โควิดกลับมา ‘นิวไฮ’ รัฐต้องสื่อสารให้ดี
ตัวเลขผู้ติดเชื้อกลับพุ่งสูงขึ้นทำนิวไฮอีกครั้ง และคาดว่าหลังจากนี้ผู้ติดเชื้อจะเพิ่มอีกอย่างต่อเนื่อง รัฐบาล สาธารณสุข หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้อง “สื่อสาร” ออกมาให้ชัดเจน และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วยโควิด-19ในทุกระดับสี
สถานการณ์โควิด-19 ในไทยยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อกลับพุ่งสูงขึ้นทำนิวไฮอีกครั้ง และคาดว่าหลังจากนี้ผู้ติดเชื้อจะเพิ่มอีกอย่างต่อเนื่อง ด้วยเชื้อโควิดสายพันธุ์หลัก BA.2 แพร่กระจายได้เร็ว ง่าย ขณะที่ผู้ติดเชื้อมักมีอาการไม่รุนแรง เป็นไปตามที่องค์การอนามัยโลก บอกว่าไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.2 แม้จะระบาดง่ายกว่าสายพันธุ์ BA.1 เดิม แต่ข้อมูลตัวอย่างที่พบในผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ BA.2 ใน หลายประเทศ ไม่พบความรุนแรงที่แตกต่างหรือมากไปกว่าสายพันธุ์ BA.1 แต่อย่างใด ข้อมูลนี้จึงช่วยลดความกังวลให้ประเทศต่างๆ ที่สายพันธุ์ BA.2 กำลังแพร่ระบาดอย่างกว้างขวาง รวมถึงประเทศไทยที่สายพันธุ์ BA.2 กำลังแพร่ระบาดมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
ขณะที่ข้อมูลของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังสอดคล้องกับการปรับตัวสู่การเป็น โรคประจำถิ่น หรือ โรคติดต่อตามฤดูกาล คือ ความรุนแรงลดลงมาก พบผู้เสียชีวิตน้อยกว่า 1 รายต่อผู้ติดเชื้อ 1,000 ราย และผู้ที่มีอาการรุนแรง น้อยกว่า 5 ราย จากผู้ป่วย 1,000 ราย อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การติดเชื้อในประเทศไทยขณะนี้ ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น และทำนิวไฮอยู่ทุกวันในช่วงหลัง ดังนั้นเราไม่ควรประมาท มาตรการป้องกันตัวเองต้องมี ไม่ลืมเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นตามกำหนด ขณะที่ รัฐต้องจัดระบบการเข้าถึงวัคซีนให้ง่ายขึ้น
ด้วยอาการของผู้ติดเชื้อในสายพันธ์ุ BA.2 ที่ไม่รุนแรง จึงกลายเป็นความชะล่าใจ ทำให้มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นเร็วมาก สิ่งเหล่านี้ เรามองว่าเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลต้องสื่อสารและทำความเข้าใจกับประชาชนให้ดี เพราะสิ่งที่กำลังจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ คือ เมื่อคนติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นระบบสาธารณสุข เตียง ก็เริ่มจะรองรับได้ไม่เพียงพอ ซึ่งสถิติที่ผ่านมา ผู้ที่เข้ารับการรักษาและครองเตียงเข้าสู่ระบบการรักษาของโรงพยาบาล หรือ Hostel ต่างๆ ส่วนใหญ่มักเป็นผู้ป่วยสีเขียวที่อาการไม่หนัก มากกว่าคนที่อาการหนักในระดับสีเหลือง และสีแดงซึ่งเป็น กลุ่มต้องการสถานที่รักษาพยาบาล มีเครื่องไม้เครื่องมือการรักษาที่ครบครัน
ข้อมูลที่เผยออกมาจาก ศบค. บอกถึงสัดส่วนเงินที่ใช้สำหรับ UCEP หรือสิทธิการรักษาโควิดในเคสฉุกเฉินร้ายแรง ระหว่างปี 2563-2564 มีจำนวนบริการ 768,491 ครั้ง แต่เมื่อแยกรายสีผู้ป่วย พบว่า จ่ายกรณีเป็นผู้ป่วยสีเขียวมากถึง 88% สีเหลือง 11% และสีแดงซึ่งเป็นผู้ป่วยที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจและใช้ออกซิเจนแรงดันสูงมีแค่ 1% เท่านั้น เราเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญ แม้ในความเป็นจริงแล้ว “ประชาชนทุกคน” ควรได้สิทธิเข้าถึงการรักษาจากรัฐ เมื่อติดเชื้อโควิดไม่ว่าจะมีอาการอยู่ในระดับใด แต่เราเห็นว่าช่วงเวลาแบบนี้ กลุ่มอาการไม่รุนแรงควรเข้าสู่ระบบการรักษาที่ไม่ควรไปกระทบกับการรักษาในกลุ่มที่มีอาการรุนแรง และกันเตียง พื้นที่การกักตัวไว้ให้สำหรับกลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง สีแดงเป็นหลัก ขณะที่รัฐเองก็ควรมีทางเลือกให้กลุ่มที่มีอาการเล็กน้อย ต้องปฏิบัติตัวแบบไหน รักษาแบบไหน ทั้งหมดนี้รัฐบาล สาธารณสุข หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้อง “สื่อสาร” ออกมาให้ชัดเจน และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วยโควิด-19ในทุกระดับสี