกครั้งที่เกิดภัยพิบัติจากธรรมชาติ คนเดือดร้อนที่สุดคือคนจนที่สุด คนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง เช่นปีค.ศ.2008 เกิดพายุไซโคลนนาร์กีสเข้าพม่า สัตว์บาดเจ็บและตายเยอะ คือสัตว์เป็นเครื่องมือทำมาหากินของคน การที่เราช่วยสัตว์ที่เป็นปศุสัตว์ วัว ควาย แพะ คือเราช่วยรักษาเครื่องมือทำมาหากินให้ ซึ่งหมายถึงชีวิตคนด้วย ถ้าม้าวัวควายตายหมด แล้วคนรอด คนจะเอาอะไรกิน เพราะมันเกี่ยวกับความเป็นอยู่ปากท้องของชาวบ้าน”
@ ในกลุ่มสัตว์ป่า, องค์กรฯ มีการทำงานอย่างไร?
"สัตว์ในป่า ในเมืองไทย เรามีโครงการเพื่อให้ยุติการขี่ช้าง ยุติการอาบน้ำช้าง เราเรียกว่า Wildlife. Not Entertainers. คือสัตว์ป่าไม่ใช่เครื่องสร้างความบันเทิงให้คน
เราเริ่มทำงานกับปางช้างที่เชียงใหม่ ชื่อ ChangChill (ช้างชิลล์) เพื่อเปลี่ยนให้เป็น elephant friendly venue หรือ ‘ปางช้างที่เป็นมิตรกับช้าง’ โดยที่ให้คนไปดูช้างได้ แต่ไม่มีการขี่ช้าง ไม่มีการอาบน้ำช้าง ปล่อยให้ช้างอยู่ตามธรรมชาติ มีควาญดูแล แต่ไม่มีการล่ามโซ่ช้างตลอดเวลา อาจล่ามโซ่บ้างในช่วงเวลากลางคืนเพื่อความปลอดภัยของช้าง
เรามีหอดูช้าง เดินห่างๆ เห็นพฤติกรรมช้างตามธรรมชาติ ถ้าคนดูตระหนักว่าการขึ้นขี่ช้างเป็นการทำร้ายช้างทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยไม่รู้ตัว คนรักช้างจะไม่ทำ
เรื่องการอาบน้ำช้าง คิดง่ายๆ เราอาบน้ำวันละสองรอบ จะสามรอบถ้าอากาศร้อน แต่ถ้าช้างอาบน้ำทุกสองชั่วโมงเพื่อให้คนมาดู มันไม่ใช่
การให้อาหารช้างก็เหมือนกัน ช้างเป็นสัตว์ที่กินเยอะ แต่ถ้าถูกยื่นให้กินตลอดเวลา ก็ไม่ใช่ เรามีรางใส่อาหารให้ช้างกินเอง ควรให้เขาเลือกเวลากินเอง เลือกเวลาลงอาบน้ำเอง เลือกเวลาคลุกฝุ่นเอง ให้เขาได้เดินตามธรรมชาติของเขา แล้วเราก็สังเกตการณ์ ไม่ใช่บังคับให้เขาให้ความสุขเรา
โครงการ Tiger Breeding Ban (ภาพ : www.worldanimalprotection.or.th)
งานที่สองที่เราทำคือ Tiger Breeding Ban สังเกตตามสวนสัตว์ที่เพาะพันธุ์มา เพื่อให้มีเสืออยู่ในสวนสัตว์ หรือเอาชิ้นส่วนไปทำยาแผนโบราณ ไม่ใช่ทำให้เสือเกิดมาเพ่ื่อใช้ชีวิตตามธรรมชาติ เสือที่เพาะเลี้ยงก็ไม่ใช่เสือไทย แต่เป็นเสือเบงกอล เพาะพันธุ์มาก็อยู่ในป่าเมืองไทยไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นสภาพแวดล้อมของเขา
เราเดินทางไปนำเสนอแผนงาน(roadshow)ตามมหาวิทยาลัย เพื่อรวบรวมรายชื่อคนที่สนใจ ยื่นให้รัฐบาลมีกฎหมายหยุดเพาะพันธุ์เสือ เพื่อแก้ปัญหาถาวร
แต่เรื่องช้าง ‘ไวล์ไลฟ์ น็อต เอนเตอร์เทนเนอร์’ เราประชุมไอเดีย-คอนเซปต์ และเชิญเจ้าของปางช้าง นักธุรกิจเจ้าของบริษัทนำเที่ยว มาตั้งแต่ปีค.ศ.2017 พัฒนาไอเดียมาเรื่อยๆ ทำวิจัย มีผู้เชี่ยวชาญด้านช้างร่วมทำช้อมูล ทำให้เขาเห็นว่าสิ่งที่เราพูด พิสูจน์ได้ เราทำทางเหนือแล้ว ตอนนี้เราเริ่มทำทางใต้ที่เกาะลันตาเป็นแบบจำลอง เพื่อให้เจ้าของธุรกิจปางช้างเห็น ว่าการที่เราปล่อยให้ช้างอยู่ตามธรรมชาติ ไม่ขี่ช้าง ไม่อาบน้ำช้าง ก็สามารถทำเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนได้
เทรนด์ของโลก คนมีความตื่นตัวมากขึ้นที่จะปกป้องและดูแลสัตว์ ถ้าเขารู้แล้ว ว่าเขารักสัตว์ แต่ถ้าทำแบบนั้นจะเป็นการทำร้ายสัตว์ ลักษณะการบริโภคของเขาก็จะเปลี่ยนแปลง
เราทำงานร่วมกับบริษัทท่องเที่ยวใหญ่ๆ 240 บริษัททั่วโลก เพื่อโปรโมต elephant friendly venue ให้เขาตัดการขี่ช้างท่องเที่ยวออกจากโปรแกรม และให้มีทางเลือก ถ้าความต้องการในการขี่ช้างไม่มีแล้ว การจัดหาก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามตลาด
โรจนาพร้อมด้วยผู้บริหารเซ็นทรัล และดารา+เซเลบริตี้ ร่วมรณรงค์แคมเปญ Life is Better with Dogs
@ ลักษณะการทำงานสำหรับกลุ่ม ‘สัตว์ในชุมชน’ เป็นอย่างไร?
