10 ข้อปฏิบัติเมื่อตกเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงโควิด-19
กรมควบคุมโรคเผย 10 ข้อปฏิบัติเมื่อตกเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงโควิด-19 พร้อมย้ำป้องกันตนเองไม่ให้เข้าข่ายสำคัญที่สุด
เมื่อวันที่ 31 ม.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการแถลงสถานการณ์โควิด-19 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันในจังหวัดนำร่องท่องเที่ยว ยังพบสถานการณ์คงตัว ยกเว้นกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ โดยกรุงเทพฯ ปริมณฑล,จะพบการติดเชื้อในสถานประกอบการ โรงงาน ชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อมาก่อน หมายความว่าทำงานด้วยกันอาจติดเชื้อไม่มาก แต่ถ้ามีกิจกรรมร่วมกัน โดยไม่สวมหน้ากากอนามัย ใกล้ชิดกันเป็นเวลานานในสถานที่ปิด จึงเป็นเหตุผลสำคัญทำให้พบการระบาดในกลุ่มจังหวัดนี้ รวมทั้งจังหวัดท่องเที่ยว ซึ่งสถานการณ์ตอนนี้อยู่ในเกณฑ์คงตัว ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ทั้งผู้ป่วยและเสียชีวิต ถือเป็นความมุ่งหมายที่ดีที่พวกเราช่วยกัน ป้องกันทั้งตัวเอง ครอบครัว และบุคคลอื่นๆ นพ.จักรรัฐ กล่าวด้วยว่า
ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จะแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ
1. สัมผัสเสี่ยงสูงในครัวเรือน คนในบ้าน
2. ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในสถานพยาบาล
3. ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในยานพาหนะ
4. ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในโรงเรียน ที่ทำงาน และในชุมชน
ซึ่งจะมีผู้ที่ไม่สวมหน้ากากอนามัย หรือไม่ได้ใส่ชุด PPE กรณีเป็นบุคลากรทางการแพทย์ โดยผู้ที่ไม่สวมหน้ากากอนามัยก็จะรวมทั้งไม่ใส่ และใส่ไม่ถูกต้อง โดยการใกล้ชิดจะแบ่งเป็น
1.อยู่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ หรือเข้าข่ายติดเชื้อ หรือตั้งแต่วันเริ่มป่วยหรือภายใน 3 วันก่อนมีอาการป่วย
2.คนที่อยู่ใกล้กันพูดคุยกับผู้ติดเชื้อในระยะ 2 เมตร นานกว่า 5 นาที หรือถูกไอ จามใส่
3. อยู่ในสถานที่ปิด ไม่มีอากาศถ่ายเทมากนัก โดยอยู่ร่วมกับผู้ป่วยนานกว่า 30 นาที ทั้งหมดคือ กลุ่มสัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง
แนวปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคสำหรับผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง
เรียกว่า 7+3 โดยกักตัวที่บ้าน 7 วัน และสังเกตอาการตนเองอีก 3 วัน จากของเดิมช่วงโควิดระบาด 2 ปีแรกจะให้กักตัว 14 วัน แต่ตอนนี้กรณีโอมิครอน มีระยะฟักตัวค่อนข้างสั้น จึงลดระยะเวลาลง ซึ่งสิ่งสำคัญขอให้ป้องกันตัวเองไม่ให้เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงจะดีที่สุด
แต่หากเข้าข่ายผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง มี 10 ขั้นตอนการดูแลตนเอง ดังนี้
1.ตรวจสอบอาการตนเองหรือเช็คประวัติการสัมผัสใกล้ชิด หากเกิน 10 วันถือว่าจบ แต่หากอยู่ในช่วง 10 วัน อาจมีการสัมผัสมาได้ ต้องมาเช็คว่าใกล้ชิดอย่างไร ไม่สวมหน้ากากอนามัย พูดคุยกันหรือไม่ ฯลฯ
2.เมื่อเข้านิยามสัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง ต้องปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention เน้นย้ำการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา 100%
3.ให้กักตัวเองที่บ้าน (แยกเครื่องใช้ส่วนตัว สำรับอาหาร ไม่คลุกคลีใกล้ชิด งดทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัว และแจ้งทุกคนที่บ้านทราบด้วย) หากไม่สามารถแยกห้องนอนได้ ให้เว้นพื้นที่ให้มีระยะห่างเพียงพอ เน้นแยกห่างจากกลุ่มเสี่ยง 608 และผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน
4.ตรวจหาเชื้อด้วย ATK ครั้งที่ 1 ตรวจวันที่ 5-6 หลังสัมผัสผู้ติดเชื้อครั้งสุดท้าย โดยอาจไปซื้อชุดตรวจจากร้านขายยา หรือลงทะเบียนรับชุดตรวจจากสถานพยาบาลใกล้บ้าน
5.หากตรวจ ATK ครั้งที่ 1 เป็นลบ ให้กักตัวเองที่บ้านจนครบ 7 วันและเริ่มขั้นตอนการสังเกตอาการตนเอง(นับจากวันที่สัมผัสผู้ติดเชื้อครั้งสุดท้าย)
6.เฝ้าระวังสังเกตอาการ 3 วันหลังจาก 7 วันแรกไปแล้ว แต่เน้นเลี่ยงออกนอกบ้าน กรณีจำเป็นต้องไปทำงาน หรือไปภารกิจนอกบ้าน ขอให้เลี่ยงการใช้สถานที่สาธารณะ และขนส่งสาธารณะหนาแน่น แออัด งดร่วมกิจกรรมกับกลุ่มคนจำนวนมาก
7.ตรวจหาเชื้อด้วย ATK ครั้งที่ 2 ในวันที่ 10 นับจากวันสุดท้ายที่สัมผัสผู้ป่วยครั้งสุดท้าย หรือกลับจากสถานที่เสี่ยง
8.หากเป็นลบ ก็จบการกักตัว
9.หากผลตรวจ ATK เป็นบวก กรณีไม่มีอาการป่วยหรือป่วยเล็กน้อยให้โทร.1330 สปสช. ก็จะมีการปรับให้เป็นการแยกกักที่บ้านรับเครื่องตรวจวัดออกซิเจน ยาฟาวิพิราเวียร์ตามเกณฑ์ ผู้ประสานโทรติดตามอาการป่วย
10.หากผลตรวจ ATK เป็นบวกกรณีมีอาการป่วย เช่น ไอ หอบเหนื่อย หายใจไม่ออก แน่นหน้าอกมาก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ให้โทรประสานผู้ติดตามอาการ หรือประสานพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์