ส่อง 7 แนวคิดสร้าง "สวนเบญจกิติเฟสใหม่" พื้นที่ธรรมชาติกลางกรุง
“สวนเบญจกิติ” เฟส 2-3 เป็นพื้นที่ธรรมชาติกลางกรุงแห่งใหม่ที่ไม่ได้มีไว้แค่เดินเล่น ออกกำลังกาย หรือจัดอีเวนต์เท่านั้น แต่เบื้องหลังสวนนี้ถูกสร้างด้วย 7 แนวคิดสุดเจ๋ง ชวนส่องแนวคิดเหล่านี้ว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง?
“สวนเบญจกิติ” เฟสใหม่ 2-3 พื้นที่ธรรมชาติใจกลางเมืองที่หลายคนอาจมาเดินเล่น ออกกำลังกาย ถ่ายรูปแชร์บนโลกโซเชียลกันไปตั้งแต่เปิดให้เข้าใช้พื้นที่ครั้งแรกตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค. 64 ที่ผ่านมา แต่อาจไม่รู้ว่าสวนนี้มีประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ชาติอย่างมากในหลายๆ ด้าน
อีกทั้งช่วยบำบัดน้ำเสียจากตัวเมือง โดยคำนึงถึง Universal design คือการออกแบบให้ระบบนิเวศในพื้นที่เกื้อกูลกับมนุษย์ สร้างด้วยแนวคิดอนุรักษ์ของเดิมเพื่อลดการใช้ทรัพยากรใหม่แบบ Zero Sum และแนวคิดอื่นๆ อีกมากมาย
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้พูดคุยกับ "ชัชนิล ซัง" และ "พรหมมนัส อมาตยกุล" ตัวแทนทีมสถาปนิกจากสถาบันอาศรมศิลป์ ซึ่งเป็นผู้ดูแลโครงการสร้างสวนเบญจกิติเฟสใหม่นี้ แต่ละไอเดียน่าสนใจอย่างไร ตามไปดูกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
1. พื้นที่อเนกประสงค์ของคนเมือง
ถึงแม้ “สวนเบญจกิติ” จะเป็นสวนป่าที่ดูเหมือนจะมีไว้เพื่อชมความสวยงามอย่างเดียว แต่แท้จริงแล้วสวนแห่งนี้ตั้งใจออกแบบมาเพื่อเป็น “พื้นที่พักผ่อนของคนเมือง”
โดยไฮไลท์เด็ดคือตัวทางเดิน “สกายวอร์คและพาวิลเลียน” ซึ่งถูกออกแบบมาให้มีความสูงต่ำที่แตกต่างกัน มีทางลาดและทางชัน มีจุดให้ชมวิวแบบพาโนรามา ทั้งหมดนี้เพื่อให้คนเมืองได้รับประสบการณ์และมุมมองที่แตกต่างกัน
นอกจากนี้จุดชมวิวด้านล่างก็จะมีพื้นที่กว้างหน่อย หากต้องการเดินอย่างสบายๆ ไม่ต้องเบียดเสียดผู้คนจำนวนมาก ก็สามารถลงมาเดินข้างล่างได้ จะได้เห็นวิวและบึงน้ำต่างๆ ในอีกมุมที่สวยงามไม่แพ้กัน
อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจก็คือ “อัฒจันทร์กลางแจ้ง” ซึ่งตรงนี้ตั้งใจออกแบบมาให้ใช้ทำกิจกรรมต่างๆ ของคนเมือง เพราะมีพื้นที่กว้างมากพอให้จัดกิจกรรมดนตรีในสวน กิจกรรมวิ่ง อีเวนต์สนทนาในสวน เป็นต้น
แต่หากว่าไม่ได้มีการจัดงานพื้นที่ตรงนี้ ผู้คนก็สามารถมานั่งเล่น นอนเล่น จัดกิจกรรมครอบครัว ปูเสื่อปิคนิคกันได้ (เวลาประมาณ 17:00 น. เป็นต้นไป สามารถนั่งชมพระอาทิตย์ตกได้ วิวข้างหน้าเป็นผืนน้ำสะท้อนสวยงาม)
