สธ.ยัน"โควิด19"เป็น"โรคประจำถิ่น" ไม่กระทบสิทธิ์รักษา
สธ.ย้ำยังไม่ได้ประกาศโควิด19 เป็นโรคประจำถิ่น เป็นการกำหนดเกณฑ์บรรลุเป้าให้ได้ในปี 65 ยืนยันไม่กระทบสิทธิ์รักษา
เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นว่า ขณะนี้ผู้ติดเชื้อคงที่ 6-7 พันคนต่อวัน เตียงยังว่างอยู่ ไอซียูว่าง ยาพร้อม อุปกรณ์ครบ วัคซีนพร้อม วันที่ 31 ม.ค.วัคซีนเด็กเริ่มฉีด ดังนั้นจำนวนกลุ่มที่แพร่เชื้อก็จะลดลงไปอีก ตอนนี้อาจจะเป็นกลุ่มเด็กที่แพร่เชื้อให้กับผู้ใหญ่ได้ จำนวนผู้เสียชีวิตหากพิจารณาข้อมูลเชิงวิเคราะห์ยังเป็นกลุ่ม 608 เป็นกลุ่มไม่ได้รับวัคซีน
แต่หากสถานการณ์กลายเป็นอีกอย่างก็ต้องปรับปรุง การลดจากการแพร่ระบาดมาเป็นโรคประจำถิ่นก็เพื่อทำให้กลไกต่างๆของประเทศขับเคลื่อนต่อไปได้ ผู้คนจะได้ทำมาหากิน การจ้างงานก็จะได้เกิดมากขึ้น จะได้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด แต่ด้วยความระมัดระวัง ซึ่งก็ยังมีมาตรการ เช่น VUCA ถ้าทำได้โอกาสติดเชื้อก็จะยาก วัคซีนบูสต์ก็จะพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนี้ยังถือว่าทุกอย่างอยู่ภายใต้การควบคุมได้ดี
“ ประเมินสถานการณ์ ดูอาการคนป่วย ดูสัดส่วนผู้เสียชิวิตจากผู้ติดเชื้อ ไม่ได้ต้องการดูที่ตัวเลข แต่ต้องการลดความรุนแรงของโรค สามารถอยู่กับมันได้ ก็ไม่อยากขี่ช้างจับตั๊กแตน หากไม่แรงก็ยังต้องรับมือกับมัน แต่ไม่ใช่ทุ่มเทสรรพกำลังทั้งหมดไป โดยที่ฤทธิ์ของมันยังอยู่เท่าเดิม ทุกอย่างจะได้ดำเนินการก้าวหน้าต่อไป”นายอนุทินกล่าว
ถามถึงว่ามีนักวิชาการท้วงติงการประกาศเป็นโรคประจำถิ่น อาจจะทำให้คนละเลยมาตรการ นายอนุทิน กล่าวว่า ยังต้องปฏบัติตามาตรการ มีประเทศไหนในโลกที่คนให้ความร่วมมือเท่าประเทศไทย มีประเทศไหนที่สื่อสารเรื่องโควิดทุกวัน มีประเทศไหนที่เร่งให้มาฉีดวัคซีน ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ ตบมือข้างเดียวไม่ดัง มีประเทศไหนที่คนป่วยติดโควิดได้รับการรักษาพยาบาลเข้าถึงแพทย์ทุกคน มีการแยกกักที่บ้าน(Home Isolation: HI) มีแพทย์โทรเยี่ยมทุกวัน มีอาการเข้าออสพิเทล อาการหนักเข้ารพ. อาการหนักมากมีไอซีบู เพราะประเทศไทยพร้อมจึงไม่มีปัญหา ขณะที่คนไทยไปป่วยต่างประเทศต้องขังตนเองอยู่ในโรงแรม ไปหาแพทย์ไม่รับจนกว่าจะอาการหนักก่อน เมืองไทยไม่มี แสดงว่ามันดีอยู่แล้ว
รอบนี้ที่บริหารสถานการณ์ได้ แม้จำนวนผู้ติดเชื้อไม่น้อยกว่าปีที่แล้ว แต่ปีนี้กล้าที่จะใช้ HI เพราะปีที่แล้วอยากจะให้การดูแลผู้ป่วยทุกคน ติดเชื้อเข้ารพ. แต่ปีนี้ติดเชื้อไม่รุนแรงเข้า HI มียามีอาหาร 3 มื้อ ได้วางทุกระบบจนทำให้สามารถคบคุมได้ วันนี้ผ่านเทศกาลปีใหม่มาจะครบเดือนแล้ว เพราะฉะนั้นคนที่ติดเชื้อไม่เกี่ยวหรือมาจากคลัสเตอร์ปีใหม่แล้ว จะเป็นคนที่ติดเชื้อทั่วไป เพราะยังมีการสัญจรไปมาอยู่ คนป่วยก็ต้องดูว่าป่วยเพราะไม่มีโรคอื่นหรือไม่ รับเชื้อโอมิครอนมาแล้วปอดถูกทำลายรักษาไม่ได้ก็ไม่ใช่ คนป่วยยังเป็น 608 ยังไม่ได้รับวัคซีนอยู่ ตอนนี้ยังควบคุมสถานการณ์ได้
