คำแนะนำดูแลเด็กติดโควิด19 ตามช่วงอายุ พร้อมวิธีป้องกันไม่ให้ติด

คำแนะนำดูแลเด็กติดโควิด19 ตามช่วงอายุ พร้อมวิธีป้องกันไม่ให้ติด

เด็กปฐมวัยติดโควิด19เพิ่มรอบสัปดาห์  6 พันราย สะสมตั้งแต่เม.ย.64 ราว 1 แสนราย เสียชีวิต 29 คน  เกินครึ่งมีโรคประจำตัว กำชับแยกกิน ฉีดวัคซีนให้ครบ หลีกเลี่ยงไปสถานที่ที่มีคนรวมตัวกันมาก อย่านำเด็กเล็กไป ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม-ของเล่น

เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)  ในการแถลงสถานการณ์โควิด19 นพ.เอกชัย  เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย  กล่าวว่า  เด็กปฐมวัยตั้งแต่แรกเกิด- 5 ขวบรอบ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาติดโควิด19 สูงมากขึ้นกว่า 6,000 กว่าคน สูงตามช่วงวัยอื่นๆ  โดย6 จังหวัดที่พบติดเชื้อสูงสุดคือ กทม.นนทบุรี ชลบุรี สมุทรปราการ ภูเก็ต และนครศรีธรรมราช ยอดสะสม ตั้งแต่ 1 เม.ย.2564ถึงปัจจุบัน ติดเชื้อ 107,059 คน เสียชีวิตสะสม 29 คน เกินครึ่งมีโรคประจำตัว สาเหตุการติดเชื้อมาจากการสัมผัสผู้ติดเชื้อในครอบครัวที่เป็นผู้รับเชื้อมาจากนอกบ้าน เด็กเล็กยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ขาดความใส่ใจในสุขอนามัย  

         นพ.เอกชัย  กล่าวด้วยว่า ผลสำรวจอนามัยอีเว้นท์โพล พบว่า การประเมินความเสี่ยงของคนในครอบครัวที่มาจากนอกบ้านผ่านแอปพิเคชั่นต่างๆ มีเพียง 28% เท่านั้นที่มีการประเมิน พบการปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันโรคเมื่ออยู่ในบ้านส่วนใหญ่ทำได้ไม่ถึงครึ่งทั้ งการแยกใช้อุปกรณ์ส่วนตัว ทำความสะอาดอุปกรณ์ที่จับร่วม โดยเฉพาะการไม่กินอาหารร่วมกันและแยกใช้ห้องน้ำทำได้น้อยมาก แนะนำเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น รณรงค์ฉีดวัคซีนให้ครบ หลีกเลี่ยงไปสถานที่ที่มีคนรวมตัวกันมาก อย่านำเด็กเล็กไป ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมรวมถึงของเล่น โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีโรคประจำตัวร่วมต้องระวังเป็นพิเศษ 

  นพ.เอกชัย  กล่าวด้วยว่า กรณีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อตั้งแต่ 3 เม.ย. 2564 พบ 6,829 คน เสียชีวิต 110 คน โดยมีเด็กเสียชีวิตตามไปด้วยหรือตายท้องกลม 66 คน เกินครึ่งหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิตมีโรคประจำตัว และไม่ได้รับวัคซีน มีฉีดเพียง 3-4 คน ส่วนใหญ่เสียชีวิตช่วงการระบาดของเดลตา ม.ค.65ที่เป็นการระบาดของโอมิครอนมีไม่ถึง 10 คน อย่างไรก็ตามมีหญิงตั้งครรภ์ที่ฉีดวัคซีนเพียง 115,000 คน ขณะที่ยังมีอีก 2 แสนกว่าคนอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ที่ยังไม่เข้ารับการฉีด ส่วนใหญ่ยังกังวลจะมีผลต่อลูกในครรภ์ ทั้งที่วัคซีนปลอดภัย ต้องเร่งรณรงค์ รวมถึงรณรงค์ให้คู่สมรสรับวัคซีนให้ครบ 3 เข็มก่อนตั้งครรภ์ กรณีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อที่ไม่มีโรคประจำตัวสามารถเข้าระบบดูแลด้วย HI ได้ปกติ แต่ต้องระวังตนเอง หากมีอาการหนักขึ้น ไอ ไข้สูง หายใจไม่อิ่ม ระดับออกซิเจนค่ำกว่า 94 % ให้ติดต่อหมอที่ฝากครรภ์ หรือโทรสายด่วน 1330และ 1669 

     ด้าน นพ.ธีรชัย บุญยะลีพรรณ รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอนามัยเด็กแห่งชาติ กรมอนามัย กล่าวว่า อาการเด็กติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นไข้ต่ำ มีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ อ่อนเพลียเหมือนหวัด บางรายอาจมีผื่น เบื่ออาหารหรือท้องเสีย หากมีอาการหนัก ไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส หายใจหอบเร็วกว่สปกติ ใช้แรงในการหายใจ ปากเขียว ระดับออกซิเจนปลายนิ้วน้อยกว่า 94 % ซึมลง  ไม่ดูดนมและไม่กินอาหาร ควรติดต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อนำเด็กเข้ารพ.
    ทั้งนี้ เด็กเล็กต่ำกว่า 1 ขวบให้สังเกตที่การกิน ดื่มนม ส่วนเกิน 1 ขวบให้สังเกตุที่การเล่น ถ้าพฤติกรรมดังกล่าวต่ำกว่า 50-60 % ควรนำพบแพทย์ กรณีเด็กติดเชื้อแยกกักดูแลที่บ้าน สิ่งสำคัญคือการเว้นระยะห่างโดยเฉพาะกับผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเสี่ยง
      เด็กอายุเกิน 2 ปีแนะนำให้เด็กใส่หน้ากากอนามัย และอย่าเปิดแอร์นอน ควรเปิดโล่ง และแยกของใช้ส่วนตัว หากมีไข้ให้พยายามเช็ดตัวเป็นระยะมากกว่ากินยาพารา ส่วนใหญ่ 1-2 วันไข้ลด และพยายามทำกิจกรรมเล่นกับลูก
     กรณีเด็กเล็กต่ำกวา 5 ปีติดเชื้อที่เข้ารักษาในรพ.ฮอลพิเทลหรือ CI จะให้ผู้ปกครองเข้าไปดูแลด้วย กรณีพ่อแม่ติดเด็กไม่ติดจะให้ญาตินำเด็กไปดูแล หากไม่มีญาติให้ประสานบ้านพักเด็กช่วยดูแลเล็ก