“รักษาฟรี” ตามสิทธิ โควิดในภาวะ “ปกติ”
กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะปลดผู้ติดโควิด 19 ออกจากการเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตรักษาฟรีทุกที่ หรือ สิทธิ UCEP หมายความว่า “การถอดโควิด-19 จากสิทธิ UCEP ไม่ใช่การยกเลิกรักษาฟรีผู้ที่ติดโควิด-19” แต่เพราะทุกคนที่ติดเชื้อยังได้รับการรักษาฟรีตามสิทธิรักษาพยาบาลของแต่ละคน
เร็วนี้ๆ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะปลดผู้ติดโควิด 19 ออกจากการเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตรักษาฟรีทุกที่ หรือ สิทธิ UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients) สิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐ เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉิน ทำให้มีการเข้าใจว่า เป็นการ “ยกเลิกรักษาฟรีโควิด” หรือ “ถ้าติดโควิดแล้วป่วยฉุกเฉินไม่สามารถเข้ารักษาฟรีได้ทุกที่” ซึ่งสิทธิ UCEP ตาม 6 อาการ ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กำหนดไว้สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นรพ.ตามสิทธิที่มีอยู่ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย จนพ้นวิกฤติและสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย แต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง
สำหรับเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤติตามที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กำหนดไว้ประกอบด้วย 1.หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ 2.หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัด มีเสียงดัง 3.ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น 4.เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง 5.แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกพูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด และ 6.อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิตอาการที่เข้าข่ายยังเข้ารักษาในทุกรพ.ได้ฟรีตามสิทธิ UCEP
ซึ่งเมื่อ 2 ปีที่แล้ว โรคโควิด-19 ระบาดทั่วโลก ขณะที่ความรู้ความเข้าใจโรคทั้งการรักษาและการควบคุมโรคยังน้อย ผู้ป่วยจำนวนเพิ่มมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุข จึงใช้กลไกของ UCEP ประกาศให้ผู้ป่วยติดโควิด-19 เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติทำให้สามารถเข้ารับการรักษาได้ในทุกรพ. เพื่อนำคนไข้หรือผู้ติดเชื้อทุกรายเข้าสู่รพ.ให้มากที่สุด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค และได้ขอให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยรับผู้ป่วยด้วย
ทว่าปัจจุบันผู้ป่วยไม่ได้ต้องเข้ารักษาในรพ.ทุกคน โดย 90% ของผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรืออาการน้อยมาก ไม่จำเป็นต้องเข้ารักษาในรพ. คนไข้สามารถดูแลตนเองได้ที่บ้าน 80-90% กระทรวงสาธารณสุขจึงมีแนวคิดจะยกเลิกผู้ป่วยที่ติดโควิด-19 แล้วไม่มีอาการ หรืออาการไม่รุนแรง ออกจากการเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติที่เข้ารักษาได้ในทุกรพ. กลับไปเป็นการเข้ารักษาในรพ.ตามสิทธิที่แต่ละคนมี
ซึ่งความจริงแล้วคนไทยทุกคนมีสิทธิรักษาฟรีประจำตัว ไม่ว่าจะเป็นสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทอง, สิทธิสวัสดิการข้าราชการและสิทธิประกันสังคม หมายความว่า “การถอดโควิด-19 จากสิทธิ UCEP ไม่ใช่การยกเลิกรักษาฟรีผู้ที่ติดโควิด-19” แต่อย่างใด เพราะทุกคนที่ติดเชื้อยังได้รับการรักษาฟรีตามสิทธิรักษาพยาบาลของแต่ละคน และเป็นไปตามกลไกของโรคโควิดในภาวะปกติเช่นเดียวกับโรคอื่น ส่วนกรณีผู้ติดโควิด-19 เข้ารักษาHI หรือฮอสปิเทล ถือเป็นผู้ป่วยในตามระบบที่กระทรวงสาธารณสุขออกแบบไว้มีสิทธิที่ได้รับการชดเชยหรือการเยียวยาตามกรมธรรม์ที่ซื้อไว้ เพราะ ถือเป็นสถานพยาบาลชั่วคราวตาม ตามพ.ร.บ.สถานพยาบาลพ.ศ.2541 โดยจะทำหนังสือยืนยันไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ต่อไป