ถามกรณีที่รองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุเรื่องCOVID free Country มีความหมายอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า หมายถึงประเทศที่ปลอดโควิด หรือควบคุมโควิดได้ เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการให้เป็นเช่นนั้น การจะปลอดได้ก็ด้วยวัคซีน ยา ความร่วมมือของประชาชน Universal Prevention ซึ่ง COVID free Country ไม่ได้หมายความว่าไม่มีในโรคนี้ เพียงแต่โควิดทำอะไรเราไม่ได้ พยายามทำให้ไปในทางทิศทางนั้นให้ได้ ส่วนการเป็น 0 หมายถึงอยากให้ผู้เสียชีวิตเป็นศูนย์ ซึ่ง 2 ปีที่แล้วก็ทำได้มาแล้ว เป็นศูนย์มาได้ถึง 6-7 เดือน ไม่ได้หมายความว่าผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์แต่เป้าหมายคือผู้เสียชีวิตต้องเป็นศูนย์
ด้านนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ตอนนี้โควิด19 ยังไม่ได้เป็นโรคประจำถิ่น แต่สธ.มีการวางหลักเกณฑ์ เพื่อทำแผนดำเนินการที่จะทำให้โควิด19เป็นโรคประจำถิ่นภายในปี 2565 โดยมีแผน 2 ระยะ คือ 6 เดือนแรก และ 6 เดือนหลัง หากไม่มีเชื้อกลายพันธุ์เข้ามา ประมาณ 6 เดือนก็จะพยายามทำให้ได้ โดยการฉีดวัคซีน การควบคุมโรค การประกาศกฎหมาย การรักษาพยาบาลก็สอดคล้องกัน ส่วนเรื่องการรักษา ก็เป็นไปตามสิทธิ ซึ่งประเทศไทยมีทั้งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ สำหรับคนที่ได้หลักประกันเช่นแรงงานตค่างด้าว ก็ต้องดูแลกันต่อไป ทั้งนี้ที่ผ่านมาใช้งบประมาณในการดูแลไปแล้วกว่า 4 พันล้านบาท ดังนั้น การเป็นโรคประจะจำถิ่นไม่ได้กระทบสิทธิการรักษา
“กระทรวงสาธารณุสุขตอบโต้สถานการณ์โควิด19 มา 2 ปีแล้ว เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ จะประกาศอะไรออกมา แต่ผ่านการประชุมหารือร่วมกันแล้ว โดยดูเรื่องความรุนแรงของโรค การมีภูมิต้านทานของคนในประเทศ ความสามารถในการรักษา เวชภัณฑ์ การรับรู้ของประชาชน และอื่นๆ 2 ปีที่ผ่านมาเราจึงต้องพยายามทำให้ไม่เกินปีนี้โควิดจะต้องเป็นโรคประจำถิ่น เพราะถ้าปล่อยไปเฉยๆ ก็จะใช้เวลามาก อย่างไรก็ตาม อาจจะมีการระบาดเป็นครั้งคราว แต่ก็ใช้การบริหารจัดการ ซึ่งก็ทำมาตลอด และทำได้ ดังนั้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายจึงได้กำหนดเกณฑ์การเป็นโรคประจำถิ่นและกำหนดมาตรการวิธีต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกัน”นพ.เกียรติภูมิกล่าว