"เราเน้นไปที่สุนัข เรามีแคมเปญ Life is Better with Dogs มีการวิจัยออกมาเยอะมาก การที่เราเลี้ยงหมา ทำให้คนม่ีความสุขมากขึ้น ช่วยภาวะโรคซึมเศร้า
แต่ในความเป็นจริง แต่ละปีมีสุนัขทั่วโลกกว่า 10 ล้านตัวถูกวางยาและถูกฆ่าตาย เพียงเพื่อหยุดการแพร่กระจายของโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งแท้จริงแล้วเกิดจากการไม่เอาใจใส่ของผู้เลี้ยงสุนัข
ในเมืองไทย สามปีที่ผ่านมา เราบริจาควัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กรมปศุสัตว์แล้ว 25,000 เข็ม แต่จะทำอย่างไรให้สัตว์ตามบ้าน สัตว์ในชุมชน ปลอดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนโดยตรง เราทำงานร่วมกับรัฐบาล กรมปศุสัตว์ เพื่อให้ความรู้เรื่องการทำจำนวนประชากรสุนัข
ปีนี้เรามีกิจกรรม one photo one vaccine ให้คนทั่วไปถ่ายรูปกับสัตว์เลี้ยงของเขา แท็กเฟซบุ๊คเรา หนึ่งภาพที่ได้เราบริจาควีคซีนหนึ่งเข็มให้กรมปศุสัตว์
@ ดูแลไปถึงสัตว์ในภาคอุตสาหกรรม?
"หมู ไก่ วัว เป็นสัตว์จำนวนมาก เป็นเศรษฐกิจใหญ่ของประเทศ เพราะรัฐบาลก็อยากให้ส่งออก มีการผลิตเยอะๆ แต่เรามีแคมเปญของเราอันหนึ่ง Raise pigs right คือการเลี้ยงหมูอย่างใส่ใจ ให้แม่หมูออกมาจากคอก เพราะแม่หมูนับล้านตัวต้องทุกข์ทรมานอยู่ในคอกแคบๆ มีขนาดไม่ต่างจากตู้เย็นทั้งชีวิต
ถ้าดูทั้งกระบวนการเลี้ยงหมูจนมาวางขายในท้องตลาดที่ทำให้เรากินได้ ถ้าหมูนั้นไม่ได้เลี้ยงมาอย่างใส่ใจ ถ้าหมูเครียด ก็จะกัดหางกัดหูตัวอื่น ก็ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ไก่ในฟาร์มใหญ่ ก็จะปูพรมฉีดยาปฏิชีวนะ
องค์กรฯ ไม่ต้องการให้ทุกคนเลิกกินเนื้อสัตว์ สัตว์ในระบบอุตสาหกรรมคือเป็นสัตว์เพื่อการบริโภคอยู่แล้ว แต่ระหว่างที่สัตว์มีชีวิต การเลี้ยงดู การดูแลเขาอย่างไรให้เขามีความสุขมากที่สุด และฆ่าอย่างไม่ทรมาน เราไม่ใช่ป้องกันแค่สัตว์ แต่ช่วยเรื่องการบริโภคของคนด้วย ที่จะได้อาหารอย่างมีคุณภาพ ปลอดภัย
พอเราพูดถึง ‘การผลิตอาหารทั้งระบบ’ มันเกี่ยวข้องกับทุกอย่าง เรากินเนื้อวัว กว่าจะมาเป็นชิ้นให้เรารับประทานได้ วิธีการเลี้ยงวัว ต้องตัดป่าปลูกอาหารสัตว์ เราไม่ได้โปรโมตคนต้องกินมังสวิรัติ แต่เราอยากให้เห็นว่า สิ่งที่เราทำ มีผลกับสัตว์อย่างไร สุดท้ายมีผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร คนบนโลกอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีออกซิเจนในอากาศ ถ้าต้นไม้หายไป สิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้คือฆ่าตัวตายชัดๆ"
แม่หมูในกรงขังที่คับแคบ (ภาพ :www.worldanimalprotection.or.th)
@ ข้อคิดที่มนุษย์จะอยู่ร่วมกับสัตว์โดยไม่เบียดเบียนหรือทารุณกรรมทั้งทางตรงและทางอ้อม
