"วาเลนไทน์"เจาะใจ ทำไมคนอยากโสด-มีคู่ไม่อยากมีลูก

"วาเลนไทน์"เจาะใจ ทำไมคนอยากโสด-มีคู่ไม่อยากมีลูก

วาเลนไทน์นี้ นำเสนอจำนวนการเกิดใหม่ของเด็กไทยในปี 2563 นับว่าต่ำอยู่ที่ 569,338 คนอัตราเจริญพันธุ์รวม(TFR) อยู่ที่ 1.24 และมีแนวโน้มจะลดลงไปอีก สัดส่วนประชากรวัยเด็กและวัยทำงานมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ประชากรวัยสูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

 ผลกระทบที่ตามมา คือ โครงสร้างประชากรเปลี่ยน ฐานแคบจึงมีความไม่มั่นคง ประชากรวัยสูงอายุต่อวัยแรงงานเพิ่มขึ้น ปี 2551 วัยแรงงาน 6.1 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คน ปี 2564 วัยแรงงาน 3.4 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คน และคาดปี 2583 วัยแรงงาน 1.7 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คน ทำให้จำนวนผู้เสียภาษีน้อยลง งบประมาณในการดูแลประชากรไม่เพียงพอ
การที่เด็กเกิดน้อย กรมอนามัยระบุถึงสาเหตุว่า 1.วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป คนรุ่นใหม่แต่งงานช้าลง เรียนสูงขึ้น มีค่านิยมอยู่เป็นโสด มีความหลากหลายทางเพศ 2.ความต้องการมีบุตรและจำนวนบุตรที่ต้องการเปลี่ยนไป มองเป็นภาระ 3. มาตรการที่จูงใจให้คนต้องการมีบุตรมีน้อยและมาตรการที่มีอยู่ไม่สามารถจูงใจให้คนอย่างมีบุตรได้ 4. สภาพสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและโรคอุบัติใหม่ ส่งผลให้คนชะลอการมีบุตร และ 5.คนที่อยากมีบุตรประสบปัญหาภาวะมีบุตรยากและไม่สามารถเข้าถึงบริการช่วยเหลือภาวะมีบุตรยากได้

2 เหตุผลคนไทยมีลูกน้อย

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า เหตุผลที่ปัจจุบันคนไทยมีลูกน้อยลง ส่วนหนึ่งต้องยอมรับเนื่องมาจาก 1.การเข้าถึงการศึกษาที่เพิ่มมากขึ้นในประชากรบางกลุ่ม ผู้หญิงที่รับการศึกษาและอยู่ในระบบการศึกษาจนอายุมากขึ้น ทำให้ชะลอการมีครอบครัวและชะลอการมีบุตรด้วย ขณะที่วิทยาศาสตร์การแพทย์เรื่องการคุมกำเนิดและวางแผนครอบครัวดีขึ้น ความประสงค์ของผู้หญิงที่จะเข้าสู่ความเป็นแม่ หรือตั้งใจมีบุตรถูกชะลอออกไปและลดจำนวนลง

และ2.ความคาดหวังต่อบทบาทของความเป็นพ่อแม่และต่อคุณภาพของลูก เป็นสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงในระยะหลัง โดยพ่อแม่หลายคนคาดหวัง หากจะต้องเป็นพ่อแม่คนก็ต้องมีความพร้อม จึงตั้งมาตรฐานความพร้อมไว้สูง กว่าจะถึงเวลาที่พร้อมจริง ความสามารถในการมีบุตรก็อาจถดถอยลงไป และความเครียดความจริงจัง ทำให้โอกาสต่อการเจริญพันธุ์ได้รับผลกระทบด้วย
"ความคาดหวังต่อคุณภาพของเด็ก คาดหวังรูปแบบการเลี้ยงดูที่พ่อแม่จะมีให้กับลูก ทำให้หลายคนเริ่มรู้สึกวิตกกังวลต่อบทบาทความเป็นพ่อแม่ กว่าจะพร้อมก็เลยเวลาของวัยเจริญพันธุ์ไปพอสมควรแล้ว"พญ.อัมพรกล่าว

พญ.อัมพร กล่าวด้วยว่า กลุ่มที่ลังเลใจจากความคาดหวังต่อมาตรฐานสูงในการเป็นพ่อแม่และการเลี้ยงดูเด็ก ต้องมีกลไกไม่ให้อยู่ในมาตรฐานที่สูงเกินไป มีความคาดหวังที่มากเกินไป มีความผ่อนคลายและเข้าใจธรรมชาติของชีวิตครอบครัว ที่จะมีคุณค่าในการเติมเต็มความสุขที่แท้จริง มีโครงสร้างเชิงสังคมที่จูงใจพ่อแม่มีความพร้อม มีความสุขที่จะมีลูก

