การป้องกันโควิด ”วัคซีนโควิดเด็ก” 5-11 ปี ผู้ปกครองต้องรู้ก่อนให้ลูกฉีด
รวมทุกข้อมูลผู้ปกครองต้องรู้ ก่อนฉีด”วัคซีนโควิดเด็ก” คิกออฟ 31 ม.ค. แจ้งประสงค์สมัครใจแล้ว 3 ล้านคน ขณะที่วัคซีนไฟเซอร์ฝาสีส้ม ล็อตแรกส่งถึงไทยแล้ว 3 แสนโดส ไตรมาส 1 รวม 3.5 ล้านโดส
ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการแถลงสถานการณ์โควิด-19 ประเด็น “การฉีดวัคซีนโควิดเด็กอายุ 5-11 ปี ชนิดไฟเซอร์” นพ.โอภาส การย์กวินพงษ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ระลอกโอมิครอนในประเทศไทย แนวโน้มขณะนี้การระบาดไม่ได้รุนแรงอย่างที่คาดการณ์ไว้ เพราะมีมาตรการต่างๆ และการได้รับความร่วมมือจากประชาชน อย่างไรก็ตาม แม้แนวโน้มทรงตัว แต่เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ มากขึ้น ต้องติดตามสถานการณ์ต่างๆ และระวังไม่ให้เกิดความประมาทเกิดขึ้น
“วัคซีนโควิดเด็ก”ถึงไทยแล้ว 3 แสนโดส
สำหรับแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี ต้องเป็นวัคซีนไฟเซอร์สูตรสำหรับเด็ก ฝาสีส้มเท่านั้น(ของผู้ใหญ่ฝาสีม่วง) เนื่องจากเป็นวัคซีนชนิดเดียวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ของประเทศไทยแล้ว ซึ่งแผนการส่งมอบนั้น เมื่อวันที่ 26 ม.ค.2565 มีการส่งมอบล็อตแรก 3 แสนโดสมาถึงประเทศไทยแล้ว จากนี้จะมีการส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบคุณภาพ ก่อนกระจายไปยังจุดฉีดทั่วประเทศ และจะเริ่มคิกออฟฉีดในวันที่ 31 ม.ค.2565 ที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) และมีการทยอยจัดส่งต่อเนื่องทุกสัปดาห์ โดยไตรมาส 1 (ม.ค.-มี.ค.)จะมีการส่งมอบ 3.5 ล้านโดส ทั้งนี้ มีการสั่งซื้อสูตรเด็ก 10 ล้านโดส เพียงพอสำหรับเด็ก 5-11 ปี ซึ่งมีราว 5 ล้านคน ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)รายงานว่ามีผู้ปกครองและเด็กสมัครใจฉีดราว 70% หรือราว 3 ล้านคน
สถานที่ฉีดของกลุ่มเป้าหมายต่างๆ
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สถานที่ฉีดวัคซีนโควิดเด็ก 5-11 ปี จะแยกเป็น 2 ส่วน คือ
1.ที่โรงเรียน กรณีเป็นนักเรียนในระบบสถานศึกษา ระดับประถมศึกษาปีที่ 1-6 และก่อนประถมศึกษา โดยกำหนดระยะห่างระหว่างเข็ม 1 และเข็ม 2 ที่ 8 สัปดาห์
และ 2.ที่รพ.เป็นเด็กที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ประกอบด้วย บุคคลที่มีโรคอ้วน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งหอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง ,โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง ,โรคไตวายเรื้อรัง ,โรคมะเร็ง และภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ,โรคเบาหวาน และกลุ่มโรคพันธุกรรมรวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า
