เช็ค อาการโควิด19 รักษาฟรีทุกที่ แม้ยกเลิกจากป่วยฉุกเฉินUCEP
หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)มีนโยบายจะปลดผู้ติดโควิด19 ออกจากการเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตรักษาฟรีทุกที่หรือสิทธิUCEP ทำให้มีการเข้าใจผิดว่า "ยกเลิกรักษาฟรีโควิด" หรือ "ถ้าติดโควิดแล้วป่วยฉุกเฉินไม่สามารถเข้ารักษาฟรีได้ทุกที่"
ศบค.ปรับลดค่าตรวจโควิด19
เมื่อวันที่ 11 ก.พ.2565 ศบค.เห็นชอบตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เสนอในการปรับค่าจ่ายชดเชยการตรวจโควิด19 โดยตั้งแต่ 1 มี.ค.2565 เป็นต้นไป มีการประมาณการตรวจคัดกรอง
มีการใช้ATK โดยประชาชนเอง 56,000 ราย/วัน ราคาลดจาก 80 เป็น 55 บาท ATK โดยหน่วยบริการ50,000 ราย/วัน ราคาจาก300 เป็น ไม่เกิน 250 บาท
ตรวจวิธี RT-PCR โดยหน่วยบริการ 23,000 ราย/วัน ราคาจาก 1,200 เป็น 900 บาท รวมต่อวัน 130,000 ราย/วัน
นิยามสิทธิUCEP
ที่ผ่านมาตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้ผู้ป่วยโรคโควิด19 เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต สามารถเข้ารับการรักษาได้ในสถานพยาบาลทุกแห่ง สิทธิ UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients) คือ สิทธิการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นรพ.ตามสิทธิที่ตัวเองมีอยู่ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย จนพ้นวิกฤตและสามารถคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย แต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง
ไม่ยกเลิกติดโควิด19รักษาฟรี
คนไทยทุกคนมีสิทธิประกันสุขภาพภาครัฐไม่สิทธิใดก็สิทธิหนึ่ง คือ สวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ซึ่งสามารถเข้ารับการรักษาเมื่อเจ็บป่วยได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ตามสิทธินั้นๆ
ฉะนั้น หากโควิด19 ถูกยกเลิกจากสิทธิUCEP จึงเป็นการยกเลิกกรณีที่ติดโควิด19แล้วไม่มีอาการ หรืออาการไม่รุนแรง ออกจากการเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่สามารถเข้ารับการรักษาได้ในรพ.ทุกแห่ง ไม่เฉพาะแต่รพ.ตามสิทธิที่มีอยู่เท่านั้น
แต่หากติดโควิด19 แล้วแพทย์วินิจฉัยให้เข้ารับการรักษาในรพ.ก็ยังสามารถได้รับการรักษาฟรีตามสิทธิประกันสุขภาพภาครัฐของแต่ละบุคคลเช่นเดิม เหมือนกับโรคอื่นๆ
หรือหากมีอาการเข้าตามนิยามเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตก็ยังสามารถเข้ารับการรักษาฟรีตามสิทธิUCEPได้
"การยกเลิกโควิด19จากสิทธิUCEP จึงไม่ใช่การยกเลิกรักษาฟรีผู้ที่ติดโควิด19"
อาการโควิด19รักษาฟรีทุกที่
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ฉุกเฉินวิกฤตจะมีอาการตามเกณฑ์ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กำหนด ซึ่งผู้ที่ติดโควิดบางครั้งไม่มีอาการ หากโควิดไม่เป็นฉุกเฉินวิกฤตแล้ว จะดูที่อาการและความฉุกเฉินของผู้ป่วยเป็นหลัก เช่น ถ้าหากปอดบวม มีไข้สูง เหนื่อยหอบ หายใจเร็ว ความดันต่ำถือว่าเป็นฉุกเฉิน หากไม่มีอาการอะไร ไม่ได้เป็นฉุกเฉินก็เข้าสู่ระบบการรักษาตามปกติได้ ยืนยันว่าระบบการรักษายังมีสำหรับให้ผู้ป่วยทุกคนที่ติดโควิดเหมือนเดิม และหากมีอาการฉุกเฉินจากโควิดยังสามารถเข้ารับบริการยังหน่วยบริการนอกระบบได้
"ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีระบบดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินและไม่ฉุกเฉิน โรคทุกโรคให้บริการรักษาอยู่แล้ว ไม่ว่าเป็นโควิดหรือไม่เป็นโควิด ดูจากอาการผู้ป่วยเป็นหลัก หากอยู่ภาวการณ์ฉุกเฉินวิกฤต ไปรับบริการที่ใดก็ได้ใกล้บ้านที่สุด ขอให้ถือหลักนี้ไว้" นพ.จเด็จกล่าว
6 อาการที่เข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤต
นอกจาก อาการเฉพาะของโรคโควิด19ที่เข้าเกณฑ์วิกฤตฉุกเฉินแล้วยังมีอีก 6 อาการ ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.)กำหนดไว้เดิมอยู่แล้ว ได้แก่
1.หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ
2.หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรงหายใจติดขัดมีเสียงดัง
3.ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น
4.เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง
5.แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกพูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วนหรือชักต่อเนื่องไม่หยุด
6.อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิต หากพบอาการที่เข้าข่าย
ขั้นตอนการใช้สิทธิ UCEP
1.ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเข้าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
2.โรงพยาบาลประเมินอาการและคัดแยกระดับความฉุกเฉิน
3.ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิ ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูล
4.กรณีเข้าเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤต จะได้รับความคุ้มครองตามสิทธิ UCEP ทันทีแต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง
5.กรณีไม่เข้าเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤตให้รีบประสานโรงพยาบาลตามสิทธิหากประสงค์รักษาต่อต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง หมายเหตุ : Universal Coverage for Emergency Patients (UCEP) คือ สิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐ เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต