เป็น "หมอ" ก็ป่วยได้ 5 ปี แพทย์ไทย เสียชีวิตเกือบ 300 คน
"รพ.เมดพาร์ค" เปิด โครงการ อาสาดูแลหัวใจหมอ ให้ "แพทย์" ไทยสามารถเข้ารับการตรวจวินิจฉัย คัดกรอง เพื่อค้นหาปัญหาของหัวใจ ศูนย์หัวใจ (Cardiology Center) รพ.เมดพาร์ค โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ.- 12 ส.ค. 65 ลดโอกาสแพทย์เสียชีวิตจาก "โรคหัวใจ"
แพทยสภา พบว่า แพทย์ ที่เสียชีวิตด้วยโรคต่างๆในช่วง 5 ปี (2560-2564) มีจำนวน 297 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิตด้วย โรคหัวใจ 10% ไม่ระบุสาเหตุโรคชัดเจน 60% เสียชีวิตโดยมีอายุน้อยกว่าอายุขัยเฉลี่ยถึง 118 คนคิดเป็น 40% ของแพทย์ผู้เสียชีวิตทั้งหมด จากอายุขัยเฉลี่ยของประชากรไทยเพศชาย 73 ปี และเพศหญิง 77 ปี โดยแพทย์ที่เสียชีวิตอายุน้อยที่สุดเพียง 31 ปี
สำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2563 พบว่า อัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรของไทย 1 ต่อประชากร 1,794 คน ช่วง 2 ปีมีสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มีผู้ป่วยจำนวนมาก ส่งผลให้แพทย์เกิดความเครียด และสุขภาพไม่ดี แต่ไม่มีโอกาสในการตรวจวินิจฉัย โครงการ “อาสาดูแลหัวใจหมอ”(Save Dovtors’ Heart) จึงเกิดขึ้น ภายใต้ แคมเปญ Save Doctors, Save People, Save Thailand
โดยโรงพยาบาลเมดพาร์ค ร่วมกับพันธมิตร เปิดโอกาสให้แพทย์ไทยอายุ 35 – 70 ปี ในทุกสาขาทั่วประเทศ สามารถเข้ารับการตรวจวินิจฉัย คัดกรอง เพื่อค้นหาปัญหาของหัวใจ เช่น โรค หลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวผิดปกติ และให้การรักษาหากตรวจพบ ที่ศูนย์หัวใจ (Cardiology Center) โรงพยาบาลเมดพาร์ค โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. 2565 ถึง 12 ส.ค 2565 คาดว่าจะมีแพทย์เข้าร่วมโครงการราว 1,000 คน
นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช กรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวในงานแถลงข่าวเปิดตัว โครงการ “อาสาดูแลหัวใจหมอ” (Save Dovtors’ Heart)วานนี้ (14 ก.พ.) ว่า ประเทศไทยมีจำนวนแพทย์ต่อประชากรต่ำกว่าประเทศอื่น แพทย์ที่ยังปฏิบัติงาน 40,000 คน ต้องตรวจผู้ป่วยนอก 10,000 คนต่อปี และดูแลผู้ป่วยในอีก 250 คนต่อปี หากแพทย์ไม่อยู่ 1 คน หมายถึงสัดส่วนผู้ป่วยจะต้องกระจายให้แก่แพทย์ผู้อื่น
ซึ่งประเทศไทยแพทย์ 5 คนต่อหมื่นประชากร ขณะที่ประเทศมาเลเซีย มีแพทย์ 12 คนต่อหมื่นประชากร สหรัฐอเมริกา สัดส่วนแพทย์ 40 ต่อหมื่นประชากร หรือ 1 คนต่อผู้ป่วยราว 200 คน สิงคโปร์ราว 20 ต่อหมื่นประชากร เมื่อเกิดวิกฤติหรือภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เช่น ช่วงโควิด-19 ผู้ป่วยหนักในไอซียูและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น แพทย์มีภาระงานมาก มีเวลาใส่ใจตัวเองน้อย ไม่ได้ดูแลและตรวจสุขภาพ โดยเฉพาะหัวใจ ทำให้เมื่อมีภาวะหัวใจล้มเหลวขึ้นมาแล้วไม่สามารถช่วยชีวิตได้ทัน แม้ว่าจะเกิดเหตุภายในโรงพยาบาลก็ตาม ทำให้พบแพทย์ที่อายุไม่มากเสียชีวิต การสูญเสียเช่นนี้ถือเป็นการสูญเสียที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง
“อยากให้โครงการฯ นี้จุดประกายว่าอาชีพแพทย์ มีความสำคัญ เป็นทรัพยากรของชาติที่สังคมต้องดูแลเขาด้วย "รพ.เมดพาร์ค" เป็นเพียงกลไกเล็กๆ เพื่อจุดประกายให้เห็นว่า แพทย์มีความสำคัญให้แพทย์ทั้งประเทศมีความแข็งแรง มีหัวใจที่ดีเพื่อให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง” นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าว
ศาสตราจารย์นายแพทย์สิน อนุราษฎร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวว่า โรงพยาบาลเมดพาร์ค ได้ริเริ่มแคมเปญ Save Doctors, Save People, Save Thailand ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยเร่งทำการฉีดวัคซีนโควิดเพื่อรักษาชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนให้ได้เร็ว และมากที่สุด และในปีนี้ได้เปิดตัวโครงการ ‘อาสาดูแลหัวใจหมอ’ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกชีวิตของแพทย์ที่เราช่วยเหลือจะสามารถช่วยชีวิตประชาชนได้อีกหลายหมื่นคน
ขณะที่ หนึ่งในพันธมิตรของโครงการ อาสาดูแลหัวใจหมอ "ฉาย บุนนาค" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เมื่อได้ทราบโครงการ ในฐานะสื่อในเครือเนชั่น มองว่าโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ดี ได้ช่วยเหลือสังคมโดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ โครงการ อาสาดูแลหัวใจหมอ จะเป็นโครงการที่เข้ามาช่วยเติมเต็มบุคลากรทางการแพทย์ ให้สามารถดูแลสุขภาพตัวเองได้อย่างเต็มที่ โดยที่แพทย์สามารถดูแลพี่น้องประชาชนให้มีชีวิตยืนยาวได้ต่อไป
สำหรับแพทย์ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ “อาสาดูแลหัวใจหมอ” ดูรายละเอียดและลงทะเบียนได้ที่ คลิก สอบถามแผนกศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลเมดพาร์ค 02-090-3104 เวลาทำการ 08.00 - 20.00 น.
