เปิดไส้“ไส้กรอก” สารอะไร...กินมากไป ป่วยและตายได้
กว่าจะรู้ว่า “ไส้กรอก”เป็นพิษ ก็ป่วยซะแล้ว เพราะผู้บริโภคไม่อาจรู้ได้เลยว่า ไส้กรอกบนเตาร้อนๆ ใส่เกลือไนเตรทมากไปหรือเปล่า นี่คือความรับผิดชอบของผู้ผลิตและผู้ขาย รวมถึงมาตรฐานในการตรวจสอบ
จากเหตุการณ์ มีเด็กรับประทานไส้กรอกไม่มียี่ห้อไม่มีแหล่งผลิตในหลายจังหวัด ผู้บริโภคหลายรายเกิดอาการป่วยจนถึงขั้นเกือบหมดสติ
ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก Ramathibodi Poison Center เตือนอันตราย เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 ว่า
"ให้ผู้ปกครองระมัดระวังการซื้อไส้กรอกให้กับเด็ก โดยเฉพาะไส้กรอกไม่มียี่ห้อ ไม่มีแหล่งที่มา เนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมามีเด็กป่วยด้วยภาวะ Methemoglobin (เมทฮีโมโกบิล) จำนวน 6 ราย ใน 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ 2 ราย, เพชรบุรี 1 ราย, สระบุรี 1 ราย, ตรัง 1 ราย, กาญจนบุรี 1 ราย
โดยทั้งหมดมีประวัติกินไส้กรอก ไม่มียี่ห้อและไม่มีเอกสารกำกับ เด็กมีอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะ เหนื่อย หายใจเร็ว เขียว ระดับออกซิเจนต่ำ แต่ยังไม่มีรายใดรุนแรงถึงแก่ชีวิต..."
- ไส้กรอกทำจากอะไร
กรรมวิธีการทำไส้กรอก เป็นการถนอมอาหารอย่างหนึ่ง โดยใช้เนื้อสัตว์บดละเอียดผสมกับเกลือและเครื่องเทศ บรรจุลงในไส้ ในปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้สารเคมีและความร้อน อบแห้งการแช่แข็ง และการแช่เย็น รวมถึงเลือกเนื้อสัตว์และเครื่องเทศที่หลากหลาย
ส่วนไส้ที่ใช้มีทั้งไส้ธรรมชาติเช่น ไส้แกะไส้หมูหรือหลอดลมวัว และไส้สังเคราะห์หรือไส้เทียม เช่น ไส้จากคอลลาเจน ไส้สังเคราะห์จากใยฝ้าย หรือไส้พลาสติก
วัตถุดิบที่ใช้ผลิตไส้กรอก มีทั้งเนื้อสัตว์ เกลือแกง ไขมัน เกลือไนเตรท เครื่องเทศ และเครื่องปรุงรส ซึ่งเกลือไนเตรท (KNO3, NaNO3) ทำให้ไส้กรอกเกิดสีและกลิ่นที่คงตัว และป้องกันไม่ให้ไส้กรอกเน่าเสียจากแบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจนในการหายใจ
ถ้าบริโภคสารประกอบไนเตรทมากเกินไป เมื่อเข้าสู่กระแสเลือดจะไปทำปฏิกิริยาออกซิไดซ์กับฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดทำให้เม็ดเลือดแดงนั้นหมดสภาพ ไม่สามารถทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนได้ นอกจากนี้ยังเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้ด้วย
Cr. FDA Thai
- เกลือไนเตรทในไส้กรอก
การบริโภคสารเหล่านี้มากไป อาจทำให้เกิด ภาวะ เมทฮีโมโกลบิน (Methemoglobin) คือ ฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงถูกออกซิไดซ์โดยสารออกซิแดนท์ต่างๆ ทำให้ร่างกายสูญเสียความสามารถในการขนส่งออกซิเจน
สีของเม็ดเลือดจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการขาดออกซิเจน มึนศีรษะ เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย หายใจเร็ว เขียว หากรุนแรงจะมีอาการหอบเหนื่อยมาก เลือดเป็นกรด ความดันโลหิตต่ำและเสียชีวิตได้
การผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน เติมสาร ไนเตรท-ไนไตรท์ ปริมาณมากกว่าปกติ จะทำให้ผู้บริโภคเกิดอันตราย โดยเฉพาะเด็กที่ไวต่อสารกลุ่มนี้มากกว่าผู้ใหญ่
Cr. FDA Thai
- วิธีการรักษา