กลไกทางสังคมสนับสนุนการเลี้ยงดูที่ดี

    ทั้งนี้ มีการวิเคราะห์ความกังวลใจของพ่อแม่ที่มีคุณภาพ มีทั้งการเลี้ยงดู การเป็นภาระ ดังนั้น ถ้ามีกลไกทางสังคมที่สนับสนุนการเลี้ยงดูที่ดีให้พ่อแม่ได้ เช่น คนห่วงกังวลเรื่องการทำงาน ก็มีสถานดูแลเด็กที่มีคุณภาพ ไม่ต้องแย่งกันเข้าหรือใช้เงินมาก ทุ่มเทเพื่อซื้อพื้นที่ดีๆ ให้กับลูก หรือเข้าโรงเรียนใช้เงินเยอะมาก การแข่งขันสูง ค่าระบบการศึกษาที่กระจายตัวมากขึ้นเด็กเข้าถึงมากขึ้น ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำในเชิงคุณภาพ พ่อแม่ทุกคนมั่นใจว่ามีลูกจะมีโรงเรียนดีๆ รออยู่ โดยไม่ต้องต่อสู้ดิ้นรนมากมาย ก็จะเบาใจสบายใจที่จะมีลูกมากขึ้น ยังมีโครงสร้างทางสังคมหลายเรื่องที่สามารถปรับปรุงให้พ่อแม่มีความพร้อมและมีความสุขที่จะมีลูก จะได้ไม่มีประชากรน้อยเกินไปในอนาคต
นอกจากนี้ มีกลุ่มประชาชนที่มีการตั้งครรภ์ขณะที่ยังไม่พร้อม ซึ่งปัจจุบันผู้ตั้งครรภ์มีทางเลือกมากขึ้น ทำให้โอกาสของการคลอดก็ลดลง ยังเป็นภาพที่ต้องคลี่คลายและแก้ไข คือ กลุ่มคนที่มีความไม่พร้อมตั้งครรภ์ ควรดูแลให้มีการควบคุมวางแผนครอบครัวเป็นไปอย่างดี มิเช่นนั้น ทารกที่เกิดบนความไม่พร้อม แม้มีปริมาณอาจด้อยคุณภาพลงไป

ต้นเหตุคน"นิยมโสด"

พญ.อัมพร กล่าวด้วยว่า ส่วนคนอยากเป็นโสด สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ กระแสสังคมทั่วโลกมีแนวโน้มของการติดอยู่ในความเป็นวัตถุนิยม คำนึงถึงความสุขทางวัตถุมากกว่าทางจิตใจเนื่องมาจากความผูกพัน และบังเอิญว่าความสุขจากวัตถุฉาบฉวยก็เห็นง่าย จับต้องง่ายกว่าความสุขทางใจ ซึ่งต้องอาศัยวุฒิภาวะมากกว่า เป็นสิ่งที่บั่นทอนการมีโอกาสสร้างครอบครัวของคน

กระแสสังคมทั่วโลกค่อนข้างเน้นความเป็นปัจเจกบุคคล จากสมัยโบราณที่ต้องพึ่งพิงกันและกัน อยู่เป็นชุมชน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันอยู่เป็นครอบครัวต้องผูกพันกัน เพราะต้องทำหน้าที่เสริมให้กันและหัน แต่ปัจจุบันถูกทดแทนด้วยตัวกลางแลกเปลี่ยน คือ เงิน ถ้าสามารถสร้างรายได้เป็นเงินจึงมีโอกาสตอบโจทย์ความจำเป็นอื่นๆ ทางกายภาพของชีวิตได้ง่าย เช่น ใช้เงินซื้อข้าว อาจทำให้เข้าใจผิดว่าเงินเป็นสิ่งเดียวที่สำคัญ และความเข้าใจผิดนี้ คนจึงมีความเป็นปัจเจกมากขึ้น

สิ่งที่จะมาทำให้มีความรักความผูกพันความรู้สึกขอบคุณความรู้สึกชื่นชมยินดี ในสัมพันธภาพใดๆ จึงหายไปเรื่อยๆ จนคนเห็นคุณค่าของครอบครัวน้อยลงเรื่อยๆ กลายเป็นอยู่คนเดียวมีความสุขเบ็ดเสร็จในตัว ถ้ามองอย่างลึกซึ้ง เข้าใจความละเอียดอ่อนตรงนี้ จะรู้ว่ามุมคิดนั้นเป็นมุมที่ฉาบฉวยระดับหนึ่งเท่านั้นเอง
"ความสุขที่แท้จริงของคนเรายังขึ้นอยู่กับความรักความผูกพันกับคนรอบข้าง มีเรื่องของการมีสมาชิกครอบครัวที่เป็นสายเลือดเดียวกัน คนที่ไปไม่ถึงจุดนั้นก็จะไม่รู้ว่านั่นคือความสุข จะติดอยู่กับความสุขฉาบฉวยที่ตัวเองยึดถือ จึงเป็นอุปสรรคต่อการเกิดครอบครัวและการมีเด็กรุ่นใหม่"พญ.อัมพรกล่าว