2. บำบัดน้ำเสียจากเมือง (ด้วยธรรมชาติ)
มากันที่ด้านการบรรเทาปัญหาเมืองอย่างเรื่อง “การบำบัดน้ำเสีย” ซึ่งตอนเริ่มออกแบบโครงการ ทีมสถาปนิกได้เล็งเห็นว่าพื้นที่ทางด้านเหนือของสวนติดกับคลองไผ่สิงโต เป็นคลองที่มีน้ำค่อนข้างสกปรกมาก จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้สวนนี้สามารถ “บำบัดน้ำเสียด้วยวิธีธรรมชาติ” ได้ด้วยระบบ Constructed Wetland โดยจะแล้วเสร็จภายในปีนี้
3. ยึดหลัก Universal Design
พูดถึงการออกแบบเพื่อมวลชน (Universal Design) เป็นแนวคิดหนึ่งที่ยึดมั่นในการออกแบบทุกๆ จุดของสวน อย่างเช่น ทางลาดหรือบันได ที่ได้เห็นบนสกายวอร์ค นอกจากคนทั่วไปจะสามารถเดินเล่นได้แล้ว ยังเหมาะสมกับผู้สูงอายุ คนที่ต้องนั่งรถเข็น และยังเกื้อกูลไม่ให้สัตว์-สิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบบริเวณสวนโดนรบกวนมากเกินไปด้วย
สำหรับทางเดินทั้งหมดในสวนมีหลายแบบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นทางเดิน ทางลาด ทางวิ่ง ทางจักรยาน ทางเดินภายใน ทางเดินลงไปพื้นที่ในน้ำ หากสร้างเสร็จแล้วจะมีระยะทางเดินทั้งหมด 1.67 กิโลเมตร
ปล.โซนสวนน้ำสะพานเขียวในอนาคตจะสามารถเชื่อมต่อไปยังสวนลุมพินีได้
4. ห้องเรียนธรรมชาติ (ของทุกคน)
โครงการนี้ตั้งใจให้เป็นพื้นที่ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศ ต้องการชี้ให้เห็นว่า ป่าที่อยู่ในเมืองกรุงเทพฯ เป็นอย่างไร
ก่อนเริ่มโครงการ พื้นที่นี้ยังไม่มีสัตว์ใดๆ มาอาศัยอยู่เลยนอกจากอีกา แต่ตอนนี้พอสวนเริ่มสมบูรณ์มากขึ้น มีต้นไม้มาลง จะเริ่มสังเกตเห็นนกกระยาง นกกระจิบ นกกาน้ำ เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิต
คนทั่วไป เด็กนักเรียน นักศึกษา สามารถมาเดินชมและเรียนรู้ธรรมชาติได้ที่นี่ มีต้นไม้หลากหลาย ทั้งต้นไม้อนุรักษ์ ต้นไม้หายาก ต้นไม้ใหญ่ และต้นไม้ทั่วไปหลายชนิด โดยปัจจุบันอาจยังเป็นต้นกล้าขนาดเล็กอยู่เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์
5. “ธรรมชาติ” สะท้อนสภาพโลกวันนี้
เชื่อว่าหลายคนที่เคยไปชมสวนที่นี่กันมาแล้ว อาจแปลกใจว่าทำไมบางมุมของสวนไม่สวยเลย ปล่อยให้แห้งแล้ง ดอกไม้เหี่ยวเฉา หรือต้นหญ้าออกสีเหลือง
ความจริงแล้วจุดนี้ทีมจัดสวนตั้งใจให้มีเรื่องการเปลี่ยนผันตามฤดูกาล เพื่อให้สวนเป็นตัวแทนสะท้อนสภาพแวดล้อมของโลกปัจจุบันว่า สภาวะโลกของเราเป็นอย่างไร เช่น ถ้าช่วงไหนน้ำเยอะ น้ำในสวนก็จะเอ่อท่วม ช่วงไหนเป็นหน้าแล้ง น้ำก็จะลดลง
