ข้อปฏิบัติดูแล“กลุ่มเปราะบาง” แบบHome Isolation
กรมอนามัยแนะข้อปฏิบัติดูแลกลุ่มเปราะบาง แบบ Home Isolation ย้ำหญิงตั้งครรภ์ต้องรับวัคซีนโควิด19 เข็มกระตุ้น
เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงสถานการณ์โควิด19 ประเด็น “การดูแลกลุ่มเปราะบางให้ปลอดภัยใน Home Isolation” นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ติดเชื้อโควิดมีแนวโน้มสูงขึ้นตั้งแต่หลังเทศกาลปีใหม่ 2565 แม้ส่วนใหญ่อาการน้อยหรือไม่แสดงอาการ โดยมีวางระบบการดูแลที่บ้าน (Home Isolation) แต่มีกลุ่มเปราะบางที่ควรดูแลเป็นพิเศษ คือ หญิงตั้งครรภ์ภาวะอ้วน อายุมาก มีโรคประจำตัว , กลุ่มเด็กเล็กยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน และผู้สูงอายุ เฝ้าระวังการติดเชื้อจากคนใกล้ชิด คนรู้จัก ครอบครัว โดยเฉพาะที่มีโรคประจำตัว เช่น หัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน เพราะมีโอกาสมีความรุนแรงสูง
“ผู้สูงอายุที่แม้ติดเชื้อสัดส่วนไม่สูงมาก ประมาณ 6-11% แต่การเสียชีวิตจากโควิด19 ช่วงปีใหม่ พบ 75% เป็นผู้สูงอายุ และ 60% มีประวัติเสี่ยงติดจากผู้สัมผัสใกล้ชิด ส่วนกลุ่มหญิงตั้งครรภ์การติดเชื้อหลังปีใหม่ทรงตัว พบการเสียชีวิตเป็นระยะ ซึ่งต้องเฝ้าระวังกลุ่มเปราะบางอย่างสูง เพราะมีโอกาสติดเชื้อจากคนใกล้ชิด ติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไปได้”นพ.สุวรรณชัยกล่าว
กลุ่มเสี่ยงควรตรวจคัดกรองหาเชื้อ ATK เมื่อประเมินตนเองว่ามีความเสี่ยงติดเชื้อ เช่น สัมผัสเสี่ยงสูงผู้ติดเชื้อโควิด ทั้งในบ้าน หรือที่ทำงาน โรงเรียน สถานประกอบการ หรือมีอาการสงสัยติดเชื้อ ไข้ ไอ ลิ้นไม่รับรส ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดศีรษะ หายใจหอบ หายใจลำบาก หรือมีประวัติไปสถานที่เสี่ยงหรือในไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อยืนยัน โดยเฉพาะเป็นสถานที่มีสถานที่แออัด พื้นที่ปิด ระบายอากาศไม่ดี ขอให้ตรวจ AK ทันที
หากผลเป็นลบให้ป้องกันตนเองสูงสุดตลอดเวลาต่อเนื่อง หากเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงให้กักตัวและตรวจ ATK ตามระยะ กรณีผลบวกอย่าตกใจ ตั้งสติ ติดต่อ สปสช. สายด่วน 1330 กด 14 หากมีอาการเล็กน้อย ไม่มีอาการ รับการดูแลรักษาที่บ้าน (HI) หรือในชุมชน (CI) แต่หากมีไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียสนานกว่า 24 ชั่วโมง หายใจเร็วติดขัด ถ้าระดับออกซิจนปลายนิ้วน้อยกว่า 94% จะเข้าเกณฑ์รักษาใน รพ.
นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การระบาดระลอก ม.ค.2565 ติดเชื้อ 1.6 แสนกว่าคนทั่วประเทศ พบใน กทม. ปริมณฑล เกือบ 30% หรือเกือบ 5 หมื่นราย เฉพาะ กทม.รายงานคนเข้า HI ประมาณ 1.4 หมื่นคน อยู่ระหว่างการรักษาHI 5,445 ราย หายดีแล้ว 9,015 คน กรณีการดูแลกลุ่มเปราะบางที่ต้องเข้า HI นั้น หากเป็นหญิงตั้งครรภ์ เมื่อติดเชื้อไม่มีอาการ ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีภาวะครรภ์เสี่ยงสูงสามารถแยกกักที่บ้านได้ ดูแลทางเทเลเมดิซีน ดูแลตนเองเหมือนภาวะตั้งครรภ์ปกติ ยกเว้นมีโรคประจำตัวต่างๆ มีภาวะอ้วนมากๆ หรือไม่เคยฉีดวัคซีนมีความเสี่ยงเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์ว่านอน รพ.หรือไม่ กรณีถ้ามีอาการเจ็บครรภ์ เลือดไหลออกจากช่องคลอด น้ำเดินก่อนกำหนดต้องรีบปรึกษาและไปพบแพทย์ทันที
