ไม่ควรพลาด!! โอกาสแรงงานไทย..ในประเทศซาอุดีอาระเบีย
ถือเป็นโอกาสของแรงงานไทย ที่จะได้ไปทำงานที่ประเทศตะวันออกกลาง อย่าง ซาอุดีอาระเบีย เมื่อทางซาอุดีอาระเบียตั้งเป้าจัดการหาแรงงานดีมีฝีมือ 8 ล้านคน ให้มาทำงานในประเทศ
แรงงานไทยที่ประสงค์จะเข้าไปทำงานในซาอุดีอาระเบีย สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ โดยเฉพาะแรงงานภาคบริการ โรงแรม สุขภาพ และอุตสาหกรรมก่อสร้างในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่
- ทำความรู้จัก “ซาอุดีอาระเบีย”
โดยข้อมูลจากทางกระทรวงแรงงาน เปิดเผยสถิติการเดินทางของแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ประเทศที่มีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานเป็นจำนวนมาก เช่น อิสราเอล สหรัฐอาหรับเอเมิเรตส์ คูเวต บาห์เรน กาตาร์ โดยแรงงานส่วนใหญ่เดินทางไปทำงานในตำแหน่งผู้ปฏิบัติงานฝีมือด้านการเกษตรและประมง พนักงานบริการ ช่างเทคนิค พนักงานในร้านค้าและตลาด เป็นต้น
“ซาอุดีอาระเบีย” เป็นประเทศที่ประกอบธุรกิจการค้าดำเนินการโดยเอกชนเป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่ กิจการที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ หรือต้องการเงินลงทุนสูง รัฐดำเนินการเอง เช่น การเจาะน้ำมัน และการส่งออกน้ำมัน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี การคมนาคม เป็นต้น
โดยซาอุดีอาระเบีย ได้พยายามสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมน้ำมัน (NON-OIL INDUSTRY) ให้เข้ามามีบทบาทในเศรษฐกิจของประเทศ แทนการพึ่งพา รายได้จากอุตสาหกรรมน้ำมันเพียงอย่างเดียว และรัฐบาลพยายาม ดำเนินการโอนกิจการของรัฐบาลบางอย่างให้เอกชนดำเนินการ แต่กฎระเบียบต่างๆ ของซาอุดีอาระเบีย ไม่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน เช่น การห้าม แรงงานต่างชาติเป็นเจ้าของทรัพย์สินการดำเนินธุรกิจโดยเอกชนกำหนดว่า ผู้ประกอบการต้องเป็นชาวซาอุดีอาระเบีย เท่านั้น
ผู้เข้ามาทำงานในซาอุดีอาระเบีย จะต้องปฏิบัติตามระเบียบ โดยแรงงานต่างชาติต้องมีใบอนุญาตพำนักในราชอาณาจักร (IQAMA) และระบุชื่อนายจ้างเรียกว่า SPONSOR และหากต้องการเปลี่ยน SPONSOR ต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือ จาก SPONSOR ทั้งสองฝ่าย การดำเนินการต่างๆ ต้องให้คนซาอุดีอาระเบีย เป็นผู้จัดการ
- แรงงานไทยต้องจดทะเบียน
ทั้งนี้ สำหรับแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานส่วนใหญ่เป็นการแจ้งการเดินทางด้วยตนเอง นายจ้างพาไปทำงานและRe-entry ซึ่งตำแหน่งงานที่แรงงานไทยเดินทางไปทำงาน เช่น ช่างเชื่อม ช่างเทคนิค ช่างเครื่องยนต์ ผู้ปฏิบัติงานในโรงงาน ผู้ควบคุมเครื่องจักร คนงานผลิตผลิตภัณฑ์ทั่วไป คนงานควบคุมเครื่องจักร ผู้ช่วยกุ๊ก แม่บ้าน เป็นต้น
โดยในปี พ.ศ.2561 มีแรงงานเดินทางไปทำงาน จำนวน 220 คน ปี 2562 จำนวน 199 คน ปี 2563 จำนวน 40 คน ปี 2564 จำนวน 15 คน ปัจจุบันมีแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ใน ซาอุดีอาระเบีย จำนวน 56 คน (ข้อมูล ณ ธ.ค.2564)
- เช็คตำแหน่งงานที่ต้องการ
“ซาอุดีอาระเบีย” เคยเป็นตลาดแรงงานสำคัญของไทยมาก่อน ดังนั้น ชื่อเสียง ฝีมือ ทักษะความขยันและอดทนของแรงงานไทยยังเป็นที่กล่าวถึงและนิยม ชื่นชอบของนายจ้าง
สำหรับตำแหน่งงานที่มีความต้องการแรงงานไทย ได้แก่
- วิศวกร
- พนักงานคอมพิวเตอร์
- ช่างไฟฟ้า
- ช่างก่อสร้าง
- ช่างซ่อม
- เครื่องยนต์
- พนักงานขับรถบรรทุกขนาดใหญ่
- รถตักดิน
- รถเกรดเดอร์
- พ่อครัว (อาหารไทยและอาหารเอเชีย)
