สัญญาณโควิด OPD ประชาชนเตรียมรับมือ
สธ. ปรับฉากทัศน์ในส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่อีก 3 ฉากทัศน์ เป็นการคาดการณ์สถานการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นตั้งแต่ดีที่สุดไปจนถึงแย่ที่สุด ซึ่งจะมีผู้ติดเชื้อตั้งแต่ 2 หมื่นจนถึงแสนคน และมีผู้ป่วยหนักพันและผู้เสียชีวิตครึ่งร้อย
ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด19รายใหม่พุ่งต่อเนื่องแตะหลักหมื่นเรื่อยมาจนถึง 2 หมื่นและมีแนวโน้มจะพุ่งต่อเนื่องอีก ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปรับฉากทัศน์ในส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่อีก 3 ฉากทัศน์ เป็นการคาดการณ์สถานการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นตั้งแต่ดีที่สุดไปจนถึงแย่ที่สุด ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของการปฏิบัติตามมาตรการ ซึ่งจะมีผู้ติดเชื้อตั้งแต่ 2 หมื่นจนถึงแสนคน และมีผู้ป่วยหนักพันและผู้เสียชีวิตครึ่งร้อย โดยจะมีผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นต่อเนื่องอีก 2-6 สัปดาห์ จากนั้นกลางเดือนมี.ค.จะเริ่มทรงตัวและทยอยลดลง
โดยกรณีที่ดีที่สุด จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการป้องกันโรค และช่วงมี.ค.-เม.ย.2565 ปฏิบัติได้ตามการเตือนภัย
โควิด19 ระดับ 4 คืองดการรวมกลุ่ม ทำงานที่บ้าน ชะลอเดินทาง และเร่งการฉีดวัคซีนมากขึ้นทุกเข็ม และปฏิบัติตาม VUCA อย่างเคร่งครัด ยอดผู้ติดเชื้อจะอยู่ที่วันละ กว่า 20,000 ราย จะเริ่มทรงตัวราว 16 มี.ค.2565
ส่วนระดับกลาง ต้องมีการคงมาตรการต่างๆ และประชาชนร่วมมือในระดับปัจจุบัน และคาดการณ์พบการแพร่ระบาดต่อเนื่องไปทุกจังหวัดจนถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ ติดเชื้อรายใหม่สูงสุดอยู่ที่ราว 50,000 ราย ช่วงกลางเม.ย.2565 ส่วนระดับแย่ที่สุด หากผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรค ลดแยกกัก-กักตัว ฉีดวัคซีนทุกเข็มต่ำกว่า 2 แสนโดสต่อวัน ประชาชนส่วนใหญ่ย่อหย่อนต่อมาตรการป้องกันตนเองแบบครอบจักรวาล (UP) ผู้ติดเชื้อสูงสุดราว 1 แสนราย ช่วงกลางเดือนเม.ย.2565
แม้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะสูงขึ้นทว่าผู้ป่วยปอดอักเสบ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับที่ 1,000 กว่าราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ คาดอยู่ที่ 400-500 ราย สำหรับผู้เสียชีวิตจะอยู่ที่ 50 คนต่อวัน อัตราครองเตียงป่วยรุนแรง 20 % ระบบสาธารณสุขยังสามารถดูแลได้ เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวอาการน้อยจะให้ดูแลอยู่ที่บ้านเพราะเชื้อรุนแรงลดลงเพื่อเข้าสู่การจัดการให้เป็นโรคประจำถิ่นต่อไป รวมทั้ง
ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.เป็นต้นไปมีแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด 19 เป็นผู้ป่วยนอกหรือ OPD ตามความสมัครใจ โดยจะมีแพทย์ติดตามอาการหลังตรวจคัดกรองภายใน 48 ชั่วโมง
มาตรการดังกล่าวนี้เป็นมาตรการเสริมจากการดูแลที่บ้านหรือในชุมชน (HI/CI) โดยผู้ป่วยนอก ไม่มีอุปกรณ์ตรวจประเมิน เช่น ปรอทวัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วและไม่มีอาหาร การรักษาแบบ OPD โควิดนี้ให้ผู้ป่วยอยู่ที่บ้านกักตัว 7 วันเป็นอย่างน้อย ระหว่าง 7 วันนี้ต้องติดต่อกับทางการแพทย์เพื่อติดตามอาการ ซึ่งส่วนใหญ่ โรคจะค่อยๆ หายเอง แต่หากมีอาการเปลี่ยนแปลง ประชาชนสามารถติดต่อแพทย์ได้ทุกเวลา
ทั้งนี้แนวทางการรักษาผู้ป่วยไม่มีอาการจะไม่มีการให้ยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ กรณีผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาให้เข้ารับการนอนในรพ. ผู้ป่วยที่อาการรุนแรงส่วนใหญ่จะอยู่ในรพ.อยู่แล้ว ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาการรักษาที่เหมาะสม การดำเนินการทั้งหมดนี้เพื่อเข้าสู่การจัดการให้ “โควิด19” เป็นโรคประจำถิ่นต่อไป เพื่อบริหารจัดการเตียงไว้ให้ผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง ซึ่งที่ผ่านมารัฐจ่ายค่าบริการและรักษาผู้ป่วยโควิด19ไปแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่ง 88 % เป็นผู้ป่วยสีเขียว