กรณีเด็กเล็ก ไม่ค่อยมีอาการ หรืออาการเล็กน้อย เช่น ไข้ต่ำ น้ำมูก ไอเล็กน้อย ยังรับประทานอาหารดื่มนมตามปกติ ยังไม่น่ากังวล สามารถกักตัวที่บ้านได้ แต่ต้องมีพ่อแม่ผู้ปกครองดูแลประเมินอาการเด็กตลอดเวลา โดยให้ดูว่ามีไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียสไหม หอบเร็ว ซึมลง ไม่ดูดนม ไม่กินอาหาร หากมีอุปกรณ์วัดปลายนิ้ว แล้วออกซิเจนปลายนิ้วต่ำกว่า 94% ลงมา ถือว่าไม่ปลอดภัยให้ติดต่อเจ้าหน้าที่นำเด็กส่ง รพ. หากยังไม่มีอาการรุนรแง ให้ยาลดไข้ เช็ดตัว ยาลดน้ำมูก ยาผงเกลือแร่เมื่อมีท้องเสียสามารถดูแลที่บ้านได้
ผู้สูงอายุ มีข้อบ่งชี้เรื่องการกักตัวที่บ้าน ต้องมีอายุไม่มากเกิน 75 ปีขึ้นไป สุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่ สธ.กำหนด หากมีโรคเรื้อรังไม่ควรกักตัว วิธีการดูแลคล้ายกับกลุ่มอื่น คือ แยกรับประทานอาหาร ของใช้ งดออกจากบ้าน งดคนมาเยี่ยม แยกห้องน้ำ หากแยกไม่ได้ใช้คนสุดท้าย สวมหน้ากากตลอดเวลา ทั้งผู้สูงอายุและคนดูแล ล้างมือ แยกซักผ้า ล้างภาชนะ ทิ้งขยะ แยกอุปกรณ์เครื่องใช้ ส่วนญาติที่เป็นผู้ดูแล ต้องสวมหน้ากาก เว้นระยะห่างผู้สุงอายุที่ติดเชื้อ หมั่นล้างมือเสมอ คอยจัดส่งอาหารให้ผู้สูงอายุในบ้าน หลีกเลี่ยงไม่ให้ติดต่อโดยตรง แขวนหรือวางไว้ที่โต๊ะหน้าห้อง หากพบมีอาการรุนรแงขึ้น ไข้สูง หายใจหอบ หรือออกซิเจนปลายนิ้วต่ำกว่า 94% ต้องติดต่อเจ่าหน้าที่และส่ง รพ.ใกล้บ้าน
"ผู้แยกกักตัวที่บ้านต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด เผื่อมีอาการแย่ลงให้ปฏิบัติตามคำแนะนำทั้งหมด สมาชิกในครอบครัวหมั่นสังเกตอาการผู้ป่วยและตัวเอง หากมีอาการขึ้นมาแสดงว่าเราก็เสี่ยงติดเชื้อเช่นกันในช่วงของการกักตัว" นพ.เอกชัยกล่าว
สำหรับกรณีเด็กติดเชื้อ พ่อแม่ไม่ติด หรือพ่อแม่เด็กติดเชื้อ เด็กไม่ติด จะมีวิธีการดูแลใน HI อย่างไร นพ.สุวรรณชั ยกล่าวว่า กรณีเด็กติดเชื้อ ผู้ปกครองไม่ติด ถ้าเด็กมีอาการน้อยหรือไม่มีอาการเลยก็อยู่ได้ทั้ง HI หรือฮอสปิเทล แต่ผู้ปกครองจำเป็นต้องดูแลโดยควรมีอายุไม่เกิน 60 ปีไม่มีโรคประจำตัว รับวัคซีนครบ ปฏิบัติตามคำแนะนำเรื่องการดูแลเด็กได้ กรณีเด็กอาการมากหรือโรคประจำตัว แพทย์จะพิจารณาเรื่องรักษาใน รพ.
ส่วนกรณีเด็กไม่ติดเชื้อ แต่ผู้ปกครองติดเชื้อ แนะนำให้แยกกัน โดยให้ญาติดูแลแทน กรณีไม่มีญาติหรือผู้ดูแล สธ.เคยประสานจัดทำแนวทางปฏิบัติร่วมกับกระทรวง พม. สนับสนุนสถานที่ดูแลเด็กช่วงเวลาดังกล่าวชั่วคราว ทั้งสถานสงเคราะห์ บ้านพักในสังกัด และชุมชน
ถามถึงหญิงตั้งครรภ์ต้องรับเข็มกระตุ้นหรือไม่และฉีดเมื่อไหร่ นพ.เอกชัย กล่าวว่า ต้องรับเข็มกระตุ้นเช่นกัน เพราะ 2 เข็มป้องกันโอมิครอนไม่เต็มที่ ต้องบูสต์อีกเข็ม ตอนนี้รับเข็มแรกและสองประมาณ 1 แสนกว่าราย รับบูสเตอร์โดส 8,600 คน ทั้งหมดฉีดไปมีความปลอดภัยดี ไม่มีอะไรรุนแรงจากวัคซีน แต่ช่วงนี้แม้ติดเชื้อเสียชีวิตน้อยลงในสตรีมีครรภ์ แต่คนเสียชีวิตทั้งหมดคือไม่ได้รับวัคซีน ขอให้หญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ฉีดเข้ารับวัคซีน