"ศบค." เผยเสียชีวิตจากโควิด 5 ราย ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มนานกว่า 4 เดือน
ศบค. ย้ำ "ฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3" หลังวันนี้ พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ฉีดวัคซีนครบ 2 ก่อนติดเชื้อและเสียชีวิตนานเกิน 4 เดือน กว่า 5 ราย ขณะที่ รายงานการฉีด "วัคซีนโควิด-19" สะสม 115 ล้านโดส เป็นเข็ม 3 คิดเป็น 21.1%
วันนี้ (3 ก.พ. 65) ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. รายงาน “สถานการณ์โควิด-19” ประเทศไทย ติดเชื้อรายใหม่ 9,172 ราย แบ่งเป็น ติดเชื้อในประเทศ 8,889 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 222 ราย จากเรือนจำ 61 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 21 ราย เสียชีวิตสะสม 22,228 ราย รักษาตัวอยู่ 84,413 ราย อาการหนัก 517 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 107 ราย หายป่วยเพิ่ม 7,832 ราย หายป่วยสะสม 2,359,082 ราย
หญิงตั้งครรภ์ เสียชีวิต 1 ราย
สำหรับผู้เสียชีวิต 21 ราย กว่า 100% เป็นผู้สูงวัย 60 ปีขึ้นไป และโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง อ้วน ไต ผู้ป่วยติดเตียง และมีรายงานหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิต 1 รายที่ จ.สตูล พบว่า ไม่ได้ฉีดวัคซีน และเสียชีวิตตั้งครรภ์ 28 สัปดาห์ โดยสาธารณสุข รายงานว่า กรณีที่คุณแม่ตั้งครรภ์มากถึง 50% จะสูญเสียไปพร้อมลูกในครรภ์ เป็นการสูญเสียของครอบครัวและสังคมไทย
- เสียชีวิต 5 ราย ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม
ทั้งนี้ ในจำนวนผู้เสียชีวิต 21 ราย พบว่า 11 ราย มีรายงานว่าไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มที่ 1 ขณะที่ 1 ราย ได้รับวัคซีน เพียงเข็มเดียว และ 5 ราย ได้รับวัคซีน 2 เข็มแล้ว แต่เข็ม 2 มีระยะเวลาก่อนติดเชื้อและเสียชีวิตนานเกิน 4 เดือน เป็นที่มาว่ากระทรวงสาธารณสุข รณรงค์ให้พี่น้องประชาชนไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งหากรับวัคซีน 2 เข็มเกิน 3 เดือน หรือติดเชื้อรักษาหายอยู่ในช่วง 3 เดือนขึ้นไป ขอให้ไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วย
- ไทยฉีดเข็ม 3 คิดเป็น 21.1%
จำนวนการได้รับ "วัคซีนโควิด-19" สะสม (28 ก.พ. 2564 - 2 ก.พ. 2565) รวม 115,820,553 โดส ใน 77 จังหวัด แบ่งเป็น จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 52,384,810 ราย (75.3%) เข็มที่ 2 สะสม : 48,735,311 ราย (70.1%) และ เข็มที่ 3 สะสม : 14,700,432 ราย (21.1%)
พญ.อภิสมัย กล่าวต่อไปว่า หากดูตัวเลขการฉีดวัคซีนเข็ม 3 พบว่าค่อนข้างขยับขึ้น คิดเป็น 21.1% ของประชากร หากดูในกทม. มีการฉีดวัคซีน 51,730 โดส เป็นเข็ม 3 ส่วนใหญ่ 41,853 โดส และเข็ม 4 จำนวน 4,937 โดส ขอให้พี่น้องประชาชนได้รับวัคซีน 2 เข็ม 3 เดือนแล้ว เข้ารับเข็ม 3 สำหรับพี่น้องประชาชนที่รับเข็ม 3 แล้ว เช่น บุคลากรทางการแพทย์ เป็นกลุ่มเจ้าหน้าที่ด่านหน้า หรือโรคประจำตัว มีความเสี่ยง ขอให้ติดต่อรับเข็ม 4 ด้วย