คือ หยุดการได้รับสารดังกล่าว ให้ออกซิเจน และในรายที่รุนแรงอาจพิจารณาใช้ยา methylene blue (มีในระบบยาต้านพิษ) ในผู้ป่วยบางรายอาจมีเม็ดเลือดแดงแตกรุนแรง ต้องติดตามระดับเกลือแร่แล้วให้สารน้ำและเลือดทดแทน
- ไส้กรอกเป็นพิษ
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 จังหวัดตรัง พบผู้ป่วยภาวะ Methemoglobin 3 ราย ทั้งหมดมีประวัติกินไส้กรอก ไม่มียี่ห้อ ไม่มี อย. ไม่มีฉลากระบุที่มาหรือผู้ผลิต
นพ.ชัยรัตน์ ลำโป นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง กล่าวว่า ผู้ป่วยทั้ง 3 ราย อายุ 8-12 ขวบ อยู่ในพื้นที่ 3 อำเภอได้แก่ อ.สิเกา อ.วังวิเศษ และ อ.ห้วยยอด รายแรกอายุ 12 ขวบ
“ช่วงที่กินครั้งแรก แม่สังเกตเห็นว่าหลังกิน 15 นาที มีอาการปากเขียวอ่อนแรง จึงรีบนำส่งโรงพยาบาล ตอนนี้ทั้งหมดรักษาหายเป็นปกติแล้วจากข้อมูลสอบสวนเส้นทางไส้กรอกพบใน อ.สิเกา 10 แพค อ.วังวิเศษ 30 แพค อ.ห้วยยอด 40 แพค ลักษณะหีบห่อไม่มียี่ห้อไม่มีเครื่องหมาย อย. และสถานที่ผลิตที่ชัดเจน
ในห่อมีไส้กรอกหลายสีคละกัน เจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจแล้ว พบว่าแหล่งผลิตต้นทางมาจาก จ.สมุทรสาคร ส่งต่อมาร้านค้าใน อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งผู้ค้าใน จ.ตรัง ไปซื้อมาขายต่อ”
Cr. FDA Thai
- มาตรฐานแหล่งผลิตไส้กรอก
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคได้จัดงานแถลงข่าวผลปฏิบัติการจับกุมแหล่งผลิตไส้กรอกปนเปื้อน ในพื้นที่จ.ชลบุรี ยึดของกลาง 32 รายการ มูลค่ากว่า 700,000 บาท
โดยเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 เจ้าหน้าที่ได้ร่วมกับ อย.และ สสจ.ชลบุรี ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานเป้าหมายใน จ.ชลบุรี พบนางสาวรักทวี เป็นเจ้าของกิจการสถานที่ไม่ได้ขออนุญาตขึ้นทะเบียนผลิตผลิตภัณฑ์ แต่ดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เช่น ไส้กรอก ลูกชิ้น หมูยอ มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564
จากการตรวจค้น พบผลิตภัณฑ์ที่ผลิตเสร็จแล้วอยู่ในถังแช่แข็งรอจำหน่าย, วัตถุดิบหลายรายการ, ฉลากผลิตภัณฑ์หลายรายการตรงกับข้อมูลผู้ป่วยที่บริโภคแล้วเกิดอาการผิดปกติ ฉลากดังกล่าวไม่มีเลขสารบบอาหาร เป็นฉลากไม่ถูกต้อง
Cr. FDA Thai
ขั้นตอนการผลิต ไม่เข้าข่ายโรงงานตามกฏหมาย ไม่มีการควบคุมกรณีใช้วัตถุเจือปนอาหารอย่างเหมาะสม มีการใช้แรงงานคนตักสารไนไตรท์โดยกะเกณฑ์คร่าวๆ ไม่มีการชั่ง ตวง วัด ตามมาตรฐาน ทำให้ปริมาณเกินค่าความปลอดภัย
ขณะนี้ได้สั่งปิดโรงงาน อายัดผลิตภัณฑ์อาหารไว้ทั้งหมด พบว่ามีการส่งผลิตภัณฑ์อาหารเหล่านี้ไปจังหวัดสมุทรสาคร ก่อนกระจายไปทั่วประเทศ ไม่ได้มีการซัดทอดว่ามีแหล่งผลิตที่อื่นอีก
ทาง อย.ได้เก็บตัวอย่างมาตรวจวิเคราะห์ หากพบสารต้องห้ามในอาหาร จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 25 ฐาน “ผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์” ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกิน 20,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากเป็นอาหารปลอม ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี ปรับ 5000 ถึง 100,000 บาท