- พนักงานบัญชี
- ช่างออกแบบ เครื่องประดับ
- ช่างเจียระไนเพชรพลอย
- ช่างซ่อมเครื่องปรับอากาศ
- ช่างเสริมสวย
- ช่างตัดเย็บเสื้อผ้าตามแฟชั่น
- ช่างตัดเย็บผ้าโต๊ป
- โอกาสของแรงงานไทยในซาอุดีอาระเบีย
ทว่า ไทยและซาอุดีอาระเบีย มีปัญหา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาเป็นระยะเวลานานกว่าสิบปี ปัจจุบัน ซาอุดีอาระเบียจึงยังไม่อนุมัติให้มีการจ้างแรงงานจากประเทศไทย แม้ว่า ความต้องการจ้างแรงงานไทยของตลาดยังมีมาก แต่โอกาสในการขยาย ตลาดแรงงานในซาอุดีอาระเบียยังไม่สามารถคาดเดาได้
หากในอนาคต ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียกลับสู่ภาวะปกติ โอกาสของ แรงงานไทยก็จะมีในส่วนแรงงานฝีมือด้านอุตสาหกรรมเครื่องประดับ และอัญมณี งานฮัจย์และอุมเราะห์ เสริมสวย ตัดเย็บเสื้อผ้า ช่างซ่อม รถยนต์ พ่อครัวร้านอาหาร และพนักงานในโรงแรม เป็นต้น
ฉะนั้น การที่รัฐบาลได้ไปปรับความสัมพันธ์ระหว่างสองราชอาณาจักรให้เป็นปกติพร้อมทั้งหารือทวิภาคีด้านต่างๆ เฉพาะด้านแรงงานไทย จึงถือเป็นโอกาสสำคัญของแรงงานไทยที่จะได้รับการจ้างงานสูงขึ้น
- ช่องนาญิซ (Najiz) การดูแลแรงงาน
สำนักงานแรงงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย (กรุงรียาด) ได้เปิดบริการรับเรื่องร้องเรียนด้านแรงงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบใหม่ หรือ “นาญิซ (Najiz)” ซึ่งเป็นบริการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อความคล่องตัวและลดขั้นตอนในการดำเนินเรื่อง โดยรับเรื่องร้องเรียน 3 ประเภท ได้แก่ 1) ข้อร้องเรียนที่อยู่ภายใต้กฎหมายแรงงานซาอุดีอาระเบีย 2) ข้อร้องเรียนของแรงงานที่ทำงานอยู่ในบ้าน เช่น แม่บ้าน คนขับรถส่วนตัว 3) ข้อร้องเรียนที่เกี่ยวกับประกันสังคม (GOSI) เช่น การลงทะเบียน เงินชดเชยต่างๆ ทั้งฝั่งนายจ้างและแรงงาน
สำหรับการใช้บริการแจ้งเรื่องร้องเรียน ทั้ง 3 ประเภทมีแนวปฏิบัติ ดังนี้
1.กรณีร้องเรียนภายใต้กฎหมายแรงงานนั้น แรงงานหรือนายจ้างจะต้องยื่นคำร้องต่อสำนักงานแรงงานในเขตมณฑลที่ตั้งเพื่อดำเนินการเพื่อไกล่เกลี่ยในชั้นต้นก่อน หากไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้ภายในระยะเวลา 21 วัน จึงสามารถจะร้องเรียนโดยตรงผ่านเวบไซต์นาญิซ พร้อมแนบหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้
2.กรณีร้องเรียนของแรงงานที่ทำงานอยู่ในบ้าน เช่น แม่บ้าน คนขับรถส่วนตัวและอื่นๆ นั้นให้แรงงานหรือนายจ้างยื่นข้อร้องเรียนไปยังคณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสำหรับแรงงานภายในบ้าน ซึ่งการไกล่เกลี่ยเบื้องต้นมีระยะเวลา 5 วัน หากไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้คณะกรรมการ มีเวลา 10 วันในการออกคำตัดสิน หากคำตัดสินเป็นที่ไม่พอใจของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ฝ่ายนั้นๆ มีสิทธิอุทธรณ์คำตัดสินโดยยื่นร้องเรียนโดยตรงผ่านเวบไซต์นาญิซ พร้อมแนบหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้
3.สำหรับข้อร้องเรียนที่เกี่ยวกับประกันสังคม (GOSI) นั้นมีขั้นตอนโดยสรุปดังนี้ 1) แรงงานหรือนายจ้างยื่นคำร้องไปยังองค์การประกันสังคม 2) หากผลการตัดสินไม่เป็นที่พอใจให้อุทธรณ์ไปยังหน่วยรับเรื่องอุทธรณ์เฉพาะขององค์การประกันสังคม 3) หากผลการอุทธรณ์ยังคงเป็นที่ไม่น่าพอใจจึงยื่นร้องเรียนโดยตรงผ่านเวบไซต์นาญิซ พร้อมแนบหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้
อ้างอิง:กระทรวงแรงงาน
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์