โครงการฯ ตั้งใจออกแบบให้มีพื้นที่น้ำตื้น น้ำลึก โดยพื้นที่น้ำลึกก็สามารถที่จะมีช่วงเวลาที่น้ำลดลงต่ำได้ และบริเวณที่เป็นน้ำตื้น จะมีการหล่อน้ำไว้ประมาณ 10-20 เซนติเมตร เพื่อให้พืชน้ำยังสามารถเจริญเติบโต และสร้างสมดุลทางระบบนิเวศต่อไปได้
6. อนุรักษ์ของเดิม ลดใช้ทรัพยากรใหม่ (Zero Sum)
พื้นที่เดิมของสวนนี้เป็นโรงงานยาสูบ พอทางโรงงานย้ายออกไปหมดแล้ว และได้คืนพื้นที่มาให้เป็นสวน แต่หลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญหรือยังเป็นวัตถุที่สามารถนำมาใช้สร้างต่อได้ก็จะนำมาปรับปรุงพัฒนาต่อ
บางอาคารมีเอกลักษณ์สำคัญ จึงได้มีการอนุรักษ์อาคารไว้ด้วย อย่างเช่น อาคารโรงผลิตยาสูบ 5 เป็นอาคารสไตล์โมเดิร์นในช่วงยุคแรกๆ ที่มีช่วงตึกกว้าง ซึ่งสำคัญกับวงการสถาปัตยกรรมไทย จึงคงรักษาเอาไว้
นอกจากนี้ยังมีอาคารอื่นๆ เช่น อาคารเก็บโกดังใบยา ซึ่งกำลังจะปรับปรุงใหม่ให้เป็นศูนย์กีฬาในร่ม ศูนย์จักรยาน ลานสุขภาพให้เด็กเล่น
ในส่วนของการขุดถม “บึง” ได้ใช้การขุดถมในพื้นที่ เอารากฐานอาคารเดิมไปถมในจุดที่ต้องการความสูง ไม่ได้ซื้อดินจากที่อื่นเข้ามาถม เพื่อเป็นการบาลานซ์ดินในพื้นที่ของตัวสวนเอง
ทางด้านพืชพรรณ ต้นไม้เก่าที่มีในพื้นที่ของโรงงานยาสูบเก่าทุกต้น ยังคงรักษาและเก็บไว้หมดเลยเพราะเป็นต้นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงาได้ดี แต่จะมีต้นไม้บางต้นที่หมดอายุ มีการผุพัง ก็นำออกไป
รวมถึงเนินกลมๆ ที่เป็นเกาะตามน้ำ ตัวฐานก็ใช้วัสดุที่มาจากอาคารเก่าด้วย เพื่อสร้างอัตลักษณ์ของพื้นที่ให้มีงานศิลปะที่อยู่บนผืนดิน
7. “ระบบนิเวศ” อยู่คู่ “คน” โดยไม่รบกวนกัน
แม้ว่าสวนเบญจกิติจะออกแบบมาเพื่อให้ผู้คนใช้ประโยชน์หลายอย่าง ทั้งเพื่อกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อการบำบัดน้ำเสีย หรือเป็นห้องเรียนธรรมชาติแก่ผู้คน แต่ภายในสวนก็ได้มีการออกแบบให้สัตว์ แมลง และต้นไม้พืชพรรณ ได้อาศัยอยู่อย่างปลอดภัย
เช่น มีการยกทางเดินขึ้นสูงเป็นสกายวอร์คหรือพาวิลเลียน หรือแม้ทางเดินข้างล่างที่ผู้คนสามารถเดินเล่นได้ ก็ได้มีการลู่ขนาดของพื้นที่ให้เดินได้แคบลง เพื่อไม่ให้คนเข้าไปรบกวนธรรมชาติมากเกินไป
การออกแบบสิ่งเหล่านี้เพราะมีจุดประสงค์ต้องการที่จะให้คนเที่ยวชมธรรมชาติแบบนักสังเกตการณ์ก็พอ ไม่เข้าไปยุ่งหรือใกล้ชิดระบบนิเวศมากเกินไป
หมายเหตุ : สวนเบญจกิติ เปิดให้เข้าใช้บริการตั้งแต่เวลา 05.00 - 21.00 น.