ศบค. เผย "โอมิครอน" กระจายทุกจังหวัด แนะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น
ศบค. เผย "โอมิครอน" กระจายทุกจังหวัด แนะประชาชน ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว 3 เดือน ฉีด "วัคซีนเข็มกระตุ้น" ผลการศึกษากระตุ้น แอสตร้าเซนเนก้า และ ไฟเซอร์ การป้องกันติดเชื้อ เสียชีวิตไม่ต่างกัน
วันนี้ (25 ม.ค. 65) ที่ทำเนียบรัฐบาล “พญ.สุมนี วัชรสินธุ์” ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค รายงาน "สถานการณ์โควิด-19" พบไทยติดเชื้อรายใหม่ 6,718 ราย แบ่งเป็น
- ติดเชื้อในประเทศ 6,497 ราย
- ติดเชื้อจากต่างประเทศ 152 ราย
- จากเรือนจำ 69 ราย
- เสียชีวิตรายใหม่ 12 ราย
ผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,391,357 ราย เสียชีวิตสะสม 22,057 ราย รักษาตัวอยู่ 81,532 ราย อาการหนัก 548 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 114 ราย หายป่วยเพิ่ม 7,659 ราย หายป่วยสะสม 2,287,768 ราย
- เสียชีวิต 67% ไม่ได้รับวัคซีน / ได้รับไม่ครบ
รายงานผู้เสียชีวิตรายใหม่ 12 ราย ค่ากลางของอายุที่เสียชีวิต คือ 69 ปี โดยภาคใต้เสียชีวิตมากที่สุด 5 ราย ทั้งนี้ ในจำนวนผู้เสียชีวิต 12 ราย พบว่า ไม่ได้รับวัคซีน 5 ราย รับวัคซีนไม่ครบ 3 ราย รวมคิดเป็น 67% และได้รับวัคซีนครบ 4 ราย คิดเป็น 33%
- ทิศทางติดเชื้อ ยังทรงตัว
พญ.สุมนี กล่าวต่อไปว่า คาดการณ์ผู้ติดเชื้อจากปีใหม่ที่ผ่านมา ทิศทางทรงตัวไม่มีทิศทางเพิ่ม อยู่ในเส้นคาดการณ์สีเขียว ซึ่งมีการติดเชื้อระดับปานกลาง แม้ว่าจะมีผู้ติดเชื้อทิศทางไม่เพิ่ม แต่ยังคงไม่สามารถไว้วางใจได้ ในการอยู่กับโควิดต้องปฏิบัติตนมาตรการอย่างเค่งครัด และรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อให้ทิศทางติดเชื้อลดลงและสามารถอยู่กับโรคได้
- โอมิครอน กระจายทุกจังหวัด
ขณะที่ คาดการณ์ผู้เสียชีวิต ยังคงต่ำกว่าคาดการณ์หลังการระบาด โอมิครอน และจากสถานการณ์วันหยุดปีใหม่ยังคงลดลงช้าๆ สอดคล้องสถานการณ์โลก แม้ติดเชื้อเพิ่มอัตราเสียชีวิตไม่เพิ่ม ปัจจัยสำคัญ คือ ได้รับวัคซีนครบโดส และจากการรายงานพบ โอมิครอน กระจายไปยังทุกจังหวัด วัคซีนเข็มกระตุ้นสำคัญ เพราะเมื่อผ่านไปหากได้รับครบ 2 เข็มแล้ว สามเดือนภูมิคุ้มกันจะลดลง
- วัคซีนบูสเตอร์ กันป่วยหนักจาก "โอมิครอน" ได้
ผลวิจัยชุดใหม่ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐ เปิดเผยว่า ผลการวิจัยของ CDC ทั้งสามรายการ เป็นผลวิจัยชุดแรก ๆ ที่ศึกษาถึงประสิทธิภาพของวัคซีนในการต้านไวรัสโอมิครอนในสหรัฐ และได้ตอกย้ำถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์เพื่อยับยั้งอาการเจ็บป่วยขั้นรุนแรงจากไวรัสโอมิครอนที่กำลังระบาดอย่างหนักในสหรัฐ โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่กว่า 99% เป็นสายพันธุ์นี้ วัคซีนเข็มบูสเตอร์สามารถยับยั้งโอกาสเสี่ยงที่ผู้ติดเชื้อจะต้องรับบริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน หรือโอกาสที่จะต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากโควิด-19 ได้
นอกจากนี้ ผลการวิจัยฉบับหนึ่งยังได้เก็บข้อมูลในช่วงปลายเดือน ส.ค. 2564 จนถึงต้นเดือน ม.ค. 2565 พบว่า การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นของไฟเซอร์-ไบออนเทคหรือโมเดอร์นานั้น สามารถช่วยลดความเสี่ยงที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล หรือห้องฉุกเฉินได้ถึง 94% ในช่วงการระบาดของไวรัสเดลตา และ 82% ในช่วงที่ไวรัสโอมิครอนเริ่มระบาด
- ไทยฉีด "วัคซีนเข็ม 3" แล้ว 17.9%
จำนวนการได้รับวัคซีนสะสม (28 ก.พ. 2564 - 24 ม.ค. 2565) รวม 112,759,859 โดส ใน 77 จังหวัด แบ่งเป็น
จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 52,088,514 ราย (74.9%)
จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 48,208,002 ราย (69.3%)
จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม : 12,463,343 ราย (17.9%)
- ภาพรวมยอดฉีดวัคซีน วันที่ 24 มกราคม 2565
ยอดฉีดทั่วประเทศ 288,356 โดส
เข็มที่ 1 : 22,996 ราย
เข็มที่ 2 : 47,236 ราย
เข็มที่ 3 : 218,124 ราย
กระตุ้นแอสตร้าฯ - ไฟเซอร์ ผลไม่ต่างกัน
พญ.สุมนี กล่าวต่อไปว่า ในการศึกษาประเทศไทย การประมวลผลการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 จากช่วงแรกที่เป็นสายพันธุ์เดลตา มีการเก็บข้อมูลจาก ภูเก็ต กทม. เชียงใหม่ ในผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม พบว่า ยังคงมีประสิทธิผลลดการติดเชื้อ ที่ กทม. 60-75% ขณะที่เชียงใหม่ วัคซีนเชื้อตายอยู่ที่ 28% mRNA 90% ประสิทธิภาพของการลดเสียชีวิต 97% ในทุกสูตร
ขณะที่เข็มกระตุ้น เข็มที่ 3 ในภูเก็ต พบว่า ป้องกันการติดเชื้อ 94.2% ขณะที่ เข็มกระตุ้นป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต 100% ส่วนเชียงใหม่ป้องกันการติดเชื้อ 96 – 98% และป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต 99%
ทั้งนี้ หลังจากมีการเก็บข้อมูล โอมิครอน ใน จ.กาฬสินธุ์ พบว่า วัคซีนเข็มกระตุ้น สามารถป้องกันการติดเชื้อ 79-89% จากข้อมูลพบว่าการฉีดเข็มเข็มกระตุ้น ป้องกันการติดเชื้อโอมิครอน 80-90% โดยวัคซีนทุกสูตรป้องกันการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ 90-100%
"และเมื่อฉีดวัคซีนครบโดสไม่ว่าสูตรไหน เกิน 3 เดือน ต้องรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน การฉีด "วัคซีนเข็ม 3" ไม่ว่าจะ "แอสตร้าเซนเนก้า" และ "ไฟเซอร์" ป้องกันการติดเชื้อและเสียชีวิตได้ไม่ต่างกัน"
- เช็กจุดฉีดวัควีนเข็มกระตุ้น กทม.