ไม่เริ่ม1มี.ค. ยกเลิกUCEPโควิด19 ยังรักษาฟรีได้ทุกที่ต่อไปไม่มีกำหนด
ยังไม่เริ่ม 1 มี.ค.รักษาโควิด19ฟรีตามสิทธิ์ ยังใช้ UCEPโควิด19รักษาฟรีทุกที่ทั้งรัฐ-เอกชนได้ต่อไม่มีกำหนด หลังครม.ตีกลับมอบสธ.ทบทวนแนวทาง สปสช.เพิ่มคู่สายรองรับเข้าระบบHI เตรียมของบดูแลเพิ่มอีก 5.1 หมื่นล้านบาท คาดปี65ใช้งบราว 8.2 หมื่นล้านบาท
เมื่อวันที่ 22 ก.พ.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงสถานการณ์โควิด19 ประเด็น “แนวทางการรักษาและเบิกจ่ายโควิด19 ระบบ UCEP พลัส” นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กล่าวว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)เตรียมการดีเดย์ในวันที่ 1 มี.ค.2565 เพื่อปรับระบบการบริการให้ผู้ป่วยโควิด-19 ไปใช้การรักษาตามสิทธิสุขภาพของแต่ละบุคคล และเตรียมประกาศ UCEP โควิด19 พลัส โดยให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) กำหนดเกณฑ์ผู้ป่วยโควิด19 กลุ่มอาการสีเหลืองและสีแดง เพื่อให้ใช้บริการได้ทุกที่ ฟรีทุกสิทธิในสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนนั้น
เมื่อวันที่ 22 ก.พ.2565มีการนำเรื่องอัตราที่จะจ่ายค่าบริการให้สถานพยาบาลเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบ โดยครม.มอบให้ สธ. ทบทวนเรื่องกระบวนการและเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน โดยเฉพาะกระบวนการติดต่อ การรักษา ช่องทางต่างๆ รวมถึงเรื่อง UCEP โควิด19 พลัส ในอนาคตและการปรับระบบการรักษาที่บ้าน(Home Isolation:HI) ให้กระบวนการมีความคล่องตัว และการทำความเข้าใจกับประชาชน จึงยังไม่มีมติ ซึ่ง สธ.ได้รับเรื่องนี้มาเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน กับสถานพยาบาลและทบทวนกระบวนการต่างๆ
นพ.ธเรศ กล่าวอีกว่า กรอบเวลาที่จะใช้ทบทวน ก็จะต้องนำเรื่องนี้เข้าคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอต่อไป ส่วนเรื่องการประกาศยกเลิกกำหนดผู้ป่วยฉุกเฉินกรณีการติดโควิด19 ครม.ให้ สธ.ดำเนินการทบทวนให้สอดคล้องกัน โดยสรุป คือ ตอนนี้ระบบการดูแลยังเป็น UCEP โควิด19 เหมือนเดิม ซึ่งต้องไปดูแลกระบวนการดูแลผู้ป่วยเพิ่มเติมขึ้น โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จึงต้องมีการพัฒนาช่องทางการติดต่อเพื่อเข้าระบบ 1330 หรือการเข้า Line official ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และดูแลระบบการรับส่งผู้ป่วย
ผู้สื่อข่าวถามว่าก่อนหน้านี้ประกาศว่า โควิด19ออกจากโรคฉุกเฉิน มีการลงนามไปแล้ว นพ.ธเรศ กล่าวว่า ยังไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทางครม. จึงให้นำมาพิจารณาทบทวนอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องของภาคประชาชน จึงขอให้สธ.รับไปเพื่อทบทวนเรื่องการสื่อสาร และกระบวนการทั้งหมด ดังนั้น โควิด19ยังเป็นโรคฉุกเฉิน รักษาฟรีได้ทุกที่ทุกสิทธิ์ รพ.เอกชนปฏิเสธไม่ได้
"คำถามถึงฮอสปิเทล(Hospitel) ว่าเหลือหรือไม่ ต้องเน้นย้ำว่าฮอสปิเทล เป็นกระบวนการหนึ่งที่ สบส. ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล เพื่อออกประกาศสถานพยาบาลชั่วคราว ในการปรับปรุงโรงแรมและทำงานร่วมกับโรงพยาบาล ขณะนี้ยังมีฮอสปิเทลที่ให้บริการถึง 200 แห่ง รวม 3.6 หมื่นเตียง ส่วนใหญ่อยู่ใน กทม.-ปริมณฑล ทั้งของภาครัฐและเอกชน ที่ดูแลผู้ป่วยที่มีอาการน้อย ซึ่งมีอัตราเข้าพัก 30%" นพ.ธเรศ กล่าว
