หลักสูตร "Sandbox" ไม่หนีเกณฑ์มาตรฐาน พัฒนาประเทศแบบนอกกรอบ
ครม. ไฟเขียว Higher education Sandbox อว.ย้ำ Sandbox ไม่ใช่การหนีเกณฑ์มาตรฐาน แต่เป็นการสร้างหลักสูตรใหม่ที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศอย่างเร่งด่วนแบบนอกกรอบ
วันนี้ (7 ก.พ.2565) ศ.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อชี้แจงหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา ขับเคลื่อนกลไก Higher Education Sandbox สนับสนุนการผลิตกำลังคนสมรรถนะสูง กล่าวว่า
การเกิดขึ้นของ Higher education Sandbox เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศอย่างเร่งด่วนอย่างแท้จริง สิ่งนี้จะช่วยให้ภาคเอกชนภาคอุตสาหกรรมหรือสถาบันอุดมศึกษา ได้ร่วมมือกันพัฒนาหลักสูตรแบบนอกกรอบอย่างเร่งด่วน นำไปสู่การใช้งานจริงสนองนโยบายของประเทศโดยตรงในการสร้างและพัฒนากำลังคนที่มีสมรรถนะสูง สามารถออกไปทำงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
- Sandbox ไม่หนีเกณฑ์มาตรฐานที่กำกับหลักสูตร
"อยากให้ทุกฝ่ายคำนึงไว้เสมอว่า Sandbox ไม่ใช่การหนีเกณฑ์มาตรฐานที่กำกับหลักสูตร แต่เป็นการปรับเปลี่ยนวิธีการและรูปแบบการศึกษาอย่างไร้ข้อจำกัด เพื่อให้ทันต่อการปรับตัวอย่างรวดเร็วและความต้องการจากตลาดแรงงาน"ศ.ศุภชัย กล่าว
ส่วนหลักสูตรปกติก็ยังคงมาตรฐานเดิมและมีการศึกษาควบคู่กันไป ซึ่ง อว. ได้มีแผนการพัฒนา Sandbox ในสองรูปแบบคือ Top down Policy เป็นการจัดการตามนโยบายหรือความต้องการของประเทศ ว่าต้องการให้หลักสูตรใดเกิดขึ้นโดยร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมและภาคเอกชนที่มีความต้องการร่วมกัน
อีกหนึ่งทางคือจะเปิดโอกาสให้สถาบันอุดมศึกษาที่คิดว่าตนเองมีการทำงานตรงร่วมกับภาคเอกชนชุมชนหรือสังคมที่ต้องการกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง สามารถเสนอหลักสูตรเข้าสู่กระบวนการพิจารณาได้ และตอนนี้ได้มีการประกาศกฎเกณฑ์และวิธีการออกมาแล้วอย่างชัดเจน
ส่วน ครม. ก็ได้อนุมัติให้คณะกรรมการมีอำนาจดำเนินการได้อย่างสมบูรณ์เต็มที่ ตนจึงอยากให้ทุกฝ่ายเตรียมพร้อมและศึกษาขั้นตอนวิธีการและกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้เข้าใจ พร้อมร่วมกันพัฒนาและผลักดันให้หลักสูตรต่างๆ ใช้งานได้จริงในอนาคตอันใกล้ให้ได้
- เดินสายทำความเข้าใจครั้งสุดท้าย 14 ก.พ.นี้
"การเดินสาย (Roadshow) ชี้แจงของ อว. เพื่อเจตนารมย์เดียว คืออยากให้ Sandbox เกิดขึ้นจริงได้ประโยชน์และใช้งานได้จริง และได้กำลังคนที่มีสมรรถนะสูงที่สุด สร้างมิติใหม่แห่งการศึกษาไทย อยากเห็นภาพของการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเป็นที่ยอมรับ" ศ.ศุภชัย กล่าว
ทั้งนี้ การเดินสายครั้งท้ายสุดที่จังหวัดขอนแก่นในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ เป็นภูมิภาคสุดท้ายจากการเดินสายตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา และหวังว่าการชี้แจงทั้งหมดนี้จะทำให้ทุกฝ่ายเข้าใจมากขึ้น ได้มองเห็นประโยชน์ร่วมกันอย่างแท้จริง และมาร่วมเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาหลักสูตรเพื่อการพัฒนาประเทศในอนาคต