รวมถึงเด็กที่เรียนในระบบโฮมสคูล และเด็กกลุ่มอื่นๆ ที่มีอายุ 5-11 ปี ที่อยู่นอกระบบการศึกษา และเด็กที่ตกค้าง และยังไม่ได้รับวัคซีน ระยะห่างระหว่าง 2 เข็มที่ 3-12 สัปดาห์ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของกุมารแพทย์ที่ให้การดูแลเด็ก
อาการข้างเคียงหลังฉีด”วัคซีนโควิดเด็ก”
นพ.โอภาส กล่าวว่า ส่วนมากอาการไม่รุนแรงและหายไปได้เองใน 1-2 วัน โดยอาจพบอาการ เช่น ไข้ หนาวสั่น ปวด บวม รอยแดงบริเวณที่ฉีด ปวดหัว ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย จึงจำเป็นต้องสังเกตอาการหลังการฉีดอย่างน้อย 30 นาที ในสถานพยาบาลหรือสถานที่ฉีดวัคซีนเสมอ
เหตุที่ปรับระยะห่างระหว่างเข็มใหม่
ต่อข้อถามทำไมมีการปรับคำแนะนำระยะห่างการฉีด 2 เข็มจาก 3-4 สัปดาห์เป็น 3-12 สัปดาห์ นพ.โอภาส กล่าวว่า ปัจจัยของระยะห่างมีเรื่องประสิทธิภาพการสร้างภูมิ ความปลอดภัย และสถานการณ์การระบาดของโรค ซึ่งการฉีดห่างภูมิคุ้มกันจะขึ้นดีกว่า และผลข้างเคียงน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ตามเอกสารกำกับยาที่ขึ้นทะเบียน กำหนดฉีดห่าง 3-12 สัปดาห์ ซึ่งตอนแรกที่กำหนดห่าง 3-4 สัปดาห์ มาจากหลายเหตุผล อย่างช่วงต้นปีมีการระบาดของโควิด โดยเฉพาะโอมิครอนค่อนข้างมาก จึงกำหนดระยะเวลาใกล้กัน 3-4 สัปดาห์
แต่เวลานี้การระบาดไม่รุนแรงมากเมื่อดูข้อมูลทั้งหมด ปรึกษาคำแนะนำจากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ จึงกำหนดว่าถ้าฉีดที่โรงเรียนห่าง 8 สัปดาห์ สร้างภูมิได้ค่อนข้างดี ผลข้างเคียงน้อย สถานการณ์ระบาดไม่รุนแรง ซึ่งการฉีดเป็นกลุ่มจึงกำหนดเวลาฉีดแน่ชัด ส่วนการฉีดในเด็กป่วยมีโรคประจำตัวใช้ รพ.เป็นศูนย์ฉีด กุมารแพทย์ที่ดูแลเด็กจะรู้ข้อมูลว่าต้องฉีดเร็วหรือช้าอย่างไร จึงกำหนดที่ 3-12 สัปดาห์ ให้ใช้ดุลยพินิจและประวัติคนไข้ในการตัดสินใจ
“การฉีดในโรงเรียนนั้นกำลังประสานกับ ศธ.ในการเตรียมความพร้อม เนื่องจากเที่ยวนี้ฉีดในเด็กเล็กกว่าครั้งก่อน ต้องทำความเข้าใจผู้ปกครองให้ดีก่อน เพราะบางทีเด็กเห็นเพื่อนฉีดอาจตกใจจนเกิดอุปทานหมู่ เหมือนตอนฉีดซิโนแวคแรกๆ ที่บุคลากรเกิดอาการคล้ายอัมพาตกันมาก พอมั่นใจขึ้นเรื่องนี้ก็หายไป เราระมัดระวังมากที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก”นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า วัคซีนที่ อย.