ถามถึงกรณี รพ.เอกชน ปฏิเสธการรับผู้ป่วย นพ.ธเรศ กล่าวว่า ขณะนี้กลไกของ UCEP โควิด19มีผลบังคับใช้อยู่ ดังนั้น ผู้ป่วยโควิดถือเป็นโรคฉุกเฉิน สถานพยาบาลต้องให้การดูแลและไม่สามารถปฏิเสธได้ หากสถานพยาบาลไม่มีศักยภาพในการดูแลหรือไม่มีเตียง ต้องส่งต่อผู้ป่วย และย้ำว่าไม่สามารถเรียกเก็บเงินมัดจำได้ ซึ่งจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล ซึ่งการรักษายึดหลักการตรวจด้วย ATK หากพบว่าเป็นบวก สามารถดูแลในสถานพยาบาล รวมถึง HI/CI ด้วย สบส.แจ้งไปยัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.)ให้ทบทวนเรื่องนี้กับบริษัทประกันแล้ว
ด้านนพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การรักษาผู้ป่วยโควิดตามสิทธิ จะไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนคำถามว่าหากในอนาคตมีการปรับระบบบริการฉุกเฉินจะมีผลให้ผู้ป่วยต้องกลับไปยังหน่วยบริการที่ลงทะเบียนหรือไม่ ในส่วนของผู้อยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพหรือบัตรทอง ขอย้ำว่า โควิด19 เป็นโรคติดต่อที่สามารถไปรับบริการในสถานพยาบาลได้ทุกที่ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่โควิด แต่ในโรคอื่นๆ หากประชาชนไปรับบริการในหน่วยบริการที่ไม่ได้ลงทะเบียนไว้ แต่ก็สามารถไปรับบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิได้ทุกที่ ตามนโยบายการยกระดับบัตรทอง ดังนั้น การดูแลไม่ว่าจะเป็นการรักษาที่บ้านหรือชุมชน( Home and Community Isolation ) การดูแลในโรงพยาบาล โรงแรม ระบบจะเข้าไปดูแลค่าใช้จ่าย
"กรณีที่ผู้ป่วยต้องการติดต่อกับสายด่วน 1330 ข้อมูลวันที่ 21 ก.พ.2565 มีโทรศัพท์เข้ามาสูงเป็นประวัติการณ์ 49,500 สายในรอบ 24 ชั่วโมง ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยในเดือน ส.ค.2564 สูงสุดอยู่ที่ 2-3 หมื่นสาย จึงมีปัญหาในเรื่องการโทรเข้ามา แต่ได้มีการเพิ่มเจ้าหน้าที่รับสายอีก 150 คน ตามที่ได้ตรวจสอบพบมีการรอสายทุกๆ วินาทีประมาณ 50 สาย ดังนั้น ขอแนะนำให้ประชาชนเพิ่มเพื่อนที่ไลน์บัญชีทางการของ สปสช.ที่ @nhso เพื่อลงทะเบียนและลดการรอสาย" นพ.จเด็จกล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวด้วยว่า สำหรับการปรับลดค่าตรวจ RT-PCR 2 ยีนจาก 1,200 เป็น 900 บาท รวมถึงลดอัตราค่าตรวจ ATK นั้น สามารถดำเนินการได้ในวันที่ 1 มี.ค. 2565 ม่ต้องอิงกับการประกาศปรับการรักษาโควิดฟรีตามสิทธิที่เพิ่งมีการชะลอออกไปก่อน เพราะเรื่องค่าตรวจเป็นเรื่องของหน่วยบริการ ซึ่งการปรับลดตรงนี้เราได้มีการหารือ และอิงตามอัตราค่าตรวจจริงในปัจจุบัน ทั้งนี้สำหรับค่าตรวจ ดูแล รักษา โควิด19ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมารวมประมาณ 1.3 แสนล้านบาท เฉพาะปี 2564 รวมประมาณ 5.1 หมื่นล้านบาท ปี 2565 ขณะนี้ใช้ไปแล้ว 3.1 หมื่นล้านบาท กำลังขอเพิ่มอีก 5.1 หมื่นล้านบาท ดังนั้น เบื้องต้นคาดว่าปี 2565 จะใช้งบประมาณราว 8.2 หมื่นล้านบาท