ศบค. เผย "คลัสเตอร์ตลาด" โผล่ 21 จ. โรงเรียนอีก 11 จ.
ศบค. เตรียมกำหนดทิศทาง "ผ่อนคลายมาตรการ" สัปดาห์หน้า ขณะที่การระบาด พบ "คลัสเตอร์โรงเรียน" ระบาด 11 จังหวัด ขณะที่ "คลัสเตอร์ตลาด" กระจายกว่า 21 จังหวัด จับตาการระบาดอีก 1-2 สัปดาห์หลังตรุษจีน
วันนี้ (3 ก.พ. 65) ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าจะถึงกำหนดที่ ศบค.ชุดใหญ่ จะกำหนดทิศทางผ่อนคลาย หรือกำหนดมาตรการต่างๆ ซึ่งวันที่ 21 ม.ค. 65 มีการประกาศตามมาตรการตามข้อกำหนดฉบับที่ 42 สัปดาห์นี้จะเป็นช่วงที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะมีการเก็บข้อมูลนำเข้ามาวิเคราะห์ เพื่อเสนอ ศบค. ชุดใหญ่ แม้วันนี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อบ้านเรา รายงานที่ 9172 ราย อาจทำให้หลายท่านมีความเป็นห่วง แต่ ศบค. ชุดใหญ่ มีการพิจารณารอบด้าน โดยประเทศชาติ ประชาชน ต้องปลอดภัย และกิจการกิจกรรมจะสามารถผ่อนคลายชีวิตใกล้เคียงปกติมากที่สุด
"ทั้งนี้ ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) มีความเป็นห่วงเพราะปัจจุบันมีหลายประเทศที่เริ่มมีการกำหนดนโยบายมากเกินไป โดยให้เหตุผลว่าไม่มีความจำเป็นที่จะป้องกันการแพร่ระบาดอย่าเข้มงวดอีกต่อไป ซึ่ง WHO ค่อนข้างเป็นห่วง จึงออกมาย้ำเตือนว่า การแพร่ระบาดที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มหมายถึงการเสียชีวิตเพิ่มด้วย ตั้งแต่ โอมิครอน ระบาด 10 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้รายงานติดเชื้อไปแล้วเกิน 90 ล้านราย สูงกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งปีของปี 2563 มีทิศทางที่ไม่เห็นด้วยที่จะผ่อนคลายมากเกินไป"
- เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เริ่มผ่อนคลาย
ที่ผ่อนคลายประกาศออกมาชัด คือ เดนมาร์ก 1 ก.พ. ที่ผ่านมา มีการยกเลิกมาตรการสาธารณสุข ที่จำเป็นหลายอย่าง เช่น การสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ รวมทั้งในแง่การดำเนินชีวิต มีการกำหนดว่าการสมัครงาน การเข้ารับบริการต่างๆ ไม่จำเป็นต้องแสดงหลักฐานหรือใบรับรองสุขภาพอีกต่อไป เช่นเดียวกับ ฝรั่งเศส พุธที่ผ่านมามีการยกเลิกการสวมหน้ากากอนามัยในสถานที่กลางแจ้ง เช่น คอนเสิร์ต ดูกีฬา และกำหนดว่า 16 ก.พ. นี้จะเปิดให้บริการไนต์คลับ อนุญาตให้ดื่มในสนามกีฬา โรงภาพยนตร์เป็นต้น
แต่ที่ WHO เป็นห่วง ในการยกเลิกมาตรการด้านสาธารณสุขในประเทศเหล่านี้ ไม่ได้แปลว่าเขาคำนึงว่าปลอดภัยแล้ว แต่เป็นการส่งสัญญานว่าประเทศเหล่านี้ตัดสินใจเปิดกิจการกิจกรรม ผ่อนคลายมากขึ้น โดยยอมรับความเสี่ยงที่จะตามมา หากดูอัตราการตายทั่วโลก 1.84% หมายถึงว่า ทุก 100 ราย ที่ติดเชื้อจะมีผู้เสียชีวิต 1-2 ราย ถ้าดูตัวเลขพบว่า สหรัฐ เสียชีวิต 2,990 ราย ฝรั่งเศส 276 ราย อังกฤษ 534 ราย เยอรมนี 174 ราย รัสเซีย 678 ราย อิตาลี 395 ราย ซึ่งเป็นสิ่งที่ สธ. และ ศบค. ต้องพิจารณา รอบคอบ เพราะถึงแม้ว่าอัตราผู้เสียชีวิต จะไม่สูงเท่าเดลตา แม้แต่รายเดียวเราก็ไม่อยากให้เกิดการสูญเสียชีวิต
ขณะนี้ สหรัฐ เปิดเผยว่า สัดส่วนการติดเชื้อโอมิครอน ของสหรัฐ ขึ้นไปที่ 99.99% เหลือเดลตาราว 0.1% เท่านั้น ต้องเน้นย้ำว่า การฉีดวัคซีนเข็ม 3 ยังมีความจำเป็น หลายประเทศ ลดหย่อนมาตรการเพราะประชาชนค่อนข้างฉีดวัคซีนครอบคลุม และระบบสาธารณสุข ในประเทศสามารถรองรับได้อย่างมีมาตรฐาน ต้องคำนึงหลายองค์ประกอบรวมกันเพื่อให้ประเทศปลอดภัยและดำเนินใกล้เคียงกับปกติด้วย
- "คลัสเตอร์โรงเรียน" 11 จังหวัด
สำหรับคลัสเตอร์ที่ ศปก.ศบค. เป็นห่วงในวันนี้ ต้องพูดถึง คลัสเตอร์โรงเรียน และสถานศึกษา มีรายงานถึง 11 จังหวัด ได้แก่
- ขอนแก่น
- อุดรธานี
- ประจวบคีรีขันธ์
- หนองบัวลำภู
- ยโสธร
- สุพรรณบุรี
- มหาสารคาม
- ศรีสะเกษ
- กทม.
