ปั้นเยาวชนนอกระบบการศึกษา 1.5 แสน สู่ "แรงงาน" มีฝีมือ

ปั้นเยาวชนนอกระบบการศึกษา 1.5 แสน สู่ "แรงงาน" มีฝีมือ

โควิด-19 ทำให้มีผู้ว่างงานสูงกว่า 8.7 แสนคน และในจำนวนนี้เป็นเด็กจบใหม่กว่า 3 แสนคน ขณะเดียวกัน ยังพบเยาวชนไม่ได้เรียนต่อหลังการจบการศึกษาภาคบังคับ 1.5 แสนคน/ปี กลายเป็น "แรงงาน" ไร้ฝีมือ และเยาวชนกลุ่มเปราะบางอีกกว่า 1.4 ล้านคนที่เข้าไม่ถึงการพัฒนาทักษะอาชีพ

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อโอกาสในการประกอบอาชีพของกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ จากรายงานของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) พบว่าในไตรมาส 3 ของปีงบประมาณ 2564 ประเทศไทยประสบกับภาวะการว่างงานเพิ่มขึ้นสูงสุด โดยมีจำนวนผู้ว่างงานทั้งสิ้น 8.7 แสนคน

 

จากจำนวนผู้ว่างงานดังกล่าว เป็นกลุ่มเด็กจบใหม่ถึงเกือบ 3 แสนคน ซึ่งการว่างงานเป็นระยะเวลานานจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนรุ่นใหม่และครอบครัว รวมถึงโอกาสที่จะได้เข้าสู่ตลาดแรงงานจะยากยิ่งขึ้น

 

ขณะเดียวกัน กลุ่มเด็กเปราะบางที่สุด โดยเฉพาะเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษา นอกระบบการจ้างงาน หรือการพัฒนาทักษะ สถิติล่าสุด พบว่า กลุ่มดังกล่าวอายุระหว่าง 15-24 ปี มีกว่า 1.4 ล้านคน คิดเป็น 15%

 

นอกจากนี้ ในแต่ละปี ประเทศไทยมีจำนวนนักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังการจบการศึกษาภาคบังคับถึงปีละประมาณ 150,000 คน ซึ่งนักเรียนเหล่านี้ได้เข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะ “แรงงานไร้ฝีมือ” เป็นจำนวนมาก

 

  • เตรียมความพร้อมเยาวชน สู่ตลาดงาน 

 

เป็นที่มา มูลนิธิซิตี้ และ มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย จัดทำโครงการเตรียมความพร้อมแก่เยาวชนเพื่อก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน (Aspiring Hospitality Workers of Tomorrow Initiative) เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือให้กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และโอกาสสามารถเข้าถึงการอบรมเสริมทักษะ และงานที่มั่นคงในภาคการโรงแรม อาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นภาคธุรกิจหลักของประเทศไทย

โดยได้รับความร่วมมือจาก กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน กลุ่มโรงแรมชั้นนำ ได้แก่ โรงแรมคอนราด โรงแรมฮิลตัน สุขุมวิท และโรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ สุขุมวิท ทั้งยังได้คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ช่วยพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมที่เหมาะสม ถูกต้องตามหลักการ และตรงต่อความต้องการของผู้ประกอบการอย่างแท้จริง

 

  • เสริมทักษะศตวรรษที่ 21

 

ทั้งนี้ โครงการฯ ยังได้ช่วยเสริมความพร้อมของเยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยใช้หลักสูตรที่พัฒนาโดย Kenan Micro and SME Academy แหล่งรวมความรู้และทักษะที่จำเป็นแห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อผู้ประกอบการไทย ไม่ว่าจะเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ทักษะด้านการตลาดออนไลน์ แนวคิดพื้นฐานการเป็นผู้ประกอบการ และความรู้ทางการเงิน เพื่อให้กลุ่มผู้ได้รับผลประโยชน์ที่ครอบคลุมยิ่งขึ้นได้รับการเตรียมความพร้อมให้ได้รับการจ้างงานที่มีคุณภาพ และเพิ่มประสบการณ์การทำธุรกิจออนไลน์ให้เป็นอีกหนึ่งช่องทางอาชีพทั้งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และในอนาคต

 

ซึ่งในปีที่ผ่านมา โครงการฯ ได้จัดกิจกรรมรวมทั้งสิ้น 32 ชั่วโมง มีผู้เข้าร่วมอบรมทั้งสิ้น 340 คน แบ่งเป็น พนักงานโรงแรมระดับเริ่มต้นและอดีตพนักงานโรงแรมที่ถูกเลิกจ้าง 171 คน และนักศึกษาจากสถาบันอาชีวศึกษาในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 169 คน โดยโครงการฯ ได้ดำเนินการมาจนถึงระยะสิ้นสุดโครงการในปีที่ 2

