รณรงค์สร้างความตระหนักถึงโรคเขตร้อน ใน "วันโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย"
รณรงค์สร้างความตระหนักถึงโรคเขตร้อน ใน "วันโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย" พร้อมประดับไฟเพิ่มแสงสว่างให้ 100 สถานที่สำคัญทั่วโลก
วันที่ 30 มกราคม 2565 สถานที่สำคัญกว่า 100 แห่งใน 32 ประเทศ พร้อมใจกันประดับไฟเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของวันโรคเขตร้อนที่ถูกละ เลยซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 3 โดยสถานที่สำคัญๆ เช่น หอระฆังสวอนเบลในเมืองเพิร์ธ โตเกียวทาวเวอร์ กำแพงเมืองจีน อาคารกัวลาลัมเปอร์ โรงแรม Burj Al Arab โคลอสเซียม น้ำพุแฌโด น้ำตกไนแองการ่า ตึกซีเอ็นทาวเวอร์ พิพิธภัณฑ์ และห้องสมุดจิมมีคาร์เตอร์ และรูปปั้นพระเยซูคริสต์ในนครริโอเดจาเนโร
ในปีนี้ กิจกรรมวันโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยจะมุ่งเน้นเป็นพิเศษไปยังสถานที่สำคัญในประเทศที่มีการระบาดอยู่ เช่น บังคลาเทศ บราซิล สาธารณรัฐบุรุนดี สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เอธิโอเปีย กานา อินเดีย เคนยา ไลบีเรีย ไนเจอร์ ไนจีเรีย ฟิลิปปินส์ รวันดา ซูดานใต้ สาธารณรัฐโตโก และอีกหลายประเทศ โครงการประดับไฟ 100 แห่งนั้นมีเป้าหมายเพื่อที่จะส่องแสงไปยังโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย (NTDs) เนื่องจากวันโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยนั้นสนับสนุนเป้าหมายขององค์กรอนามัยโลก (WHO) เพื่อกำจัดโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยให้ได้อย่างน้อย 1 โรค จากประเทศที่มีโรคเฉพาะถิ่นกว่า 100 ประเทศ ภายในปี พ.ศ. 2573 วันโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยนั้นเป็นกิจกรรมที่ขับเคลื่อนร่วมกันทั่วโลกเพื่อกระตุ้นผู้คนในวงการสาธารณสุขรวมถึงความร่วมมือจากสังคม ในความพยายามอย่างเร่งด่วนเพื่อกวาดล้างโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย ในปีนี้ มีการรวมกำลังกันเพื่อต่อสู้กับโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย โดยใช้วันโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยเพื่อจัดโครงการร่วมมือกันแบบ 100% ซึ่งมีขึ้นเพื่อสร้างความมั่นใจด้านการเมืองและการเงินเพื่อสนับสนุนคำประกาศ Kigali เกี่ยวกับโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย เนื้อหาในคำประกาศ Kigali เปิดโอกาสให้การเคลื่อนไหวองคิกาลี คือการแถลงการณ์ระดับสูงในทางการเมือง โดยมีการเปิดโอกาสให้ขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ทั้งด้านการเมือง การร่วมมือกันของชุมชน การใช้ทรัพยากรและกิจกรรมต่างๆ เป็นไปเพื่อยุติโรคที่สร้างความเจ็บป่วยให้กับประชากรโลกอย่างไม่ควรจะเป็น
โธโก พูลีย์ ผู้อำนวยการระดับสูงของโครงการ Uniting to Combat NTDs กล่าวว่า วันนี้จากความสำเร็จของคำประกาศลอนดอน ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงด้านภูมิศาสตร์ของโลก เรากำลังใช้วันโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย ปี 2565 เป็นปัจจัยเร่งเพื่อสร้างกระบวนการแปลงความตระหนักรู้ไปสู่การลงมือทำ เราเริ่มโครงการ 100% Committed campaign ซึ่งริเริ่มขึ้นพร้อมกันทั่วโลกในการจัดหาทรัพยากรเพื่อโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และช่วยให้เกิดการยอมรับและรับรองเรื่องของโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยเหล่านี้ ผ่านการรับรองและลงนามในคำประกาศ Kigali ฉบับใหม่
วันโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากองค์การอนามัยโลกในเดือนพฤษภาคม ปี 2564 ด้วยความพยายามของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ร่วมกับประเทศสมาชิก เช่น โอมาน และบราซิล ทำให้ได้รับมติรับรองอย่างเป็นทางการ สำนักมกุฎราชกุมารของอะบูดาบียังดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการสร้างพันธมิตรเพื่อกิจกรรมวันโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย โดยอาศัยโครงการ Reaching the Last Mile Initiative (RLM) ซึ่งเป็นโครงการส่วนพระองค์ของชีค โมฮัมเหม็ด บิน ซาเยด มกุฎราชกุมารของอาบูดาบี โดยพระองค์ทรงมีเป้าหมายในการกวาดล้างโรคร้ายต่างๆ เหล่านี้ให้สำเร็จ
มร.นาสซาร์ อัล มูบารัค ผู้อำนวยการอาวุโสของสำนักมกุฎราชกุมาร อะบูดาบี กล่าวว่า วันโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยนั้นสร้างแรงกระตุ้นที่สำคัญในการเปลี่ยนความตระหนักรู้ให้กลายเป็นการลงมือทำ มันไม่ได้สำคัญแค่ให้สังคมรับรู้เกี่ยวกับโรคเหล่านี้มากขึ้น แต่ยังช่วยให้ผู้บริจาคเงิน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเทศที่มีการระบาดได้ร่วมมือกันในการยุติโรคเขตร้อนต่างๆ หลายสิบปีที่ผ่านมา แม้จะมีความก้าวหน้าอย่างมากในการกำจัดโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย อย่างไรก็ตาม ประชากร 1 ใน 5 ในชุมชนที่มีความเสี่ยงมากที่สุดรอบโลกก็ยังคงได้รับผลกระทบจากโรคที่สามารถป้องกันและรักษาได้เหล่านี้อยู่ และกล่าวเพิ่มว่า เรายินดีที่ได้เห็นว่ากิจกรรมวันโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยได้เกิดเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการสร้างความตระหนักถึงโรคเหล่านี้ผ่านโครงการ UNITINg to Combat NTDs และกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมการประดับไฟ เราหวังว่าการเคลื่อนไหวนี้จะดึงความสนใจและจุดประกายความร่วมมือและความรับผิดชอบที่จำเป็นต่อไปในการจัดการโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยให้หมดสิ้นไป
โรคเขตร้อนที่ถูกละเลยเป็นกลุ่มของโรคติดต่อที่สามารถป้องกันและรักษาได้ แต่ยังคงส่งผลกระทบต่อประชากร 1,700 ล้านคนทั่วโลก รวมไปถึงเด็กๆ กว่า 1 พันล้านคนอีกด้วย ปัจจุบันมีโรคอยู่ประมาณ 20 โรค เช่น โรคพยาธิตาบอด โรคเรื้อน โรคเท้าช้าง โรคพยาธิกีเนีย โรคพิษสุนัขบ้า และโรคพยาธิตัวกลมในลำไส้ โรคเขตร้อนที่ถูกละเลยนั้นก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานที่ไม่สามารถประเมินได้ โรคเหล่านี้จะทำให้ร่างกายอ่อนแอ ความพิการติดตัว และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต โรคเขตร้อนที่ถูกละเลยนั้นจะสร้างวัฏจักรของความยากจนและสร้างความเสียหายให้กับประเทศที่กำลังพัฒนาเป็นจำนวนเงินหลายพันล้านดอลลาร์ทุกปี ซึ่งจะส่งผลกระทบมากที่สุดกับกลุ่มประชากรเปราะบางที่มีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ และมักอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล
งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงและเด็กมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนที่ห่างไกลและยากแค้นซึ่งอาจจะประสบปัญหาในการเข้าถึงการดูแลรักษาสุขภาพมากกว่าผู้ชาย โดยกิจวัตรประจำวันของพวกเขามักจะทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น การซักผ้าในแม่น้ำ และเมื่อมีคนในครอบครัวเจ็บป่วย ภาระการดูแลผู้ป่วยก็มักจะตกอยู่กับผู้หญิงหรือเด็ก ทำให้ขาดโอกาสในการเรียนหรือการทำงาน
การจัดกิจกรรมวันโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยในปีนี้จะเป็นการครบรอบ 10 ปี นับตั้งแต่คำประกาศลอนดอน ในปี 2555 เกี่ยวกับเรื่องโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย โดยมีการรวบรวมบริษัทยา ผู้บริจาค องค์กรเอกชน ในประเทศที่มีการระบาด เพื่อร่วมกันจัดการโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย นับจากวันนั้น ความสำเร็จที่สำคัญที่ผ่านมาได้แก่
- เกิดการรักษาพยาบาลที่มีมูลค่ามากกว่า 13,000 ล้านเหรียญที่ได้รับการบริจาคโดยบริษัทยาชั้นนำต่างๆ
- ผู้คนกว่า 1 พันล้านคนได้รับการดูแลรักษา (ข้อมูลตั้งแต่ปี 2558-2562 ก่อนที่จะเกิดการระบาดของไวรัสโควิด)
- กว่า 35 ประเทศได้กำจัดโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยอย่างน้อย 1 โรค โดยนับจนถึงปัจจุบันรวมแล้ว 43 ประเทศ
- ผู้คน 600 ล้านคนไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเกี่ยวกับโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย
ผลกระทบของการระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น ทำให้ระบบบริการสุขภาพพื้นฐานของประเทศต่างๆ ทั่วโลกเสียหาย ซึ่งกระทบกับกิจกรรมการต่อสู้กับโรคเขตร้อนต่างๆ ด้วย จากการสำรวจขององค์การอนามัยโลกชี้ให้เห็นว่า งานด้านการกวาดล้างโรคเขตร้อนนั้นเป็นด้านหนึ่งที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ข้อมูลในช่วงต้นปี 2564 พบว่ามีผลกับ 44% ของประเทศต่างๆ และ 19% มีการชะงักงันแบบรุนแรง การระดมงบประมาณเพื่อสร้างระบบบริการสุขภาพที่แข็งแรงเป็นสิ่งสำคัญต่อการยุติโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยและต่อการฟื้นตัวของสังคมในกรณีที่เกิดการระบาดใหม่ขึ้นอีกในอนาคต
ทั้งนี้ สำหรับในประเทศไทย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับเลือกให้เป็นผู้แทนประเทศไทยเพื่อร่วมกิจกรรมรณรงค์ "World NTD Day" ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยได้จัดสัปดาห์กิจกรรมรณรงค์สร้างความตระหนักระหว่างวันที่ 24 ถึง 28 มกราคมที่ผ่านมา ที่อาคาร ๑๐๐ ปีสมเด็จพระศรีนครินทร์ ชั้น 1 โรงพยาบาลศิริราช โดยมุ่งเน้นสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของโรคไข้เลือดออก ซึ่งเป็นโรคในเขตร้อนที่เกิดขึ้นมากที่สุดในประเทศไทย โดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็ก และบางครั้งยังมีความรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต ทั้งยังส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั่วโลกต่างทำงานหนัก
กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การจัดแสดงนิทรรศการ แพทย์ให้บริการตอบปัญหาสุขภาพแก่ประชาชนด้วยระบบ Telemedicine และฉายวิดีโอข้อมูลเกี่ยวกับองค์กร DNDI* (Drug for neglected Diseases Initiative) และ World NTD day โรคไข้เลือดออก การดูแลสุขภาพให้ห่างไกลจากโรค NTD และคลิปสัมภาษณ์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ตลอดจนแจกเอกสารแนะนำและทรายอะเบท เพื่อใช้ในการป้องกันยุง ฯลฯ ส่วนในวันที่ 30 มกราคม ยังมีการประดับไฟบนอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษาด้วยแสงสีม่วงและสีส้ม ซึ่งเป็นสีสัญลักษณ์ในการจัดงานของทุกประเทศที่เข้าร่วม พร้อมการแสดงแสงเลเซอร์ภาพ และสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ World NTD day