ผลจัดอันดับ "IMD" ด้านการศึกษา ปี 64 ไทย ร่วง 1 อันดับ

ผลจัดอันดับ "IMD" ด้านการศึกษา ปี 64 ไทย ร่วง 1 อันดับ

ผลจัดอันดับ "IMD" ด้านการศึกษาปี 2564 ร่วง 1 อันดับ ได้ที่ 56 จาก 64 ประเทศ “อรรถพล” ไม่หวั่น ชงแผนพลิกวิกฤติปลุกทุกภาคส่วนร่วมพัฒนาจัดการศึกษาพัฒนาพหุปัญญาเด็กไทยรายบุคคล

ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ( สกศ.) ได้ศึกษาเปรียบเทียบสมรรถนะการศึกษาของประเทศไทยกับนานาชาติ โดยใช้ดัชนีของสถาบันเพื่อพัฒนาการจัดการนานาชาติ (International Institute for Management Development : IMD) ซึ่ง IMD ได้จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่าง ๆ จำนวน 64 ประเทศ โดยในปี 2564 ผลการจัดอันดับด้านการศึกษา ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 56 มีอันดับลดลง 1 อันดับจากปี 2563 และ เป็นอันดับ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียนที่เข้าร่วมการจัดอันดับ โดยเป็นรองประเทศสิงคโปร์ ที่ได้อันดับ 7 และประเทศมาเลเซีย ที่ได้อันดับ 39

 

  • 2 ตัวชี้วัดจุดแข็งไทย

 

เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวต่อไปว่า เมื่อวิเคราะห์ตัวชี้วัดด้านการศึกษาของ IMD จำนวน 19 ตัวชี้วัด โดยเปรียบเทียบกับปี 2563 พบว่า ประเทศไทยมีจุดแข็งหรือมีการพัฒนามากที่สุด 2 ตัวชี้วัด คือ ดัชนีมหาวิทยาลัยมีอันดับดีขึ้น 1 อันดับ จากอันดับที่ 49 เป็นอันดับที่ 48 และ อัตราส่วนนักเรียนต่อครู ที่สอนระดับประถมศึกษา มีอันดับดีขึ้นถึง 6 อันดับ จากอันดับที่ 36 เป็นอันดับที่ 30

 

  • 3 ตัวชี้วัด จุดอ่อนด้านการศึกษา

 

ส่วนตัวชี้วัดที่เป็นจุดอ่อนในด้านการศึกษา มี 3 ตัวชี้วัด คือ อัตราการเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษา มีอันดับลดลง 4 อันดับ จากอันดับ 57 เป็นอันดับ 61 อัตราส่วนนักเรียนต่อครูระดับมัธยมศึกษา ลดลง 3 อันดับ จากอันดับ 57 เป็นอันดับ 60 และ งบประมาณด้านการศึกษาต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ลดลง 1 อันดับ จากอันดับ 58 เป็นอันดับ 59

 

ผลจัดอันดับ \"IMD\" ด้านการศึกษา ปี 64 ไทย ร่วง 1 อันดับ

“ เมื่อพิจารณาตัวชี้วัดของ IMD โดยจำแนกตามวัตถุประสงค์หลักของการปฏิรูปการศึกษา 3 ด้าน เพื่อวางแผนพัฒนาการศึกษาไทยให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐานระดับสากล และยกระดับสมรรถนะทางการศึกษาด้วยการพัฒนาอันดับ พบว่า

 

1.กลุ่มตัวชี้วัดด้านคุณภาพการศึกษา มีอันดับต่ำกว่าครึ่งของประเทศที่เข้าร่วมการจัดอันดับ ทั้งจากการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA  , ผลสัมฤทธิ์ของการอุดมศึกษา ,ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ และอัตราการไม่รู้หนังสือของประชากร เป็นต้น

 

2.กลุ่มตัวชี้วัดที่สะท้อนการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พบว่า ไทยมีอัตราการเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาลดลง อัตราส่วนนักเรียนต่อครูระดับมัธยมศึกษายังไม่เหมาะสม และ งบประมาณด้านการศึกษาต่อ GDP มีอันดับรั้งท้ายของประเทศที่เข้าร่วมการจัดอันดับ และ

 

3.กลุ่มตัวชี้วัดด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเป็นข้อมูลที่ IMD มาสุ่มสำรวจถามความคิดเห็นผู้ประกอบการ พบว่า ภาคเอกชนหรือสถานประกอบการ มีความพึงพอใจจากการใช้บัณฑิต ซึ่งมีแนวโน้มของอันดับที่ดีขึ้น แต่ยังมีอันดับต่ำกว่าครึ่งของประเทศที่เข้าร่วมการจัดอันดับทั้งหมด ” ดร.อรรถพล กล่าว

  • เร่งพัฒนาระบบ "การศึกษาไทย"

 

ดร.อรรถพล กล่าวต่อไปว่า ผลการจัดอันดับได้สะท้อนว่า ระบบการศึกษาของไทยควรได้รับการพัฒนา ซึ่งในการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของ กระทรวงศึกษาธิการ ตนได้รายงานเรื่องดังกล่าว พร้อมทั้งเสนอให้องค์กรหลักต่าง ๆ ปรับปรุงแผนการเสนอของบประมาณ ปี 2566 ที่สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับการศึกษา ซึ่ง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็รับที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)เพื่อผลักดันการปรับอัตราเงินอุดหนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้สอดคล้องกับ GDP

 

  • ดึงเด็กตกหล่น กลับเข้าระบบ

 

เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวด้วยว่า สกศ.ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ จึงได้จัดทำร่างแผนการยกระดับสมรรถนะทางการศึกษาของประเทศไทยด้วยการพัฒนาผลการจัดอันดับ IMD ขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ

 

ระยะสั้น เพื่อยกระดับผลการจัดอันดับ IMD ในปี 2565 โดยได้เริ่มสร้างความรู้ความเข้าใจให้ภาคเอกชนรับทราบถึงความสำคัญของการสำรวจข้อมูลความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของ IMD ตลอดจนเร่งพัฒนาการศึกษาที่สามารถพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน จัดทำฐานข้อมูลรายบุคคล เพื่อดูแลการเข้าถึงการศึกษาของนักเรียน โดยจัดให้มีการคัดกรองหรือวัดแววเด็กเพื่อจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมความถนัดและพหุปัญญาที่หลากหลายของผู้เรียนแต่ละคน ไม่ใช่ตัดเสื้อโหลให้เด็ก

 

และเพื่อให้สามารถติดตามนักเรียนได้ในทุกพื้นที่ เนื่องจากข้อมูลพบว่าเด็กที่เรียนต่อระดับมัธยมศึกษามีจำนวนน้อยกว่าเด็กที่จบระดับประถมศึกษาค่อนข้างมาก ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการ เร่งเก็บตกนักเรียนที่ตกหล่นกลับสู่ระบบการศึกษา