- สระแก้ว
- ชลบุรี
เป็นเหตุให้ผู้ปกครอง เกิดความกังวลในเรื่องความปลอดภัย ที่ลูกหลานจะต้องไปเรียนที่โรงเรียน คงต้องเน้นย้ำว่า ในที่ประชุมหารือกันโดยการวิเคราะห์ว่าคลัสเตอร์ที่เกิดใน รร. มีหลากหลายจังหวัด คลัสเตอร์ แต่มักจะเป็นคลัสเตอร์เล็กๆ
เช่น ศรีสะเกษ 9 ราย สุพรรรณบุรี 9 ราย สระแก้ว 7 ราย ชลบุรี 5 ราย ในแต่ละคลัสเตอร์ ส่วนใหญ่จะเป็น การติดเชื้อแต่ละโรงเรียนไม่เกิน 10 ราย และมักเป็นนักเรียนในชั้นเดียวกัน ครู 1-2 ราย
ดังนั้น ทำให้มีการปิดการเรียนการสอนเป็นชั้นเรียน แต่ไม่จำเป็นต้องปิดโรงเรียน ต้องเน้นมาตรการควบคุมเป็นสำคัญ ซึ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมา สธ. ได้หารือร่วมกับ ศธ .และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแนะนำแผนเผชิญเหตุ เช่น หนึ่งห้องเรียน มีนักเรียนติดเชื้อ 1-2 แนะนำให้ปิดเฉพาะห้องเรียนนั้น 3 วัน งดกิจกรรมการรวมกลุ่มระหว่างชั้นเรียน และผู้ติดเชื้อ เข้าสู่กระบวนการรักษา และผู้เสี่ยงสูงให้งดการเรียน onsite และจัดการเรียนการสอนออนไลน์ แต่หากเป็นผู้มีความเสี่ยงต่ำ สามารถเข้ามาเรียนใน รร. ได้
แต่กรณีที่บาง รร. พิจารณามีการติดเชื้อมากกว่า 2 ราย หรือ เกิน 1 ห้องเรียน บางครั้งมีการทำกิจกรรมระหว่างชั้น ระหว่งาห้องเรียน หรือครู 1 ท่านสอน 2 ชั้นเรียน ทางรร. จะพิจารณาปิดการเรียนการสอนทั้งโรงเรียน ขอให้ปรึกษากับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดก่อนเสมอ เพราะการศึกษาของบุตรหลานก็มีความจำเป็นเช่นกัน
"คลัสเตอร์ตลาด" ระบาด 21 จังหวัด
นอกจาก คลัสเตอร์โรงเรียนแล้ว ยังพบ คลัสเตอร์ตลาด ระบาดกว่า 21 จังหวัด ได้แก่ กทม. สระบุรี ชลบุรี กาญจนบุรี ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ประจวบคีรีขันธ์ น่าน ร้อยเอ็ด นครราชสีมา ปทุมธานี สุรินทร์ ลพบุรี ปราจีนบุรี ตาก ขอนแก่น อ่างทอง เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา อุดรธานี สมุทรสาคร
- คลัสเตอร์บุคลากรการแพทย์
และกรณี “เชียงใหม่” ไม่ใช่แค่ตลาด แต่มีรายงาน บุคลากรทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็น การรายงานแผนกผู้ป่วยเด็ก ศัยกรรม ผู้ป่วยใน รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ในจังหวัดอื่นด้วย เช่น อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ปทุมธานี นนทบุรี อุดรธานี ขอนแก่น กทม.