"พูดถึงสวัสดิภาพสัตว์ ถ้าเราจำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับเขา ไม่ว่าจะเป็นสัตว์บ้าน สัตว์ในชุมชน และสัตว์ป่า เรามีคำอธิบายง่ายๆ ว่า ‘ความสุขกายสบายใจของสัตว์’ ให้ยึดหลัก 5 ประการ เรียกว่า ไฟว์ ฟรีดอมส์ (5 Freedoms) ในการเลี้ยงและปฏิบัติต่อสัตว์ คือ
หนึ่ง) อิสระจากความหิวกระหาย ถ้าเราเลี้ยง เราก็ต้องแน่ใจว่าเราให้อาหารเขา
สอง) อิสระจากความไม่สบายกาย มีที่นอน ให้เขาอยู่ในที่ที่เดินได้ ไม่ใช่ล่ามโซ่ตลอดเวลา
สาม) อิสระจากความเจ็บปวดและโรคภัย ถ้าสัตว์เลี้ยงเจ็บป่วยก็ต้องพาเขาไปหาหมอ
สี่) อิสระจากความกลัวและไม่พึงพอใจ สัตว์ก็มีความรู้สึก มีชีวิตจิตใจ ถ้าทำอะไรให้เขากลัว ถือเป็นการเบียดเบียนเขา เช่น ปาก้อนหินใส่หมาจรจัด มีเขาแล้วเอาเขาไปปล่อยทิ้ง
ห้า) อิสระในการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ พูดถึงช้าง หมู หมา เขาต้องมีที่ที่เขาเดินได้ อยู่กับสัตว์ตัวอื่นๆ ในฝูงของเขา มีพื้นที่ให้เขาได้วิ่งเล่น มีอิสระในการใช้ชีวิต ไม่ใช่เอาเขามาอยู่ในกรงขังเพื่อเอนเตอร์เทนเรา หรือสร้างผลผลิต
เราต้องคิดว่า ถ้าเราเจ็บ เราพูดได้ แต่สัตว์พูดไม่ได้ เขาจะมีท่าทาง เราเชื่อว่าทุกคนเป็นคนดี แค่จะเอาความดีของตนเองออกมาใช้กับเพื่อนร่วมโลก ซึ่งสัตว์ก็เป็นหนึ่งในนั้น ถ้าเราไม่อยากมีความทุกข์ ไม่อยากให้ใครมาทำอะไรกับเรา ก็อย่าไปทำแบบนั้นกับสัตว์
อะไรที่เราช่วยเหลือได้ มีความพร้อม มาทำงานร่วมกันผ่านองค์กรเราก็ได้ หรือองค์กรอื่นๆ หรือช่วยกันเป็นหูเป็นตา ทำเองก็ได้ เห็นสุนัขจรจัดเดินน้ำลายฟูมปาก โทรแจ้งกรมปศุสัตว์ โทรแจ้งเรา ถ้าเห็นบ้านไหนจับสัตว์ป่ามากักขัง ก็ช่วยกันเป็นหูเป็นตาได้
คนหนึ่งคนอาจคิดว่าไม่มีพลังอะไรเลย แต่เราสามารถทำได้ เราเป็นผู้บริโภค เราไปซูเปอร์มาร์เก็ต ถามเขาได้ เนื้อหมูนี้เลี้ยงมายังไง ถ้าเราอยากได้เนื้อหมูจากฟาร์มที่เลี้ยงดูดี เขาก็ต้องหามาขาย ถ้าไปเที่ยวสวนสัตว์ ไปเที่ยวปางช้าง เราบอกแค่อยากมาดูช้างเฉยๆ ไม่ขี่ช้าง เขาก็ต้องปรับ ถ้าเราเลิกไปสวนสัตว์ ใครจะเอาสัตว์มากักขังไว้ ในเมื่อไม่มีคนไปดู"
"พฤติกรรมของเราแต่ละคน หลายๆ คน สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้จริงๆ ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มจากตัวเรา เราต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเราก่อน"
ภาพ : กุลพันธ์ ศิริพิมพ์อัมพร
#องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก #WorldAnimalProtection #โรจนา สังข์ทอง #ช้าง #สุนัข #หมู #ไก่ #เสือ #ChangChill
#Raisepigsright #WildlifeNotEntertainers