  • ลดความเหลื่อมล้ำทุกระดับ

 

โดยเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 65 เฉลิมพงษ์ บุญรอด รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวในงานเสวนาในหัวเรื่อง “เสริมทักษะ สู่งาน สร้างเยาวชน” จัดโดย มูลนิธิซิตี้ มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย (คีนัน) และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ถึงนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจนำประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำของคนทุกระดับในสังคม

 

ซึ่งได้มอบหมายให้ กระทรวงแรงงาน ภายใต้การนำของนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน พัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อรองรับการประกอบอาชีพโดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

 

"เยาวชนคนรุ่นใหม่เป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายหลักที่กระทรวงแรงงาน และกรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้ความสำคัญมาโดยตลอด และตระหนักดีถึงความท้าทายที่คนกลุ่มนี้ต้องเผชิญ ในแต่ละปี ประเทศไทยมีจำนวนนักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังการจบการศึกษาภาคบังคับถึงปีละประมาณ 150,000 คน ซึ่งนักเรียนเหล่านี้ได้เข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะ “แรงงานไร้ฝีมือ” เป็นจำนวนมาก"

 

"หากได้มีการบูรณาการช่วยเหลือเพิ่มทักษะด้านอาชีพที่เหมาะสมตามความต้องการของตลาดแรงงาน หรือแนวโน้มการประกอบอาชีพของยุคสมัยก็จะช่วยให้นักเรียนดังกล่าวมีฐานะเป็น “แรงงานมีฝีมือ” อันจะทำให้มีรายได้ ค่าจ้างที่สูงขึ้น และสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนรุ่นใหม่และครอบครัวให้ดีขึ้นได้”

 

“โครงการเตรียมความพร้อมแก่เยาวชนเพื่อก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานถือเป็นโครงการตัวอย่างที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ด้วยการเสริมทักษะที่จำเป็นสำหรับยุคปัจจุบัน เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นโครงการนี้ ยึดแนวทางการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม เนื่องจากการพัฒนาและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนไม่สามารถดำเนินได้สำเร็จลุล่วงโดยราชการเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด” เฉลิมพงษ์ กล่าว

 

  • Kenan Micro and SME Academy

 

สำหรับ มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย เป็นองค์กรสาธารณกุศลที่ดำเนินงานในประเทศไทยมานาน 25 ปี ทำหน้าที่เสมือนสะพานเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงสร้างอนาคตที่ดีขึ้นให้แก่ผู้รับประโยชน์กว่า 3 ล้านคน ทั้งเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก สมาชิกชุมชน เจ้าหน้าที่รัฐ นักการศึกษา นักเรียน และกลุ่มผู้ขาดโอกาส

 

“ม.ล.ปุณฑริก สมิติ” คณะกรรมการบริหารมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย เผยว่า ในปีนี้ ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของคีนันที่ได้ทำการเปิดตัว Kenan Micro and SME Academy แหล่งรวมความรู้และทักษะที่จำเป็นแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ที่มีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการรายเล็ก รายย่อย และผู้ที่สนใจทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ทักษะด้านการตลาดออนไลน์ แนวคิดพื้นฐานการเป็นผู้ประกอบการ และความรู้ทางการเงิน ซึ่งล้วนเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญสำหรับอนาคต

 

  • เสริมพลัง ลดการว่างงาน

 

ด้าน “วันวิสาข์ โคมินทร์” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายสื่อสารองค์กร ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย ตัวแทนมูลนิธิซิตี้ กล่าวเพิ่มเติมว่า เยาวชนคนรุ่นใหม่คือทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างยิ่ง เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญทางเศรษฐกิจและนวัตกรรมและนับวันจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น จากปัญหาการเข้าถึงตลาดแรงงานของคนรุ่นใหม่ที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิซิตี้เห็นถึงความจำเป็นในการช่วยเหลือเยาวชนนานาประเทศเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว

 

