เสียงสะท้อน "ประมงพื้นบ้าน" ในวันที่ "น้ำมันรั่ว" สู่ท้องทะเล
เหตุการณ์น้ำมันรั่วไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น ตัวอย่างปี 2556 เหตุ "น้ำมันดิบรั่ว" กว่า 5 หมื่นลิตร ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลต่อเนื่องกว่า 10 ปี และล่าสุด น้ำมันดิบของ SPRC รั่วไหลอีกครั้งในจุดเดิม สร้างความกังวลต่อ "ประมงพื้นบ้าน" ในวันที่ทะเลเจอวิกฤติอีกครั้ง
น้ำมันรั่วในอ่าวไทย เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และเป็นปัญหาเรื้อรังที่สร้างผลกระทบอย่างกว้างขวางมานาน โดยเฉพาะเหตุการณ์ น้ำมันรั่ว ครั้งใหญ่ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 มีเหตุการณ์ท่อรับน้ำมันดิบของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) รั่วไหลกลางทะเลด้านทิศเหนือและตะวันตกของเกาะเสม็ด จ.ระยอง 50,000 ลิตร หรือ 50 ตัน
เหตุการณ์ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 มีการรั่วไหลของน้ำมันดิบกลางทะเลของ บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด ( SPRC ) ที่ตั้งอยู่ในท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง ซึ่งฉีดพ่นน้ำยาขจัดคราบน้ำมัน Dispersant 4 หมื่นลิตร เพื่อทำให้น้ำมันแตกตัว แม้ว่าในขณะนี้ สถานการณ์ส่อแววดีขึ้น แต่กลุ่มชาวประมงในพื้นที่ มีการคาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบยาวนานอย่างต่ำ 20 ปี
- เหตุการณ์ปี 56 ยังมีสารตกค้าง
ผลงานวิจัย ของ ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยในงานเสวนาออนไลน์ “น้ำมันรั่วทะเล (อีกแล้ว)” ถึงเวลาสร้างระบบใหม่เพื่อนิเวศที่ยั่งยืนและเป็นธรรม จัดโดย TCJA ร่วมกับ มูลนิธิบูรณะนิเวศ และกรีนพีซ ประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 65 ระบุว่า มีการทำการสำรวจ 2 ปี หลังจากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลที่เกาะเสม็ดเมื่อปี 2556 เก็บตัวอย่างดินรอบเกาะเสม็ดและจุดต่างๆ
สิ่งที่พบ คือ แม้จะผ่านไป 2 ปี ยังพบการตกค้างของสารก่อมะเร็ง “โพลีไซคลิก อะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน” ขณะเดียวกัน กรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา เชื่อว่าจะส่งผลต่อระบบนิเวศบริเวณชายฝั่งอีกกว่า 10 ปีข้างหน้า ยังไม่รวมถึงระบบห่วงโซ่อาหารต่างๆ
ในงานเสวนาฯมีการเผยแพร่คลิปเสียงสะท้อนจากกลุ่มประมงในพื้นที่อย่าง วีระศักดิ์ คงณรงค์ นายกสมาคมประมงพื้นบ้านท้องถิ่นระยอง ที่ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 65 ผ่านคลิปวิดีโอ ระบุว่า 2-3 วันที่ผ่านมา อ่าวระยอง มีความผิดปกติเพราะเกิดจากเหตุน้ำมันดิบรั่วที่จุดเดิมในปี 2556 และไม่สามารถทราบได้ว่ามาจากสาเหตุอะไร วันนี้ไม่ใช่แค่วงแคบๆ แต่ตีวงกว้างทั้งอ่าวจากกระแสน้ำธรรมชาติและกระแสลม ขณะที่วันที่ 30 ม.ค. คราบน้ำมันปะทะกับฝั่งกลายเป็นคราบน้ำมันมหาศาลที่หาดแม่รำพึง ในปัจจุบัน แม้จะมีการฉีดสารเคมีกำจัดคราบน้ำมันในทะเล แต่ก็ยังไม่หายและไหลผ่านไปยังเกาะเสม็ด
- เสียหายซ้ำรอยอย่างต่ำ 20 ปี
“ฟิล์มบางๆ คราบน้ำมันที่อยู่บนผิวน้ำ แม้ไม่ใช่เรื่องน่าเป็นห่วงเพราะลอยขึ้นด้านบน แต่ในครั้งนี้น้ำมันที่รั่วกว่าแสนลิตรกลับถูกกดจมทั่วอ่าว น้ำมันคือพิษ พิษที่มนุษย์และปลากินไม่ได้ พิษที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ สิ่งแวดล้อม แพลงตอน สัตว์น้ำวัยอ่อน รวมถึงคราบน้ำมันที่ไปเกาะปะการังเทียมจากที่มีประโยชน์กลายเป็นอุปสรรค”