- จับตาหลังตรุษจีน 1-2 สัปดาห์
ในส่วนความเป็นห่วงที่ ศบค. ชุดเล็กหารือกันในวันนี้ มุ่งเน้นให้แต่ละจังหวัดเน้นย้ำมาตรการ เช่น ตลาด ซึ่งเราเพิ่งผ่านเทศกาลตรุษจีน แต่นี่ไม่ใช่เลขของตรุษจีน เพราะหลังจากผ่านเทศกาลแล้วจะต้องจับตาอีก 1-2 สัปดาห์ ถึงจะเริ่มมีการรายงานตัวเลขที่ติดเชื้อเกี่ยวเนื่องจากตรุษจีน
“อย่างไรก็ตามเมื่อมีรายงานการติดเชื้อในตลาด ถึง 21 จังหวัดในวันนี้ ต้องฝากผู้ว่าราชการทุกจังหวัดเน้นย้ำมาตรการ เพราะตอนนี้มีรายละเอียดของกรมอนามัย ในการจัดการตลาดที่ปลอดภัย ต้องมีมาตรการใดบ้าง หากพี่น้องประชาชน ตรวจสอบพบว่าตลาดในพื้นที่ชุมชนไม่ปลอดภัย เป็นหน้าที่ที่เราจะรายงานไปยังคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เช่น แม่ค้าจำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้ครบ สถานที่ต้องทำความสะอาดจุดร่วม ลูกบิดประตูห้องน้ำ อ่างน้ำ เป็นต้น ขอให้พี่น้องประชานช่วยเป็นหูเป็นตา” ผู้ช่วย โฆษก ศบค. กล่าว
- คลัสเตอร์พิธีกรรม ยังพบต่อเนื่อง
พญ.อภิสมัย กล่าวต่อไปอีกว่า อีกคลัสเตอร์รายงานต่อเนื่อง คือ พิธีกรรม วันนี้มีรายงานงานศพ ที่อุบลราชธานี ศรีสะเกษ อุดรธานี เพชรบุรี จันทบุรี , งานแต่งงาน น่าน ศรีสะเกษ มหาสารคาม มีรายงานคลัสเตอร์ ติดเชื้องานบวช ที่ปราจีนบุรี จะเห็นว่าหลายจังหวัด เป็นจังหวัดเมืองรอง ที่ไม่ได้เป็นจังหวัดนำร่องท่องเที่ยวแต่มีการติดเชื้อสูงในระยะนี้
ศบค. ชุดเล็กมีการตั้งข้อสังเกตว่าเราเน้นย้ำจังหวัดนำร่องท่องเที่ยวให้ประชาชนระมัดระวัง มาตรการดูแลตัวเอง เข้มงวด สถานประกอบการต้องผ่านมาตรการปลอดโควิด เช่น ฉีดวัคซีน ตรวจ ATK แต่จังหวัด เมืองรองอาจจะไม่ได้รณรงค์มากเพียงพอ ต้องฝาก แต่ละจังหวัดวิเคราะห์การติดเชื้อในจังหวัดและกำหนดมาตรการให้ตรงจุด
- ประชาชน สถานประกอบกิจการ เข้มมาตรการ
สิ่งสำคัญ ต้องฝากพี่น้องประชาชน สังเกตอาการของตัวเอง ตามหลัก Universal Prevention การป้องกันตัวเองอย่างครอบจักรวาล ตรวจสอบความเสี่ยงตนเองสม่ำเสมอ ว่าได้เดินทางไปไหน สัมผัสบุคคลเสี่ยงหรือไม่ หากเป็นผู้ประกอบการ แม้ว่า ธุรกิจ สถานประกอบการ จะเล็กๆ ท่านก็ต้องเข้มงวดมาตรการ COVID Free setting พนักงานต้องได้รับวัคซีน 100% มีการตรวจ ATK ทุก 1 สัปดาห์
และประชาชนเป็นหูเป็นตาเลือกรับบริการในสถานประกอบการที่ปลอดภัย ที่มีมาตรการ COVID Free setting ผ่านมาตรฐาน SHA+ ไม่ว่าจะตลาด ร้านอาหาร ตัดผม ทำเล็บ ขอให้เลือกสถานบริการที่ได้มาตรฐาน และฝากราชการที่ต้องเข้มงวด หากมีนักท่องเที่ยวฝ่าฝืนมาตรการหรือสถานประกอบการไม่ดำเนินตามมาตรการต้องเอาผิด ทำโทษ หรือปรับ สุดท้าย ประชาชน หากจะปลอดภัยที่สุด ต้องจัดหา ATK หากสงสัย ลูกหลานต้องไปโรงเรียน เป็นต้น
"โดย ผอ.ศบค. ได้สั่งการให้สธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการจัดหา ATK มาตรฐานที่ประชาชนเข้าถึงได้ ต้องมีประชาชนประหยัดตามโครงการ ATK คุณภาพเพื่อสังคมไทย ก็จะมีการทบทวนเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนและนำเสนอ ศบค. ชุดใหญ่พิจารณาในสัปดาห์หน้าด้วย คงต้องมีหลายเรื่องที่ฝากพี่น้องประชาชนเป็นหูเป็นตา การที่ทุกคนจะปลอดภัยได้ ต้องทำให้ประชาชนปลอดภัยและประเทศชาติปลอดภัย" ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าว