โรงงานแห่งนี้มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ฝ่าฝืนมาตรา 6(7) สถานที่ผลิตอาหารไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการผลิตที่ดี (GMP) โทษปรับไม่เกิน 10,000 บาทและฝ่าฝืนมาตรา 6(10) ผลิตภัณฑ์อาหารแสดงฉลากไม่ถูกต้อง โทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
Cr. FDA Thai
- เตือนผู้ลักลอบผลิต
นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ในปี 2561-2564 อย. ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ส่งตรวจวิเคราะห์ 392 ตัวอย่าง ผ่านมาตรฐาน 334 ตัวอย่าง ไม่ผ่าน 58 ตัวอย่าง คิดเป็น 14.80 % ไม่ผ่านเรื่องไนเตรท ไนไตรท์ 1.79 % ซึ่ง อย. ได้ดำเนินการตามกฎหมายกับผลิตภัณฑ์ที่ผิดมาตรฐานแล้ว
“ไนเตรทและไนไตรท์ใช้เป็นวัตถุกันเสียยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มคลอสทริเดียม โบทูลินั่ม ซึ่งสามารถสร้างสารพิษที่เป็นอันตรายต่อระบบประสาทของผู้บริโภคและอาจทำให้เสียชีวิตได้ ปริมาณการใช้วัตถุกันเสียทุกชนิดต้องเป็นไปตามที่กำหนด"
ทางด้าน พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. ฝากถึงประชาชนว่า อย่าซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ทราบที่มาของแหล่งผลิต ไม่ว่าซื้อจากร้านค้า หรือออนไลน์ เพราะอาจเกิดอันตรายได้
“ขอเตือนไปยังผู้ลักลอบผลิตหรือจำหน่ายอาหารที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน ทั้งโรงงานผลิตและตัวแทนจำหน่าย หากตรวจพบจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด หากประชาชนพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย แจ้งได้ที่สายด่วน บก.ปคบ. 1135 หรือ เพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภค ได้ตลอดเวลา”
Cr. FDA Thai
- ต้องดูฉลาก ก่อนซื้อไส้กรอก
นพ.โอภาส การย์กวินพงษ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โดยทั่วไปกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนดให้ใส่วัตถุกันเสียได้ไม่เกิน 80 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หากมีปริมาณเกินที่กำหนดจะทำให้ได้รับไนไตรท์มากเกินไป จะเป็นอันตรายและอาจเสียชีวิตได้
“การเลือกซื้อไส้กรอกต้องเลือกจากแหล่งที่เชื่อถือได้ สะอาด ปลอดภัย เก็บรักษาในอุณหภูมิเย็นตลอดการจำหน่าย สุขลักษณะของสถานที่ผลิตต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดี (GMP) มีรายละเอียดครบถ้วน ทั้งชื่อผลิตภัณฑ์ ที่ตั้งของผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตหรือวันหมดอายุ มีเครื่องหมาย อย. บนฉลากอาหาร”
Cr. FDA Thai
- เปิดรายชื่อผลิตภัณฑ์โรงงานเถื่อน
โรงงานเป้าหมายใน จ.ชลบุรี ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้าไปตรวจสอบนั้น มีผลิตภัณฑ์ไส้กรอกหลายรายการตรงกับฉลากผลิตภัณฑ์ที่ผู้ป่วยแจ้งว่าบริโภคแล้วเกิดอาการผิดปกติ โรงงานแห่งนี้ได้ผลิตอาหารที่มีฉลากต่อไปนี้
ไส้กรอกเต็งหนึ่ง, หมูยอ บ.อุบล, หมูยอแม่จันตรี, หมูยออู๋ลี่เจี้ยน, หมูยอภูวดล, พรีเมี่ยมหมูยออุบล, พรีเมี่ยมไก่ยออุบล, หมูยอ-ไก่ยอจอมยุทธ, ไก่ยอเศรษฐี, ไก่ยอ ฤทธิ์ รสเด็ด, ลูกชิ้นสวัสดี, ลูกชิ้นบุญปาก, ลูกชิ้นหมูบ้านแหลม, 888พรีเมี่ยม, ยออุบลหนังหมู
...............
ผู้บริโภคท่านใดหากพบแหล่งผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน แจ้งมาได้ที่ สายด่วน อย. โทร. 1556 อีเมล์ [email protected] หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