เรียนรู้จากกรณี “แตงโมนิดา” 4 วิธีช่วยเหลือ “คนตกน้ำ”

เรียนรู้จากกรณี “แตงโมนิดา” 4 วิธีช่วยเหลือ “คนตกน้ำ”

จากการ”ตกน้ำ”จากเรือกลางแม่น้ำเจ้าพระยาของนางเอกชื่อดัง “แตงโมนิดา” หากคนทั่วไปต้องเจอกับสถานการณ์ดังกล่าวจะสามารถช่วยเหลือ “คนตกน้ำ”ได้อย่างไร

     กรมควบคุมโรค (คร.)  กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่าแต่ละปีจะมี คนตกน้ำ โดยเฉพาะเด็กจำนวนไม่น้อย ถือเป็นภัยสุขภาพอย่างหนึ่ง ช่วงเดือนม.ค.-เม.ย. 2564  มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิต 72 ราย  เป็นชายมากกว่าหญิง 3 เท่า   อายุช่วง 5-9 ปีมากที่สุด 51.4% รองลงมา อายุ 10-14 ปี 26.4 %  แหล่งน้ำที่พบมากที่สุด คือ สระน้ำ คลอง บ่อน้ำ และแม่น้ำ สาเหตุเนื่องจากชวนกันไปเล่นน้ำมากที่สุด 62.5 %

     4 วิธีช่วยเหลือคนตกน้ำ

กรมควบคุมโรค แนะนำ 4 วิธีการช่วยเหลือ คือ

  1. ตะโกน  ช่วยด้วยมีคนตกน้ำ เพื่อขอความช่วยเหลือ
  2. โยน  อุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ให้คนตกน้ำจับ เช่น  ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า ห่วงชูชีพ
  3. ยื่น อุปกรณ์ที่ให้คนตกน้ำจับ เช่น  ไม้ เชือก เสื้อ กางเกง ผ้าขาวม้า เข็มขัด 
  4. สาวไม้ดึงคนตกน้ำเข้าหาฝั่ง

อุปกรณ์ช่วยเหลือคนตกน้ำ

  1. อุปกรณ์ที่ไม่มีเชือกผูก เช่น ขวดน้ำพลาสติก ถังแกลลอน  โดยโยนอุปกรณ์หลายๆใบ ให้ตกตรงหน้าผู้ประสบภัย และการใส่น้ำเล็กน้อยในอุปกรณ์จะช่วยให้มีน้ำหนัก โดยนได้แม่นยำมากขึ้น
  2. อุปกรณ์ที่มีเชือกผูก เช่น ถังแกลลอนผูกเชือก ถุงเชือก  โดยโยนอุปกรณ์ให้ข้ามศีรษะผู้ประสบภัย เพื่อให้เชือกตกลงไปกระทบตัวผู้ประสบภัย เชือกที่ใช้ต้องมีความอ่อนตัว ไม่บิดเป็นเกลียว
  3. อุปกรณ์ เช่น ไม้ ยื่นให้ผู้ประสบภัย  โดยย่อตัวลงต่ำ เพื่อไม่ให้ผู้ประสบภัยดึงตกน้ำ ด้วยการยื่นอุปกรณ์ไปด้านข้างผู้ประสบภัย แลวจึงวาดอุปกรณ์เข้าไปหาตัวผู้ประสบภัย (เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้อุปกรณ์โดนหน้าผู้ประสบภัย)

8ขั้นตอนปฐมพยาบาลคนจมน้ำ
การปฐมพยาบาลคนจมน้ำ 8 ขั้นตอน ได้แก่

  1. โทรแจ้งหมายเลข 1669 หรือหน่วยพยาบาลใกล้เคียงโดยเร็วที่สุด
  2. ห้าม! จับผู้ประสบภัยอุ้มพาดบ่า กระโดด หรือวิ่งรอบสนาม เพื่อเอาน้ำออก
  3. จับคนจมน้ำนอนบนพื้นราบ แห้ง และแข็ง
  4. ตรวจดูว่ารู้สึกตัวหรือไม่ โดยใช้มือทั้ง 2 ข้างจับไหล่เขย่า พร้อมเรียกดังๆ
  5. กรณีรู้สึกตัว เช็ดตัวให้แห้ง เปลี่ยนเสื้อผ้า และห่มผ้าเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย และน้ำส่งรพ.ทุกราย
  6. กรณีไม่รู้สึกตัวไม่ตอบสนอง การช่วยเหลือใจทำดังนี้  เปิดทางเดินหายใจ โดยการกดหน้าผาก เชยคาง เป่าปากโดยวางปากครอบปากผู้ป่วย บีบจมูก เป่าลมเข้า ให้หน้าอกผู้ป่วยยกขึ้น (เป่าปาก 2 ครั้ง)
  7. กดนวดหัวใจ ทำดังนี้  วางส้นมือขนานกับแนวกึ่งกลางหน้าอก(กึ่งกลางหัวนมทั้ง 2 ข้าง) ประสานมือ แขนตั้งฉาก   กดหน้าอกให้ยุบประมาณ 1 ใน 3 ของความหนาของหน้าอก ความเร็ว 100 ครั้งต่อนาที นวดหัวใจ 30 ครั้ง สลับกับเป่าปาก 2 ครั้ง ทำไปจนกว่าผู้ประสบภัยจะรู้สึกตัวและหายใจได้เอง
  8. จับผู้ป่วยนอนตะแคงข้าง ศีรษะหายไปข้างหลัง เพื่อให้น้ำไหลออกทางปาก ใช้ผ้าห่มคลุมผู้ป่วยเพื่อให้เกิดความอบอุ่น งดน้ำและอาหาร และนำส่งรพ.ทุกราย 

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่าทั่วโลกมีคนจมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 360,000 คน เป็นกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ถึง 145,739 คน การจมน้ำเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในระดับโลก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่สอง รองจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

โดยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการจมน้ำเสียชีวิตสูงเป็นอันดับสองของโลก ประเทศไทยในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา   (ปี 2554 - 2563) มีคนเสียชีวิตจากการจมน้ำ 36,140 คน (เฉลี่ยปีละ 3,614 คน) เป็นกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี 7,803 คน (เฉลี่ยปีละ 780 คน)