สธ. เร่งประเมินสุขภาพประชาชน หลัง "น้ำมันดิบรั่ว" จ.ระยอง
"กรมอนามัย" กระทรวงสาธารณสุข นำทีมลงพื้นที่ประเมินสถานการณ์ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมหลังเกิดเหตุ "น้ำมันดิบรั่ว" ไหลในทะเล จ.ระยอง ห่วงประชาชน และกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ ย้ำเลี่ยงลงเล่นน้ำ หากพบผิวหนังอักเสบ หายใจลำบาก ควรพบแพทย์ทันที
วานนี้ (29 มกราคม 2565) ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ร่วมกับ นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 6 นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย นำทีมปฏิบัติการจากสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ และศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี ลงพื้นที่ประเมินสถานการณ์ทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เกิดเหตุ "น้ำมันดิบรั่ว" ไหลในทะเล จ.ระยอง
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากการสำรวจข้อมูล พบว่า ในเบื้องต้นพบคราบน้ำมันดิบบริเวณหาดแม่รำพึง (ลานหินดำ) และในพื้นที่มีสถานประกอบการ 15 แห่ง ตลาดแพปลาประมงพื้นบ้าน 3 แห่ง ซึ่งอาจส่งผลทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารเคมีในสิ่งแวดล้อม
หากมีการสัมผัสหรือเข้าสู่ร่างกายโดยผลกระทบต่อสุขภาพแบบเฉียบพลัน เช่น หายใจลำบาก ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน โดยเฉพาะผู้มีอาการภูมิแพ้ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ก็จะทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้นได้ และหากมีการสัมผัสทางดวงตาและผิวหนังโดยตรง อาจส่งผลให้ทำให้เกิดการระคายเคือง
นอกจากนี้ อาจส่งผลกระทบแบบเรื้อรังและระยะยาว หากได้รับสารพิษในปริมาณความเข้มข้นเกินมาตรฐาน และได้รับเป็นเวลานาน อาจส่งผลต่อระบบไต ตับ ระบบทางเดินอาหาร ระบบสืบพันธุ์ ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบประสาท และในกรณีที่มีการกินอาหารทะเลที่มีสารปนเปื้อนสารโลหะหนักที่เกินค่ามาตรฐาน ในระยะยาวมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้
- 3 ระดับ ความเสี่ยงผู้สัมผัสสารพิษ
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า เพื่อเป็นการเร่งแก้ปัญหาในทุกส่วน กรมอนามัยจึงมีข้อแนะนำสำหรับการปฏิบัติงาน ดังนี้
1) เฝ้าระวังความเสี่ยงสุขภาพบุคคล โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จำแนกความเสี่ยงของผู้รับสัมผัสสารพิษเป็น 3 ระดับ คือ
- เสี่ยงสูงมาก (เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเก็บกู้คราบน้ำมัน)
- เสี่ยงปานกลาง (เจ้าหน้าที่ทีมสนับสนุนในพื้นที่)
- เสี่ยงต่ำ (ประชาชนและนักท่องเที่ยว)
เพื่อการติดตามผลในระยะสั้นระยะกลาง และระยะยาว จัดทำข้อมูลความเสี่ยงสุขภาพรายวันสำหรับผู้ที่มีโอกาสรับสัมผัสสารเคมี ทั้งกลุ่มผู้ปฏิบัติงานและประชาชนเพื่อใช้สำหรับการกำกับ ติดตามและเฝ้าระวังความเสี่ยงสุขภาพในระยะยาวและสำรวจข้อมูลร้านอาหาร หรือร้านจำหน่ายอาหารทะเลพื้นที่
โดยอาศัยความร่วมมือจากชมรมผู้ประกอบการร้านอาหารในพื้นที่ ให้ผู้ประกอบการ แจ้งข้อมูลแหล่งที่มาของวัตถุดิบจำพวกอาหารทะเล หรือสัตว์ทะเลที่ใช้ประกอบเป็นอาหารจำหน่ายแก่หน่วยงานในพื้นที่ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจต่อประชาชนในการเลือกซื้ออาหารทะเลที่มาจากแหล่งที่ได้มาตรฐาน ไม่มีการปนเปื้อนของสารพิษจากคราบน้ำมัน รวมถึงสำรวจข้อมูล เพื่อการกำกับ ติดตาม และป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากการรับสัมผัสสารพิษจากกรณีน้ำมันรั่วไหลในทะเลของกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ เช่น ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และเด็กเล็ก
2) สื่อสารความเสี่ยง สร้างการรับรู้ และมีคำแนะนำประชาชน รวมทั้งสถานประกอบการด้วย
- การให้ประชาชนติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมการรับมือต่อผลกระทบสุขภาพ
- หลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำในจุดที่มีความเสี่ยงต่อการมีคราบน้ำมันที่ชายหาด
- หากพบว่ามีอาการผื่นขึ้น ผิวหนังอักเสบบริเวณที่สัมผัสกับคราบน้ำมันให้รีบปรึกษาแพทย์โดยทันที และแจ้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ทราบ
- แนะนำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารและจำหน่ายอาหารทะเลพื้นบ้าน ดูแลป้องกันตนเองจากการรับสัมผัสสารเคมี
- เลือกหาปลาและจับสัตว์น้ำทะเลในบริเวณที่ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำมันดิบรั่วไหล
- เน้นย้ำประชาชนเลือกกินอาหารทะเลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และไม่ได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมันดิบ
- รวมทั้งสังเกตลักษณะ กลิ่น สี และคราบน้ำมันในสัตว์ทะเล หากพบความผิดปกติให้หลีกเลี่ยงการกิน
- ส่วนกรณีได้รับกลิ่นไอระเหยจาก คราบน้ำมันให้สวมหน้ากากป้องกันสารเคมีตลอดเวลา