องค์กรของผู้บริโภคฯยื่นค้านต่อสัมปทาน"รถไฟฟ้าสายสีเขียว" ทำค่าโดยสารแพง
องค์กรของผู้บริโภคกทม. ยื่นเรื่องถึง “อนุทิน” หนุนคัดค้านต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ล่วงหน้า 30 ปี ชี้ทำค่าโดยสารมีราคาแพง ถึง 28 % ของรายได้ขั้นต่ำ ส่งผลให้ประชาชน เข้าไม่ถึงบริการ รองนายกฯลั่นยึดกฎหมาย-ประชาชนเป็นหลัก ยันไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล
เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2565 องค์กรของผู้บริโภค กรุงเทพฯ นำโดยนายวิทยา แจ่มกระจ่าง ประชาสัมพันธ์องค์กรของผู้บริโภค กรุงเทพฯ ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือแก่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เรื่อง ขอให้สนับสนุนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในการคัดค้าน "การต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสีเขียวล่วงหน้า 30 ปี” โดยระบุว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หมวด 5 ว่าด้วยหน้าที่ของรัฐ มาตรา 56
ระบุว่า รัฐต้องจัดหรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึง ตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน และรัฐต้องดูแลมิให้มีการเรียกเก็บค่าบริการจนเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร ทั้งนี้รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเป็นบริการขนส่งสาธารณะสำหรับเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพ ถือเป็นระบบสาธารณูปโภคชั้นพื้นฐานที่รัฐต้องจัดให้กับประชาชน
แต่จากปัญหาในการบริหารจัดการของรัฐทำให้ค่าโดยสารมีราคาแพง โดยคิดเป็น28 % ของรายได้ขั้นต่ำ ส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่ในกรุงเทพมหานคร เข้าไม่ถึงบริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน โดยพบว่ามีคนใช้บริการเพียง2.86 % เท่านั้น
นอกจากนี้ รัฐบาลมีแผนการ "ต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว" โดยพยายามผลักดันเรื่องนี้ เข้าสู่วาระการพิจารณาของการประชุมคณะรัฐมนตรีมาโดยตลอด โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งที่สัมปทานฉบับนี้ยังมีเวลาอีก 7 ปี ถึงจะหมดอายุ จึงนำมาสู่คำถามจากสังคมว่า ทำไมรัฐบาลถึงเร่งพิจารณา การต่อสัญญาสัมปทานดังกล่าว โดยไม่มีการศึกษา ทบทวนปัญหาและผลกระทบอย่างครบถ้วนรอบด้าน โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคผู้ใช้บริการที่ต้องแบกรับภาระค่โดยสารแพง และผลกระทบด้าน อื่น ๆ ไปอีก 37 ปี ทั้งที่ยังมีปัญหาปากท้องและปัญหาอื่นที่รอการแก้ไขอย่างเร่งด่วนอีกมากมาย
จึงขอให้พิจารณาสนับสนุนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในการคัดค้าน "การต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว" โดยการแสดงจุดยืนและเป็นพลังร่วมกับประชาชนในการคัดค้านการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ล่วงหน้า 30 ปี และขอให้สนับสนุนให้มีการทบทวนสัญญาสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าทุกเส้นทางในปัจจุบัน และเปิดเผยสัญญาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อทบทวน ศึกษาแนวทางการบริหารจัดการและการดำเนินงาน เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ และให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภค ทั้งในเรื่องราคาและคุณภาพบริการ ให้เป็นบริการขนส่งมวลชนสำหรับคนทุกคน ที่เป็นระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
นายอนุทิน กล่าวว่า จะนำเรื่องส่งต่อให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมพิจารณาต่อไป ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องของกรุงเทพมหานครกับผู้ประกอบการ เพียงแต่กระทรวงคมนาคมได้บอกให้ทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งได้ให้2หน่วยงานไปหารือร่วมกันคือกรุงเทพมหานครและการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
“กรณีการพิจารณาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ประชุม ครม. ไม่มีอะไรต้องกังวล เนื่องจากมีการประชุมทุกสัปดาห์ ซึ่งจะมีกาาหารือด้วยเหตุผลด้วยคำนึงผลประโยชน์ประเทศของรัฐและประชาชน ไม่ได้เป็นความขัดแย้งของพรรคร่วมรัฐบาล แต่เป็นการเห็นไม่ตรงกันของหน่วยงาน คือ คมนาคม และกรุงเทพฯ ทั้งหมดยึดหลักกฎหมาย ความถูกต้อง และประชาชน”นายอนุทินกล่าว