หลังจากเหตุน้ำมันรั่ว เมื่อปี 2556 รั่วที่จุดเดิมไหลเข้าเกาะเสม็ดมีการจัดเก็บ 50,000 ลิตร แต่ส่วนที่จมยังไม่มีการบอกเล่า และส่งผลกระทบเกือบสิบปี เมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา พบว่ามีสัตว์น้ำเข้ามาบ้างเล็กน้อย แต่ครั้งนี้ยังถูกเหตุการณ์ใหม่ปี 2565 โถมเข้ามาอีก ถูกทำลายอย่างที่ประเมินค่าไม่ได้ และวันนี้พี่น้องได้รับผลกระทบอย่างเฉียบพลัน
ปัจจุบันมีปลา ปู เลอะน้ำมัน ถามว่าบริเวณชายหาด ใต้พื้นน้ำปะการัง จะเหลืออะไร รุนแรงกว่าปี 2556 ซึ่งเสียหายกว่า 10 ปี แต่เหตุการณ์ล่าสุดคาดว่าสร้างความเสียหายอย่างต่ำ 20 ปีกับอาชีพประมง และอาชีพต่อเนื่อง รวมถึงผู้บริโภค
วีระศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน แม้จะอยากออกไปหาปลา แต่จับปลามาแล้วเลอะน้ำมันคิดว่าสมควรเอาไปขายให้กับคนกินหรือไม่และใครจะกล้ากิน วันนี้ยังไม่รู้ว่าใครจะรับผิดชอบได้บ้าง ทรัพยากรแย่ ลงหาปลาได้กลับขายไม่ได้ รุนแรงกว่าปี 2556 สิ่งแวดล้อมทะเลจะกู้คืนอย่างไร คิดว่าต้องมีการฟื้นฟูครั้งใหญ่
"สมาคม ประมงพื้นบ้าน ได้ปรึกษาหารือกันว่า ให้จังหวัดฟื้นฟูทะเลจังหวัดระยอง โดยกลุ่มสมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กระยองจะไม่ขอรับเยียวยา เหตุผลคือ เยียวยาไม่กี่บาท หากเสียหาย 10-20 ปี พวกเรารับตรงนั้นไหวหรือไม่ แต่หากฟื้นฟูร่วมกัน หากฟื้นได้เร็ว อาชีพกลับมาเร็ว จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ยังไม่รู้เลยว่าลูกหลานจะได้ใช้ทรัพยากรทางทะเลอีกหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง"
- แนะตั้ง คกก. กลางสืบข้อเท็จจริง
ทั้งนี้จากการติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลเทียบกับปี 2556 เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ระบุว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ สิ่งแรก คือ น่าจะเป็นหายนะภัยที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในอ่าวไทยรุนแรงที่สุดมากกว่าครั้งปี 2556 เชื่อว่ามีการใช้สารเคมีในการสลายคราบน้ำมันในปริมาณสูงมาก
เนื่องจากปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลสูง ในปี 2556 จากการตรวจสอบพื้นที่ พบว่าสัตว์น้ำได้รับความเสียหายหนัก ดังนั้น การเกิดขึ้นมีบทเรียนมากมายที่ต้องศึกษา รวมถึงด้านสุขภาพด้วย ในครั้งนั้นภาคประชาชนได้มีการรวมตัวและเสนอต่อรัฐบาลว่าควรจะมีคณะกรรมการกลางที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริง เพื่อนำไปสู่การวางมาตรการในอนาคตและมาตรการเยียวยาชดเชยความเสียหายที่เป็นธรรม
“และครั้งนี้ต้องการเรียกร้องตรงนี้อีกครั้งในการมีคณะกรรมการกลาง ซึ่งต้องประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ และตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบที่เข้ามาพิจารณารายละเอียดที่เกิดขึ้น เหตุการณ์ในปีนี้ เรียกว่ารุนแรงกว่า เพราะนอกจากจะอยู่ที่ชายหาดแล้วยังไปที่เกาะเสม็ด กระทบทั้งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การประมงรุนแรง”
- จี้เปิดข้อเท็จจริงพื้นฐานทั้งหมด
ด้าน “สฤณี อาชวานันทกุล” กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด เปิดเผยถึงประเด็นความรับผิดชอบของ SPRC และ Chevron โดยระบุว่า 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ข้อเท็จจริงพื้นฐานบางเรื่องยังไม่มีความชัดเจน เช่น น้ำมันเป็นชนิดไหนที่รั่วออกมา น้ำมันดิบหรือน้ำมันเบา ปริมาณน้ำมันที่รั่วทั้งหมดเท่าไหร่ จากตอนแรก 4 แสนลิตร เป็น 1.6 แสนลิตร และล่าสุด 5 หมื่นลิตรและข้อมูลหลายส่วนที่ทำให้สับสน