อนุญาตให้ฉีดได้ขณะนี้คือ ไฟเซอร์ แต่ทราบว่าตอนนี้ผู้ปกครองอยากให้ลูกฉีดเชื้อตาย เพราะกังวลวัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งเท่าที่ตรวจสอบจาก อย. บริษัทส่งข้อมูลให้แล้ว ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญดูข้อมูลอีกครั้ง ต้องเน้นย้ำว่าการฉีดในเด็กให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยค่อนข้างมาก ควบคู่ไปกับประสิทธิภาพ หากมีวัคซีนอื่นมาเพิ่มก็ทยอยฉีด ซึ่งถ้ามีวัคซีนมากกว่า 1 ชนิด อาจให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการตัดสินใจให้วัคซีนแก่เด็กว่าจะเลือกชนิดไหนแบบไหน
เด็กติดโควิด-19 อาการรุนแรงน้อย
ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เด็กติดโควิด-19 ราว 98 % อาการน้อย โดยข้อมูลเด็กไทยติดโควิด-19 ช่วงวันที่ 5-12 มกราคม 2565 จำนวน 6,908 ราย แยกเป็นแรกเกิด-1เดือน 9 ราย ,มากกว่า 1 เดือน - 1 ปี 17 ราย ,มากกว่า 1 ปี - 6 ปี 1,481 ราย ,มากกว่า 6 ปี - 12 ปี 2,2021 ราย และมากกว่า 12 ปี - 18 ปี 2,955 ราย ส่วนการเสียชีวิต ตั้งแต่ 15 เม.ย.2564 - 12 ม.ค. 2565 จำนวน 63 ราย โดยมากกว่า 1 ปี - 6 ปี 5 ราย ,มากกว่า 6 ปี - 12 ปี 10 ราย ทั้งหมดมีโรคประจำตัว ส่วนที่เสียชีวิตจำนวนมากในกลุ่มเด็กอยู่ในช่วงอายุ มากกว่า 12 ปี - 18 ปี และเด็กเล็กต่ำกว่า 1 ปี
สะท้อนว่าเด็กปัญหาน้อยมาก แล้วทำไมต้องฉีด เพราะมันมีปัญหาแทรกซ้อน เด็กป่วยโควิดแม้ไม่มีอาการ แต่หลัง 1 เดือนให้หลังอาจมีโรค MIS-C เกิดอักเสบของอวัยวะต่างๆ ซึ่งอาจรุนแรงได้ และถ้ามีโรคอื่นๆ ก็อาจเสียชีวิตได้ ไม่ต้องกลัวว่าการฉีด mRNA จะเป็นอันตราย เป็นมะเร็ง ฯลฯ เพราะไม่ได้ฉีด DNA แต่ฉีด RNA ซึ่งเป็นตัวเดียวกับเมื่อติดเชื้อไวรัสจะสร้าง RNA แถม RNA ของวัคซีนปลอดภัยกว่าเพราะเลือกเฉพาะส่วนเดียวที่ช่วยให้เกิดภูมิคุ้มกันป้องกันโรคเท่านั้น ผิดกับเชื้อธรรมชาติที่จะสร้างแอนติเจนไวรัสอีกหลายอย่างที่อาจเป็นอันตราย อีกทั้ง RNA ที่ฉีดไม่คงทนเพราะขนาดการเก็บรักษายังทำยากต้องแช่แข็ง -70 องศาเซลเซียส นำส่งไปไหนก็ต้องรักษาอุณหภูมิอย่างดี
“วัคซีนmRNA เมื่อฉีดเข้าร่างกายก็จะอยู่ได้ไม่นานจะสลายไปภายใน 1 สัปดาห์ ในอเมริกาฉีดเด็กไปเกือบ 9 ล้านคนแล้วไม่มีปัญหา นอกจากแขนบวมนิดหน่อย ไม่เกิน 2 วันหายหมด ส่วนเรื่องหัวใจเป็น 11 รายแต่ไม่รุนแรงและหายได้เอง สำหรับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์สำหรับเด็กเล็กในไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ระหว่างเข็ม 1 กับเข็ม 2 แนะให้ฉีดห่างกัน 8 สัปดาห์ เพราะเป็นช่วงที่ภูมิฯ สูงขึ้นและปัญหาอาการข้างเคียง ปัญหาหัวใจน้อยลงไปอีก แต่ถ้าเด็กคนไหนมีโรค แล้วกำลังมีระบาดอยากจะเร่งฉีดก็ร่นได้ 4 สัปดาห์แต่ไม่ควรเร็วกว่านั้น
