ทปอ.มรภ.ตั้งเป้าปี 65 สนองยุทธศาสตร์มุ่งพัฒนาท้องถิ่น

ทปอ.มรภ.ตั้งเป้าปี 65 สนองยุทธศาสตร์มุ่งพัฒนาท้องถิ่น

กลุ่มทปอ.มรภ. 38 แห่ง ตั้งเป้าปี 65 สนองยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ร่วมปฏิรูปการศึกษา เร่งขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model

ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมทปอ.มรภ.เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้หารือกันเกี่ยวกับนโยบายในการปฏิบัติงานในปี 2565  ร่วมกันของกลุ่ม มรภ.ทั้ง 38 แห่ง ซึ่งที่ประชุมทปอ.มรภเห็นตรงกันว่านโยบายและหน้าที่สำคัญของทุกสถาบันในเครือข่ายที่ต้องปฏิบัติคือยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น

 

 

  • ราชภัฎพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม 3 มิติ

มหาวิทยาลัยราชภัฏแต่ละแห่งได้มีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ดังกล่าวให้ทันเหตุการณ์ปัจจุบัน ด้วยการนำเรื่องการปฏิรูปการศึกษามาร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม 3 มิติไปพร้อมกัน คือ

  • มิติ 1เศรษฐกิจชีวภาพ ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม
  • มิติ2 เศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นการใช้เทคโนโลยีนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด
  • มิติ 3 เศรษฐกิจสีเขียวควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อม

ทปอ.มรภ.ตั้งเป้าปี 65 สนองยุทธศาสตร์มุ่งพัฒนาท้องถิ่น

เป็นการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ของคณาจารย์และนักศึกษาเข้ามาช่วยเหลือสังคมและชุมชนได้มาก พร้อมกับการถ่ายทอดภูมิปัญญา ศาสตร์พระราชา เพื่อนำเข้าสู่การยกระดับรายวิชาศึกษา มีการนำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อให้ก้าวทันโลกสู่ศตวรรษที่ 21 โดยเน้นสร้างความเข้มแข็งและประสานงานในกลุ่มราชภัฏ เพื่อสร้างรายได้ สร้างอาชีพ เน้นผู้ประกอบการในยุคดิจิทัล รวมถึงการยกระดับธุรกิจเกษตรตามภูมิภาคต่างๆด้วย

 

  • ปรับหลักสูตร sandbox สนองนโยบายอว.

ผศ.ดร.ลินดา  กล่าวต่อไปว่า  ที่ประชุมยังได้หารือแนวทางการปรับหลักสูตร sandbox สนองนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา  วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม( อว.) เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาทำงานและเรียนไปด้วย

ที่สำคัญยังได้วุฒิการศึกษาด้วย  นอกจากนี้ยังได้หารือและติดตามผลการดำเนินงานมูลนิธิคุรุอุปถัมภ์ และโครงการปฏิรูปการศึกษาในรูปแบบสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน เพื่อรองรับความต้องการของแรงงาน 

อีกทั้งยังหารือถึงรูปแบบการผลิตครู การปรับโครงการวิจัยเชิงบูรณาการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด ซึ่งงานทั้งหมดสามารถทำเป็นรูปธรรมได้ทันทีภายใต้เครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็งของอธิการบดีและผู้บริหารมรภ.ทั้ง 38 แห่ง 

อย่างไรก็ตาม องค์กร สถาบัน นักศึกษาและประชาชนที่สนใจเข้าร่วมสร้างสรรค์กิจกรรมร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง สามารถติดตามข่าวสารได้ที่ เฟซบุ๊คเพจ ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ หรือ โทร. 06-3457 -1555