ที่ผ่านมาใน ช่วง ม.ค. กรมควบคุมโรค รายงานการฉีดวัคซีนชาวต่างชาติที่อาศัยในไทย ตัวเลขตั้งแต่ 28 ก.พ. 64 – 30 ม.ค. 65 มีการฉีดไปทั้งสิ้น 4,32,076 โดส คิดเป็น 45.39% ของประชากรต่างชาติที่อยู่ไทย ถือเป็นการเร่งระดมฉีด ประเทศชาติปลอดภัย ทุกคนต้องปลอดภัย ต้องขอบคุณหน่วยงานที่รับผิดชอบ ส่วนของแรงงานประมง 21 จังหวัดชายทะเล และแรงงานต่างด้าว ทั้งขึ้นทะเบียน และไม่ขึ้นทะเบียน หน่วยงานเกี่ยวข้อง ช่วยตาม และให้บริการฉีดวัคซีน รวมถึงแรงงานต่างด้าวที่อพยพหนีภัยการสู้รบทางชายแดน ก็นำเข้าระบบฉีดวัคซีนเรียบร้อย
- ฉีดวัคซีนเด็ก 5-11 ปี เริ่มกลุ่มเสี่ยง
พญ.อภิสมัย กล่าวต่อไปว่า ที่สำคัญ ในเดือน ก.พ. คือ การระดมฉีดวัคซีนเด็ก 5-11 ปี ขวดฝาสีส้มแตกต่างจากวัคซีนที่ฉีดกลุ่ม 12-17 ปี ซึ่งเป็นฝาสีม่วง ทาง สธ. เริ่มฉีดเด็กที่มีโรคประจำตัว โดยเริ่มฉีดใน รพ. เพื่อให้กุมารแพทย์ ดูแลเป็นหมอประจำตัว ได้มีโอกาสทบทวนและตัดสินใจ ร่วมกับผู้ปกครอง ส่วนเด็กที่ไม่มีโรคประจำตัว กำหนดให้มีการฉีดในโรงเรียน โดยเบื้องจัดสรรให้ชั้น ป. 6 ก่อน ที่อายุ ต่ำกว่า 12 ปี จากนั้นไล่ลงมา ป.5 และสุดท้ายเป็น ป. 1
รออนุมัติ Test & Go ไม่เกิน 7 วัน
สำหรับ ระบบ Test & Go ที่เริ่มเปิดลงทะเบียนในวันที่ 1 ก.พ. 65 นั้น พญ.อภิสมัย อธิบายว่า หลังจากให้ลงทะเบียน 1 ก.พ. ต้องให้เวลาตรวจสอบเอกสาร ไม่ว่าจะตรวจหลักฐานการฉีดวัคซีน โดยกรมควบคุมโรค จากนั้นยังต้องมีส่วนของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่จะต้องตรวจสอบหลักฐานการชำระค่าโรงแรมที่พัก SHA Extra Plus เพราะที่ผ่านมามีการจองที่พักแต่อาจจะไม่ได้มาตรฐาน ไม่มี รพ. คู่ปฏิบัติการ ตรวจ RT-PCR เมื่อมาถึง ต้องตรวจสอบโดยใช้เวลา
นอกจากนี้ มีการทบทวนประกันสุขภาพที่ซื้อมา เราพยายามแก้ปัญหาเพราะจากก่อนหน้านี้นักท่องเที่ยวบางราย ซึ่งประกันเฉพาะวันที่ตัวเองจะอยู่ พอวันสุดท้ายจะเดินทางกลับ ปรากฏว่าผลติดเชื้อ ประกันไม่ครอบคลุม หลักการใหม่ ต้องตรวจสอบการซื้อประกันนักท่องเที่ยวเข้มงวด เพื่อมั่นใจว่า หากเกิดการติดเชื้อมีการต้องอยู่เมืองไทยต่อจะไม่เป็นภาระต่อระบบสาธารณสุขบ้านเรา และมีการหารือผลตรวจ RT-PCR ของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ ให้แสดงหลักฐานการตรวจ ตอนนี้มีคำถามว่า ต้องการเอกสารจริง ที่จะยืนยันผลการตรวจที่มีมาตรฐานด้วย รวมแล้วใช้เวลาไม่เกิน 7 วันในการอนุมัติ และเดินทางเข้าไทยได้
- เข้าไทย ก.พ. ติดเชื้อสะสม 344 ราย
สำหรับการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อที่มาจากต่างประเทศ จำแนกตามประเภท ตั้งแต่วันที่ 1-2 ก.พ. 65 มีผู้เดินทางเข้าประเทศไทย สะสม 7,742 ราย ติดเชื้อ 334 ราย คิดเป็น 4.44% แบ่งเป็น
- ระบบ Test & Go เดินทางสะสม 721 ราย ติดเชื้อ 12 ราย คิดเป็น 1.66%
- ระบบแซนด์บ็อกซ์ เดินทางสะสม 5,377 ราย ติดเชื้อ 292 ราย คิดเป็น 5.43%
- ระบบกักตัว เดินทางสะสม 1,644 ราย ติดเชื้อ 40 ราย คิดเป็น 2.43%