กรณีผู้ปกครองสงสัยว่าจำเป็นหรือไม่ที่เด็กต้องฉีด เพราะยังไงเด็กเมื่อป่วยก็อาการน้อย ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เปรียบเทียบกับกรณีโรคอีสุกอีใส ถ้าเป็นในเด็กแทบไม่มีอะไร แต่หนักหากเป็นตอนโต และคนที่เป็นตอนโตแก่ไปจะเป็นงูสวัดตามมา การมีภูมิฯ ไว้ก่อนย่อมดีกว่า มั่นใจว่าเมื่อป่วยจะไม่รุนแรงเพราะมีภูมิฯ แล้ว เช่นเดียวกับโรคโควิด ที่ขณะนี้ยุโรปฉีดให้เด็กเล็กแล้วแม้จะฉีดเฉพาะผู้มีปัจจัยเสี่ยงก่อน แต่ในออสเตรเลีย และสิงคโปร์ ฉีดให้เด็กทั้งหมด ประเทศไทยถ้ามีวัคซีนก็อยากให้เด็กทุกคนได้รับเพื่อความปลอดภัย ส่วนข้อมูลเรื่องซิโนแวค ซิโนฟาร์มนั้น มีผู้ปกครองถามมาก็ต้องรอข้อมูลก่อน เพราะขณะนี้ อย.ยังไม่ให้การรับรอง ซึ่งในเด็กต้องรอข้อมูลที่ปลอดภัยด้วย
ข้อควรระวังสำหรับผู้ที่ยังไม่ควรฉีดวัคซีน
นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี(รพ.เด็ก) กล่าวว่า เด็กกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคทั่วประเทศราว 9 แสนคน แต่ที่เป็นคนไข้ของ รพ.เด็กประมาณ 4,000 คน ซึ่งการเข้าถึงวัคซีน คณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัดจะบริหารตามความเหมาะสมของจำนวนเด็ก จำนวนวัคซีนที่ได้รับจัดสรร และความพร้อมของบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึง กุมารแพทย์ที่พร้อมจะให้การดูแล ส่วนขั้นตอนการฉีดวัคซีนโควิดเด็ก 5-11 ปี คือ 1.คัดกรอง 2.ลงทะเบียน 3.ฉีดวัคซีนและ4.สังเกตอาการ 30 นาที ทั้งนี้ ในส่วนของจุดฉีดวัคซีนโควิดเด็กควรจัดให้เป็นสถานที่มิดชิด เพื่อลดความกังวลและความเครียดของเด็ก
ข้อควรระวังสำหรับผู้ที่ยังไม่ควรฉีดวัคซีน คือ ขณะป่วย มีไข้ หรือร่างกายอ่อนเพลีย ควรรักษาอาการให้หายและเลื่อนการฉีดไปก่อน จนกว่าจะเป็นปกติ และผู้มีโรคประจำตัวรุนแรงที่อาจมีอันตรายถึงชีวิตที่อาการยังไม่คงที่ นอกจากแพทย์ประเมินว่าฉีดได้
อาการต้องเฝ้าระวังหลังฉีดวัคซีนโควิดเด็ก
นพ.อดิศัย กล่าวว่า แนวทางการเฝ้าระวังหลังการฉีด ที่กังวลในเด็กคือ อาการข้างเคียงด้านโรคหัวใจ ซึ่งมีจริงแต่สามารถรักษาหาย และคืนปกติได้ สำหรับประเทศไทย แนวทางการดูแลส่งต่อเด็กในกรณีสงสัยอาการรุนแรง โดยอาการที่ต้องเฝ้าระวัง ในกลุ่มโรคหัวใจ ระยะเวลา 2-7 วัน คือ เจ็บหน้าอก หายใจเร็ว เหนื่อยง่าย ใจสั่น และกลุ่มอื่นคือ ไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียนทานอาหารไม่ได้ เด็กซึมหรือไม่รู้สึกตัว ต้องรีบไป รพ.ใกล้บ้านเพื่อประเมินอาการ ทั้งนี้ ผู้ปกครองควรดูแลเด็ก และใน 1 สัปดาห์แรกหลังฉีด ไม่ควรให้เด็กออกกำลังกาย รวมถึง การปีนป่าย ว่ายน้ำ หรือซุกซนต่างๆ
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์