- ปรับพฤติกรรมป้องกัน หลอดเลือดหัวใจตีบ
นพ.ประดิษฐ์ชัย ชัยเสรี ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านผ่าตัดหัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลเมดพาร์ค เปิดเผยว่า ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือภาวะหัวใจวายเกิดจากเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจมีการตีบตัน มีสาเหตุอยู่ที่การเสื่อมของเส้นเลือดที่ปกติจะมีการเสื่อมถอยตามวัย หากอาการเล็กน้อยอาจจะเจ็บแน่นหน้าอก แต่หากเส้นเลือดตีบตันอาจทำให้หัวใจวาย
“ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้” เช่น พฤติกรรมการใช้ชีวิตรวมถึงความเครียด การทานอาหารที่มีไขมันไปเกาะตามผนังเส้นเลือด ไม่ออกกำลังกาย สูบบุหรี่ทำให้เส้นเลือดแข็ง และโรคประจำตัว ความดัน เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และ “ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้” เช่น ผู้ชายมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้หญิง ผู้ที่อายุมากมีโอกาสเสี่ยงมากกว่า และกรรมพันธุ์ที่อาจถ่ายทอดทางครอบครัว ซึ่งทำให้เกิดภาวะนี้ได้
- อายุน้อยสามารถเป็นได้
นพ.ชาติ วานิชสวัสดิ์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านการสวนหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวเสริมว่า คนที่มีกรรมพันธุ์เส้นเลือดอุดตันเร็วกว่าปกติ และ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาเป็นโรคที่เป็นมาแต่กำเนิดจากพันธุกรรมที่ผิดปกติทำให้มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตอย่างเฉียบพลัน ในคนที่มีอายุน้อย
วัย แนะนำว่าควรเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เพื่อลดความเสี่ยง เช่น ควบคุมน้ำหนัก (ดัชนีมวลกายน้อยกว่า 30) งดการสูบบุหรี่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์และมีกากใย หากทำได้ตามนี้ ความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจวายก็จะลดลง
- การรักษามี3 แบบ
วิธีแรก การรักษาทางยา ถัดมา คือ การทำบอลลูนหัวใจ โดยผู้ป่วยต้องอดอาหาร 6 ชม. ใช้เวลา 30 – 1 ชม. ต่อหนึ่งเส้น อยู่ รพ. 1 คืน และใช้ชีวิตไม่หักโหม 1 สัปดาห์ เหมาะสำหรับคนไข้ที่เส้นเลือดสภาพไม่พังมาก ซึ่งอาการแทรกซ้อนของการทำบอลลูน คือ ลวดแทงทะลุ ดังนั้น การทำต้องทำด้วยความระมัดระวัง
หากเส้นเลือดตีบมากต้องปรึกษาหมอผ่าตัด อาจต้องการผ่าตัดบายพาสหัวใจ ปัจจุบันเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้การผ่าตัดอันตรายน้อยลง คนที่ไม่มีโรคแทรกซ้อน แข็งแรง อัตราเสี่ยงต่อชีวิต 1-2 % แต่หากกล้ามเนื้อหัวใจตายไปบ้างแล้ว เส้นเลือดเล็กต่อลำบาก อัตราเสี่ยง 3-5% หากหัวใจไม่ดี มีประวัติหัวใจวาย อัตราเสี่ยงอาจเพิ่มเป็น 30-40% นอกจากนี้ ในผู้ป่วยบางรายที่อาการหนักอาจไม่สามารถผ่าตัดได้ ต้องใช้วิธีเปลี่ยนถ่ายหัวใจ ซึ่งในแต่ละปีมีการจำนวนเคสที่น้อยราว 20 กว่าคนต่อปี
- แนะฟื้นฟูหลังรักษา
การฟื้นฟูเป็นสิ่งสำคัญ “พญ.จิรภา แจ่มไพบูลย์” แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูผู้ป่วยระบบหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลเมดพาร์ค อธิบายว่า ผู้ป่วยที่อาการคงที่ต้องได้รับการฟื้นฟู ออกกำลังกาย ภายใต้ผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ นักกายภาพ เช่น แอโรบิค 30 นาทีอย่างน้อย หรือ 5-10 นาที แบ่งเป็นเช้าเย็น บริหารยืดเหยียดกล้ามเนื้ออย่างเหมาะสม ออกกำลังกายแบบมีแรงต้าน รวมถึง ฝึกการหายใจทำให้การใช้ออกซิเจนมีประสิทธิภาพมากขึ้น การออกกำลังกาย ลดการกลับมานอนโรงพยาบาล ลดการเสียชีวิต เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยให้ดีขึ้น ทั้งยังปลอดภัยหากผู้ป่วยได้รับการประเมินและคำแนะนำที่เหมาะสมภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์