เช็คสิทธิรายคน ติดโควิด19 รักษาที่ไหน เมื่ออาการไม่ใช่ฉุกเฉินวิกฤติUCEP
สธ.ระบุปลดโควิด19จากฉุกเฉินวิกฤติรักษาได้ทุกที่ เหตุคนติดเชื้อ 80-90 % ไม่มีอาการ-อาการน้อย ย้ำเข้านิยาม 6 อาการยังใช้สิทธิฉุกเฉินได้ คนป่วยทุกรายยังได้รับการรักษาฟรีตามสิทธิเหมือนเดิม
เมื่อวันที่ 14 ก.พ.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการแถลงสถานการณ์โควิด19 ประเด็น “การรักษาโรคโควิด 19 ตามสิทธิการรักษา กรณีการจะยกเลิกผู้ติดโควิด19ทุกรายเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ” นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ตามปกติ UCEP คือ ป่วยฉุกเฉินวิกฤติสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ไหนก็ได้ที่ใกล้ที่สุด โดยผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเองใน 72 ชั่วโมง ซึ่งมีเจตนารมณ์เพื่อดูแลผู้ป่วยภาวะฉุกเฉินวิกฤติจริงๆ เช่น หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ช็อก หายใจเร็ว หอบเหนื่อยมาก เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน อ่อนแรงแขนขา เลือดออกในสมอง เนื่องจากก่อนหน้าที่จะมีUCEP รพ.เอกชน อาจมีการเรียกเก็บค่ารักษาล่วงหน้าหรือวางมัดจำจากผู้ป่วย แต่เมื่อมี UCEP ถ้าเข้าอาการวิกฤติฉุกเฉินสามารถรักษาได้ใน 72 ชั่วโมงเพื่อให้พ้นภาวะวิกฤติ
ส่วนกรณี โควิด19 เกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งทั่วโลกระบาด มีความรู้ความเข้าใจโรคทั้งการรักษาและการควบคุมโรคยังน้อย ประกอบกับผู้ป่วยจำนวนเพิ่มมากขึ้น จึงเอา UCEP เข้ามาใช้ในการรักษาพยาบาลควบคู่การควบคุมโรค คือ นำคนไข้หรือผู้ติดเชื้อทุกรายเข้าสู่รพ.ให้มากที่สุด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค และได้ขอให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยรับผู้ป่วยตรงนี้ จึงใช้กลไกของUCEP โดยประกาศให้ผู้ป่วยติดโควิด19 เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ ทำให้สามารถเข้ารับการรักษาได้ในทุกรพ.แต่เมื่อผ่านมา 2 ปี มีความรู้เกี่ยวกับโควิด19มากขึ้น ปัจจุบันไม่ได้ต้องเข้ารักษาในรพ.ทุกคน โดย90% ของผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรืออาการน้อยมาก ไม่จำเป็นต้องเข้ามนอนรพ.ก็ได้ ก่อนหน้านี้เอาเข้ามาหมด จนคนไข้ที่ควรนอนรพ.ไม่มีเตียงนอน มีการเรียนรู้ จึงมีเรื่องของ HI /CI คนไข้สามารถดูแลตนเองได้ที่บ้าน 80-90%
เมื่อมีการยกเลิกจากที่กำหนดให้ผู้ติดโควิด19ทุกรายเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติที่เข้ารักษาได้ในทุกรพ. เป็นการเข้ารักษาได้ในรพ.ตามสิทธินั้น ทุกคนที่ติดเชื้อยังได้รับการรักษาฟรีตามสิทธิรักษาพยาบาลของแต่ละคน และหากเข้าเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤติตามที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.)กำหนด คือ 1.หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ2.หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรงหายใจติดขัดมีเสียงดัง3.ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น4.เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง5.แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกพูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วนหรือชักต่อเนื่องไม่หยุด และ6.อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิต
หากพบอาการที่เข้าข่ายก็ยังเข้ารักษาในทุกรพ.ได้ฟรีตามสิทธิUCEP ทั้งหมดก็เข้าสู่ตามระบบปกติ ทั้งหมดเพื่อสำรองเตียงในรพ.ไว้สำหรับผู้ป่วยวิกฤติที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลจริงๆ หากยังทำเหมือนเดิมทุกคนเข้าระบบรพ.ทั้งหมด โอกาสทำให้คนที่ควรได้รับการดูแลใกล้ชิดกลับไม่มีเตียง
นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีเตียงที่จะรองรับประชาชนที่เป็นผู้ป่วยวิกฤติ 3 หมื่นกว่าเตียง เตียงสีเขียวปีที่ผ่านมาทำไว้รองรับโควิด19อาการน้อย ไม่รุนแรง ไม่มีอาการกว่า 1.3 แสนเตียง สามารถที่จะเปลี่ยนขยายออกมาดูแลผู้ป่วยอาการรุนแรงเพิ่มเติมอีก หากจะเอาผู้ป่วยอาการเล็กน้อย ไม่มีอาการเข้าไปนอนใน 1.3 แสนเตียง ถ้าผู้ป่วยมากขึ้น จะกินเตียงคนไข้อื่นที่ไม่ใช่โควิด19ด้วย เช่น เบาหวาน ความดัน ที่มีอาการแทรกซ้อน จะไม่สามารถเข้ามานอนใน รพ.ใกล้ชิดแพทย์มากกว่านี้ เพราะถ้ารับคนไข้โควิด 1 คนเข้ารักษา หากหวอดนั้นมี 20 เตียง จะไม่สามารถรับคนไข้โรคอื่นเข้าอยู่ได้
“ความรุนแรงโอมิครอนน้อยกว่าเดลตาไม่น้อยกว่า 7 เท่า กรณีนอนรพ.ใส่เครื่องช่วยหายใจน้อยกว่าปีที่แล้ว 7 เท่า เสียชีวิตจากโควิดในปีนี้รอบนี้น้อยกว่าปีที่แล้วในช่วงเวลาที่ติดเชื้อเท่ากัน 10 เท่าตัว สิ่งเหล่านี้ข้อมูลชัดเจนที่จะดำเนินการรักษาโควิด19 ขอประชาชนทุกคนฉีดวัคซีนให้ครบ ถ้ายังไม่ได้บูสเตอร์หากรับเข็ม 2 มาเกิน 3 เดือนแล้วก็ไปฉีด”นพ.ธงชัยกล่าว
ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กล่าวว่า คนไทยทุกคนมีสิทธิรักษาพยาบาลฟรีประจำตัว คือ สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง ,สวัสดิการข้าราชการ และประกันสังคม แต่เมื่อโควิดเกิด 2 ปีที่แล้ว ช่วงแรกโรคไม่รู้จักนัก ประชาชนค่อนข้างกังวล และหารพ.ต่างๆ ที่ใกล้ตัวที่สุด เมื่อปี 2563 สบส.นำเรื่องเสนอคณะกรรมการสถานยาบาลเปิดกลไกUCEP โควิด19 ติดเชื้อแล้วไปรักษาที่ไหนก็ได้ ซึ่งเกิดประโยชน์มากร่วมกันดูแลคนไข้ทั้งภาครัฐ เอกชน แต่ปัจจุบันโอมิครอนความรุนแรงน้อย และพบเรื่องของประชาชนนิยมรักษารพ.บางแห่งมาก เช่น รพ.ใหญ่ รพ.มหาวิทยาลัย ทำให้เกิดประเด็น รพ.เหล่านั้นไม่สามารถรักษาผู้ป่วยโรคอื่นได้ ก็ต้องชะลอรักษาผู้ป่วยโรคนั้นไป บวกกับปัจจุบันประชาชนเริ่มเข้าใจวิธีป้องกันควบคุมโรค อนุกรรมการการรักษาพื้นที่ กทม.จึงเห็นตรงกันว่าน่าจะปรับโควิด 19 ไปรักษาตามสิทธิการรักษาระบบปกติ
กรณีที่โรคโควิด19จะเข้าสู่รับบการรักษาตามสิทธิปกติ ได้มีการประชุมเตรียมความพร้อมของหน่วยงานหลักๆที่ดูแล 4 กองทุน คือ กรมบัญชีกลางดูแลสิทธิสวัสดิการข้าราชการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ดูแลสิทธิบัตรทอง สำนักงานประกันสังคมดูแลระบบประกะนสังคม และกองเศรษฐกิจสุขภาพและประกันสุขภาพดูแลประกันสุขภาพต่างด้าว เพื่อหารือแนวทางการรักษา สรุป คือ
กรมบัญชีกลางดูแลสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ผู้ที่อยู่ในสิทธินี้สามารถเข้ารับการรักษาในรพ.รัฐรักษาได้ทั้งประเทศ
สปสช. ดูแลสิทธิบัตรทอง สามารถเข้ารับการรักษาทุกสถานพยาบาลที่อยู่ในเครือข่ายบัตรทอง ตามนโยบายรักษาทุกที่ เช่น คนที่มีสิทธิบัตรทองอยู่จังหวัดขอนแก่น แต่มาทำงานพื้นที่กทม.สามารถไปรักษารพ.เครือข่ายบัตรทองในกทม.ได้ ไม่ต้องย้อนกลับไปรักษาที่ขอนแก่น
สปส.ดูแลสิทธิประกันสังคม จะมีการนำเข้าเสนอที่ประชุมคณะกรรมการการแพทย์ 15 ก.พ.นี้ หลักการอาจคล้ายกัน คือ รักษาในรพ.เครือข่ายประกันสังคม ที่มีทั้งรพ.รัฐและเอกชน
กองเศรษฐกิจสุขภาพและประกันสุขภาพดูแลประกันสุขภาพต่างด้าว รักษารพ.ตามสิทธิที่ขึ้นทะเบียนไว้ ส่วนที่ไร้สิทธิ สถานะ เตรียมรพ.สังกัด สธ.และกทม.รัฐทุกแห่งไว้
นพ.ธเรศ กล่าวอีกว่า กรณีการรักษาระบบHI ปัจจุบันผู้ป่วยจะติดต่อ รพ.เพื่อตรวจ รอผลที่บ้าน เมื่อผลบวกแล้ว สถานพยาบาลแจ้งผู้ป่วยเพื่อที่จะติดต่อเข้าสายด่วน 1330 เพื่อเข้าระบบ HI แต่ต่อไปหากเป็นผู้ป่วยที่มีสิทธิรักษาในสิทธิไหน ก็ติดต่อ HI ของระบบนั้น ทุกระบบจะทำ HI ของตัวเอง โดยสิทธิบัตรทอง โทร1330 ประกันสังคมโทรี1506 สวัสดิการข้าราชการโทร 02-270-6400 และประกันสุขภาพต่างด้าว โทร 02-590-1578
เมื่อถามว่าจะเริ่ม 1 มี.ค.2565 หรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า กรอบเวลาจะเริ่มเมื่อไหร่ สธ.อยู๋ระหว่างพิจารณา