"Cyber Security" หลักสูตรแรกในกลุ่มหลักสูตรแซนด์บอกซ์ รองรับการขาดแคลน
อว. เร่งจัดทำ “ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security)” ชี้กำลังคนขาดแคลนมาก โดยจะเรียนพร้อมปฎิบัติ ตั้งเป้าภายใน 2 ปีจะผลิตกำลังคนด้าน Cyber Security ไม่น้อยกว่า 1,000 คน
วันนี้ (28 ก.พ.2565) ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ อว. กำลังทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนากำลังคนขั้นสูงที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อตอบโจทย์ความสามารถในการแข่งขันของประเทศผ่านหลักสูตรที่เป็นแซนด์บอกซ์
ไม่ว่าจะเป็นที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) สภาคณบดีวิศวกรรมศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) และภาคเอกชน
- "Cyber Security" หลักสูตรแรกในกลุ่มหลักสูตรแซนด์บอกซ์
โดยทางมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ จะร่วมกันร่างหลักสูตรในรายวิชาที่มีความสำคัญในการพัฒนากำลังคนขั้นสูง ซึ่งหลักสูตรแรกที่กำลังจัดทำอยู่ในขณะนี้ คือ Cyber Security หรือ ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เพราะกำลังคนสมรรถนะสูงในด้านนี้ภายในประเทศถือว่ายังขาดแคลนอยู่มาก ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขัน และการส่งเสริมการลงทุน
อีกทั้งการเฝ้าระวังและการป้องกันภัยทางไซเบอร์ ถือเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องตระหนักและให้ความสำคัญ เพราะสามารถส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมาก
- ตั้งเป้าภายใน 2 ปีผลิตกำลังคน 1,000 คน
รองปลัด อว. กล่าวต่อว่า หลักสูตร Cyber Security วางแผนไว้ว่า มหาวิทยาลัยต่างๆจะช่วยกันพัฒนาและนำมาใช้ร่วมกันเป็นหลักสูตรกลาง โดยจะเปิดรับนักศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสามารถย้ายข้ามมาจากหลักสูตรอื่นเพื่อเข้าเรียนหลักสูตรนี้ได้ในช่วงชั้นปี 3 หรือ ปี 4
โดยมีรูปแบบการเรียนที่ฝึกปฏิบัติงานไปพร้อมกัน มีผู้สอนที่มาจากอาจารย์ในมหาวิทยาลัยและผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐและเอกชน เมื่อเรียนจบอาจจะได้รับปริญญาอีกใบนอกเหนือจากปริญญาในสาขาที่ตนศึกษาปกติ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิธีการดำเนินการของแต่ละมหาวิทยาลัย โดยคาดว่าภายใน 2 ปี จะสามารถผลิตกำลังคนด้าน Cyber Security ผ่านหลักสูตรแซนด์บอกซ์นี้ได้ไม่น้อยกว่า 1,000 คน
“นอกจากนี้ อว.กำลังหารือการจัดทำหลักสูตรแซนด์บอกซ์เพื่อพัฒนากำลังคนขั้นสูงในด้านอื่นๆ ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ตามนโยบาย ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. อาทิ การพัฒนากำลังคนด้านนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) และนักบูรณาการระบบในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ (System Integrator) เพื่อผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมเป็นอุตสาหกรรม 4.0 มากขึ้น เป็นต้น” ศ.ดร.ศุภชัย กล่าว