จึงได้ร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อพัฒนาศักยภาพของเยาวชนในมากกว่า 80 ประเทศ ภายใต้กรอบแนวคิดริเริ่ม Pathway to Progress โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการว่างงานในกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยการเสริมพลัง เสริมประสบการณ์การทำงานและความรู้ทางการเงิน บ่มเพาะพื้นฐานความคิดแบบผู้ประกอบการ รวมถึงขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบและเชิงโครงสร้างที่จะช่วยเอื้ออำนวยให้กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่สามารถสร้างอนาคตที่ปรารถนาได้ด้วยตนเอง เพื่อประโยชน์ของตัวเยาวชนและครอบครัว รวมถึงมีบทบาทขับเคลื่อนการพัฒนาในระดับชุมชน

 

  • เยาวชนกลุ่มเปราะบาง 1.4 ล้านคน 

 

ด้าน “วิลสา พงศธร” เจ้าหน้าที่ฝ่ายการพัฒนาวัยรุ่น องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) เผยว่า การจ้างงานในช่วงโควิด-19 พบว่า เด็กจบใหม่กว่า 3 แสนคนตกงาน ขณะเดียวกัน กลุ่มเด็กเปราะบางที่สุด โดยเฉพาะเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษา นอกระบบการจ้างงาน หรือการพัฒนาทักษะ สถิติล่าสุด พบว่า กลุ่มดังกล่าวอายุระหว่าง 15-24 ปี มีกว่า 1.4 ล้านคน คิดเป็น 15%

 

  • วาระเร่งด่วน ในการแก้ปัญหา

 

ปัญหาดังกล่าว ถือเป็นวาระเร่งด่วน โดยเฉพาะการเข้าสู่สังคมสูงวัยเสี่ยงต่อการขาดแรงงาน ทั้งนี้ ในจำนวนดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแม่วัยใส เยาวชนหญิงมากกว่าชาย รวมถึงลูกหลานแรงงานข้ามชาติ เด็กที่เคยก้าวพลาด หรือบ้านฐานะยากจน ซึ่งไม่ได้อยู่ในระบบใดๆ ไม่มีทักษะในการหางานทำ ดังนั้น จะมีมาตรการอย่างไรในการช่วยเหลือเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา พัฒนาทักษะให้ประกอบอาชีพได้ ซึ่งก่อนอื่นต้องแก้ที่ต้นทางก่อนจะหลุดออกไป แต่การที่ออกมาแล้วจะดึงกลับไปเป็นเรื่องท้าทาย ต้องบูรณาการช่วยเหลือทั้งรัฐเอกชน เพื่อดึงเด็กเหล่านี้มาเสริมทักษะ

 

  • มัธยมฯ รอยต่อ หลุดระบบการศึกษา

 

วิลสา กล่าวเพิ่มเติมว่า ยูนิเซฟมีการวิจัยทั้งกับ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ พบว่า การแนะแนวอาชีพเป็นปัญหา จากการฟังเสียงสะท้อนเยาวชน การเข้าถึงความรู้ในเรื่องความต้องการของตลาดแรงงานยังไม่เพียงพอ การเข้าถึงการฝึกอาชีพ ต่างๆ ไม่สามารถเข้าถึงได้ ดังนั้น ต้นทางก่อนออกจากระบบต้องส่งเสริมการแนะแนวอาชีพทั้งในและนอกระบบการศึกษา ดึงผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบหลักสูตรใช้ในโรงเรียนและควรเริ่มตั้งแต่อนุบาลหรือชั้นประถมฯ การที่มาทำในช่วงมัธยมฯ ถือเป็นช่วงรอยต่อที่จะหลุดจากระบบการศึกษา ดังนั้น ต้องเริ่มเร็วเพื่อให้เขารู้ว่าจะไปทางไหนได้บ้าง

 

  • แนะ เพิ่มโอกาส เสริมทักษะ

 

“อย่างไรก็ตาม เมื่อเด็กหลุดมาแล้วทำอย่างไร ในเรื่องการส่งเสริมการศึกษาทางเลือก ทักษะทางเลือก รับรองทักษะเพื่อจะได้ทำงานได้ หากจะกลับมาที่กลุ่มเด็กเปราะบางสิ่งสำคัญมาก คือ ทำอย่างไรให้เด็กมีโอกาสเข้าถึงการอบรมเสริมทักษะ และผู้ประกอบการก็ต้องได้รับการสนับสนุนโดยเฉพาะเอสเอ็มอี ภาครัฐอาจต้องสนับสนุนกลไกให้รับเด็กเหล่านี้มาฝึกงานและการผลักดันทักษะที่สามารถถ่ายโอนได้ เช่น การแก้ปัญหา เจรจาต่อรอง มีวินัย ทำงานร่วมกับคนอื่น หรือต้องการสนับสนุนเพิ่มเติมหรือไม่” วิลสา กล่าว