ใช้กลไกสุขภาพจิตช่วยเหลือ

พญ.อัมพร กล่าวด้วยว่า ในแง่มุมสุขภาพจิตมีบทบาทในหลายระดับ ทั้งระดับบุคคลและครอบครัว ถ้าทำให้ประชาชนเข้าใจคุณค่าของครอบครัวที่สมบูรณ์ คือ การมีลูกปริมาณที่เหมาะสมและคุณภาพที่ดี ถ้างานสุขภาพจิตสามารถให้ข้อมูลให้ข้อแนะนำที่ดีตรงนี้ได้ก็จะช่วยในระดับบุคคลได้ แต่ระดับมหภาคต้องยอมรับความจริงว่า การคลายความเครียดของสังคม การช่วยให้ประชาชนอยู่บนพื้นฐานความคาดหวังที่พอเหมาะพอควรจนไม่กลายเป็นความเครียดต่อการมีชีวิตครอบครัว หรือมีความเครียดต่อการเลี้ยงดูเด็ก ก็จะเป็นอีกส่วนที่กรมสุขภาพจิตจะทำหน้าที่
ช่วงที่ผ่านมาสังคมไทยและโลกอาจคุ้นชินเรื่องการวางแผนครอบครัว และคาดหวังในคุณภาพ อยากให้พ่อแม่ทุกคนมีลูกที่มีคุณภาพ แต่พอรณรงค์การเพิ่มคุณภาพลูกมากๆ กระแสตรงนี้กลายเป็นความกดดันได้ อาจต้องมองย้อนกลับ ให้เกิดสมดุลว่า ความคาดหวังที่พอเหมาะพอควร บนความรู้สึกผ่อนคลายมีความสุขนั้นต้องเป็นอย่างไร ต้องช่วยกันทำ

ทั้งนี้ ข้อมูลทางวิชาการ พ่อแม่ที่เหมาะสมในเชิงอายุ คือ วัยผู้ใหญ่ตอนต้น เชิงการศึกษา ก็ควรจะเป็นจบการศึกษาปริญญาตรี หรืออย่างน้อย ม.6 เป็นช่วงอายุและการศึกษาที่มีคุณภาพต่อการเป็นพ่อแม่ ทารกที่เกิดจากครอบครัวลักษณะนี้ จะเป็นทารกที่มีคุณภาพ ส่วนสถานะครอบครัวอยากให้ปูพื้นฐานว่าพ่อแม่มีความรักใคร่ อยู่ด้วยกันในช่วงการเลี้ยงดูเด็ก ตั้งแต่วัยเด็กถึงวัยรุ่น เด็กที่มาจากความรัก ความพร้อม พ่อแม่อยู่กันครบถ้วนจะมีคุณภาพสูงกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญหรือมีการแยกทางกัน โดยเฉพาะแยกทางตั้งแต่อายุน้อย เด็กจะยิ่งเจอปัญหาในเชิงคุณภาพมากขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้ เชิงเศรษฐกิจ ครอบครัวที่พ่อแม่ไม่มีหนี้สินเลี้ยงดูลูกได้ ทำให้ได้คุณภาพของเด็กที่ดีกว่า
"เกณฑ์ที่เหมาะสมในการมีครอบครัวและมีลูกสังคมไทยไม่ได้ตกผลึกออกมาเป็นแบบบัญญัติชัดๆ อาจะต้องมีแนวทางคร่าวๆ ให้พ่อแม่ส่วนหนึ่งประเมินตนเองได้ มิเช่นนั้น จะเอาชีวิตไปผูกกับความหวังที่สูง มาตรฐานที่สูงจนกลายเป็นความกดดัน"พญ.อัมพรกล่าว

ทางออกประเทศไทยในยุคเด็กไทยเกิดน้อย

กรมอนามัย กำหนดทางออกประเทศไทยในยุคเด็กไทยเกิดน้อย อาทิ การสนับสนุนให้รัฐบาลมีการประกาศนโยบายประชากร ,รณรงค์ให้ครอบครัวที่มีความพร้อมมีบุตรครอบครัวละไม่น้อยกว่า 2 คน โดยการมีบุตรนั้นจะต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ มีการวางแผนและมีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ รวมถึง มีการช่วยเหลือผู้ที่ประสบภาวะมีบุตรยาก ให้เข้าถึงบริการได้เร็วขึ้น

ภายใต้การขับเคลื่อนมาตรการหลัก 4 เรื่อง คือ 1. เสริมสร้างทัศนคติและค่านิยมแก่คนรุ่นใหม่ ในการสร้างครอบครัวและมีบุตรในวัยอันควร 2 .ผลักดันให้รัฐบาลมีมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัวที่มีเด็กอายุ 0-5 ปี 3. ส่งเสริมการจัดตั้งสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยอายุต่ำกว่า 2 ปี เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระในการเลี้ยงดูเด็กอ่อนก่อนวัยเรียน ในเวลากลางวันที่พ่อแม่จะต้องออกไปทำงานประกอบอาชีพ และ 4.ช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาภาวะมีบุตรยากให้เข้าถึงการรักษาในอายุที่น้อยลงเพื่อเพิ่มโอกาสในการมีลูกมากขึ้น