“การแสดงความรับผิดชอบที่ SPRC และ Chevron” ควรทำ คือ เปิดเผย ข้อเท็จจริงพื้นฐานทั้งหมด และรายงานความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องชัดเจน ตั้งแต่ปริมาณน้ำมันที่รั่ว ชนิดและปริมาณ Dispersant ที่ใช้ ช่องทางเผยแพร่ผลต่อสาธารณะเปิดเผยผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดต่อระบบนิเวศชายฝั่งและทะเล ระยะสั้นและยาว เปิดกระบวนการและงบประมาณที่จะใช้ในการฟื้นฟูระบบนิเวศ ระยะสั้นและยาว เชิญผู้เชี่ยวชาญบุคคลภายนอกมาเป็นกรรมการอิสระ มาตรการป้องกันอุบัติภัยในอนาคต ที่ถอดบทเรียนจากกรณีนี้”
- “วิทยาศาสตร์พลเมือง”ส่วนร่วมประชาชน
“ธารา บัวคำศรี” ผู้อำนวยการ กรีนพีช ประเทศไทย กล่าวถึงประเด็นน้ำมันรั่ว มลพิษจากน้ำมันและวิทยาศาสตร์พลเมือง ว่า เวลาเราพูดถึงหายนะน้ำมันรั่ว มีหลายมิติทางวิทยาศาสตร์ สิ่งที่อาจจะยังขาดหายไปของสังคมไทย คือ วิทยาศาสตร์พลเมือง ซึ่งใช้มานานในไทยในงานวิจัยในชุมชนหลายกลุ่ม ขณะเดียวกัน เรื่องน้ำมันรั่วดูเหมือนจะเป็นเรื่องไกลตัว หลายคนมองว่าต้องเป็นบริษัทน้ำมัน กรมควบคุมมลพิษ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น
ห้องปฏิบัติการ NOAA National Servers Storms Laboratory ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงพาณิชย์ ได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย และ พัฒนาวิทยาศาสตร์พลเมือง (Citizen Science) ขึ้นมา เป็นการมีส่วนร่วมของสาธารณชนในกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แม้จะไม่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ก็ตาม เมื่อเทคโนโลยีเปิดโอกาสใหม่ๆ ผู้คนจำนวนมากสามารถร่วมมือกันข้ามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ และเข้ามาร่วมในโครงการที่อาจเป็นอุปสรรคในช่วงเวลาที่ผ่านมา
“วิทยาศาสตร์พลเมือง”มีหลายรูปแบบ ตั้งแต่การตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม ระดับเล็กไปจนถึงความพยายามในการจำแนกประเภทที่ต้องระดมผู้คนจำนวนมาก ในปี 2558 หลังจาก “Deep Water Horizon” NOAA ได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย พัฒนาคู่มือในเรื่องของการตอบสนองต่อการรั่วไหลของน้ำมัน โดยมีข้อมูลเกี่ยวกับคำศัพท์ที่ใช้ในการสังเกตน้ำมันรั่วที่ได้มาตรฐาน สีและการปรากฎของคราบน้ำมัน ตัวอย่างปรากฎการณ์ในทะเลที่อาจระบุว่าเป็นคราบน้ำมัน เป็นต้น ให้ประชาชนได้รับรู้
“สุดท้าย คือ ในโลกที่ถูกครอบงำด้วยอำนาจของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล ไม่ต้องถามเลยว่าน้ำมันรั่วจะเกิดขึ้นหรือไม่ เราต้องถามว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไร การรั่วไหลของน้ำมันเป็นผลที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงของยุคเชื้อเพลิงฟอสซิล ที่เป็นอันตราย และข้อมูลการรั่วไหลของน้ำมันไม่เคยสมบูรณ์ เราเห็นตัวเลข ข้อมูล เอามานั่งเถียงกัน จัดตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาเพื่อหาข้อมูล หาความจริง เป็นบทเรียนให้กับสังคมไทย แต่สุดท้ายชาวประมงเป็นคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด”
- ข้อเรียกร้องค่าเสียหายกรณี "น้ำมันรั่ว"
ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการในหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด โพสต์เฟซบุ๊กให้ความเห็นข้อกฎหมาย ข้อกฎหมายการ เรียกร้องค่าเสียหายจากเอกชน ภาครัฐมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ ทรัพย์สินของรัฐ และค่าใช้จ่ายในการขจัดคราบน้ำมันที่รั่วไหลจากบริษัท SPRC ได้ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฯ มาตรา 96 ที่กำหนดว่า กรณีที่มีการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษทำให้ทรัพย์สินของรัฐ เสียหาย ไม่ว่าการรั่วไหล หรือแพร่กระจายของมลพิษนั้นจะเกิดจากการกระทำโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่อของเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษหรือไม่ก็ตาม
รวมทั้งในกรณีที่มีการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษและราชการต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการขจัดมลพิษที่เกิดขึ้นให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษนั้น มีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่รัฐด้วย ซึ่งเป็น “หลักความรับผิดโดยเคร่งครัด (Strict Liability)” กล่าวคือ เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษต้องรับผิดแม้จะไม่ได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อก็ตาม
นอกจากนี้ ยังมีมาตรา 97 ที่กำหนดให้บุคคลที่กระทำหรือละเว้นการกระทำโดย มิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทำลายหรือทำให้สูญหาย หรือเสียหายแก่ทรัพยากร ธรรมชาติซึ่งเป็นของรัฐ หรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไปด้วย
ประชาชนที่ได้รับความเสียหายที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาวประมง ผู้ประกอบการต่างๆ และผู้อยู่อาศัยที่ได้รับผลกระทบ มีสิทธิเรียกร้องให้บริษัท SPRC ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นได้ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฯ มาตรา 96 เช่นเดียวกัน ตามที่มาตรา 96 กำหนดไว้ว่า
ในกรณีที่มีการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพอนามัย หรือเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษนั้น มีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหาย ไม่ว่าการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษนั้นจะเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษหรือไม่ก็ตาม
และเนื่องจากมีประชาชนผู้ได้รับความ เสียหายเป็นจำนวนมาก โดยมีข้อเท็จจริง และหลักกฎหมายที่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายร่วมกันของกลุ่มประชาชนผู้ได้รับความเสียหาย และมีลักษณะเฉพาะของกลุ่มเหมือนกัน แม้ว่าจะมีลักษณะของความเสียหายที่แตกต่างกันก็ตาม กลุ่มประชาชนผู้เสียหายจึงสามารถแต่งตั้งตัวแทนสมาชิกกลุ่มให้เป็นโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลขอดำเนินคดีแบบกลุ่มพร้อมกับการยื่นฟ้องคดีต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้
โดยประชาชนผู้ที่ได้รับความเสียหายจะอยู่ในฐานะเป็นสมาชิกกลุ่ม และสมาชิก กลุ่มที่เป็นโจทก์จะมีฐานะเป็นคู่ความในคดี โดยการดำเนินคดีแบบกลุ่มเป็นการหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อนในการฟ้องคดีของประชาชนและเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีในศาลด้วย